ไลฟ์สไตล์

คนหาย(ไม่ห่วง)แอพThaiMissingช่วยพากลับบ้าน

คนหาย(ไม่ห่วง)แอพThaiMissingช่วยพากลับบ้าน

15 ก.พ. 2562

โดย...  ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] 

 

  
          ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยี ใครๆ ก็สามารถเป็นฮีโร่ พาคนหาย ผู้พลัดหลงกลับสู่บ้าน สู่ครอบครัวได้ เมื่อมูลนิธิกระจกเงา ร่วมกับกลุ่มทรู พัฒนาแอพพลิเคชั่น ThaiMissing นำเทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูลลง QR Code บนสายรัดข้อมือ เพียงสแกนผ่านโทรทัศน์มือถือ แจ้งเบาะแส ก็สามารถพาคนหายกลับสู่บ้านได้ทันที โดยครอบครัวที่ต้องการสายรัดข้อมือนี้ สามารถลงทะเบียนใช้ได้ทันทีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

 

 

คนหาย(ไม่ห่วง)แอพThaiMissingช่วยพากลับบ้าน

“60% คนหาย เป็นผู้ป่วยความจำเสื่อม โรคทางจิตเวช และกลุ่มพัฒนาการทางสมอง”

“เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข”

 

 

          906 รายยอดคนหายปี 61
          เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า สถิติรับแจ้งคนหาย ปี 2561 มีทั้งสิ้น 906 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีอาการหลงลืม โรคทางจิตเวช และกลุ่มพัฒนาการทางสมอง 531 ราย เด็กสมัครใจหนีออกจากบ้าน 242 ราย ขาดการติดต่อ 50 ราย แย่งความปกครองบุตร 10 ราย ลักพาตัว 6 ราย พลัดหลง 1 ราย อุบัติเหตุ 1 ราย และอื่นๆ 65 ราย โดยในจำนวนคนหายพบว่า เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 309 ราย


          ทั้งนี้ 60% ของสาเหตุการหายตัวออกจากบ้าน คืออาการหลงลืม เป็นโรคสมองเสื่อม ออกจากบ้านแล้วพลัดหลงกลับบ้านไม่ถูก และแนวโน้มสถิติของคนหายในกลุ่มนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยปี 2559 มีกลุ่มผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีอาการหลงลืม โรคทางจิตเวช และกลุ่มพัฒนาการทางสมอง หาย 359 ราย ปี 2560 มีหาย 530 ราย ซึ่งกลุ่มอายุที่มีอาการหลงลืม คนหายพลัดหลงที่เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคสมองเสื่อมมีอาการหลงลืม โรคทางจิตเวช จะเป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มพัฒนาการทางสมองช้าจะเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

 

 

คนหาย(ไม่ห่วง)แอพThaiMissingช่วยพากลับบ้าน

 

          ปัญหาที่ผ่านมาพบว่า หลังจากผู้ป่วยพลัดหลงหายออกจากบ้าน จะพยายามหาทางกลับบ้านหรือไปในสถานที่ที่ตัวเองจดจำได้ในอดีต ทำให้คนหายจะอยู่ในที่สาธารณะหรือใช้การโดยสารรถสาธารณะ คนหายบางรายมีบุคลิกภาพชัดเจนแสดงอาการป่วยหรือเป็นผู้สูงอายุ ก็มักจะมีพลเมืองดีเข้าไปสอบถามให้การช่วยเหลือนำส่งสถานีตำรวจ นอกจากนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะไม่มีเอกสารติดตัว ให้ข้อมูลส่วนตัวไม่ได้ จึงไม่รู้ว่าคนหายเป็นใคร และผู้ป่วยบางรายที่พลัดหลงไม่แสดงอาการชัดเจน หรือในกลุ่มจิตเวชซึ่งมีพฤติกรรมที่แสดงออกเช่น ตาขวาง พูดคนเดียว ซึ่งผู้พบเห็นอาจจะไม่กล้าเข้าไปให้การช่วยเหลือ 

 

 


          การดำเนินการพัฒนาแอพและสายรัดข้อมูลครั้งนี้ เบื้องต้นมีการผลิตจำนวน 1,000 เส้น ทดลองใน 80 ครอบครัวแล้ว และระบบพร้อมให้ประชาชนดาวน์โหลดลงทะเบียนได้ทันที โดยทุกกระบวนการจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

 


          แจ้งเบาะแสแอพThaiMissing
          ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารงาน ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย ทรู คอร์ปอเรชั่น มีความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์สังคมไทย โดยนำศักยภาพเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาร่วมสนับสนุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสังคม ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาความยากจน ปัญหามลพิษ สุขภาวะ รวมถึงปัญหาคนหาย

 

 

 

คนหาย(ไม่ห่วง)แอพThaiMissingช่วยพากลับบ้าน

 


          แอพพลิเคชั่น Thai Missing ที่ทางกลุ่มทรูได้ร่วมกับ มูลนิธิกระจกเงานั้น พัฒนามาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลคนหายที่มีการอัพเดทตลอดเวลา และยังเปิดให้คนในสังคมยุคใหม่ มีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลและช่วยเหลือสังคม โดยแจ้งเบาะแสและส่งต่อข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือได้ทันที แต่แนวโน้มคนหายมีเพิ่มมากขึ้น และติดตามยากขึ้น จึงได้ขยายเพิ่มช่องทางและเครื่องมือในการติดตามคนหาย โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Energetic และ Start Up ของทรู คือบริษัท ME ID ร่วมกันพัฒนาและนำศักยภาพของเทคโนโลยี RFID และ QR Code มาช่วยในการติดตามบุคคลที่มีโอกาสพลัดหลง


          ทั้งนี้ การช่วยเหลือผู้ป่วยหลงลืมพลัดหลงหายพากลับบ้าน สามารถทำได้ดังนี้ 1.สังเกตสายรัดข้อมือสีส้ม มีสัญลักษณ์รูปหัวใจ 2.มีคิวอาร์โค้ดและ PIN อยู่ที่สายรัด 3.หากพบเห็นบุคคลที่มีลักษณะเดินหลงลืมอยู่ ควรให้การช่วยเหลือทันที 4.ดาวน์โหลดแอพ ThaiMissing 5.สแกนคิวอาร์โค้ดสายรัดข้อมูลที่ผู้ป่วยสวมใส่ 6.ส่งแจ้งข้อมูลและโลเกชั่น 7.เจ้าหน้าที่มูลนิธิจะประสานงานกับญาติผู้ป่วย และ 8.รอญาติผู้ป่วย นำส่งสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด

 

 

 

คนหาย(ไม่ห่วง)แอพThaiMissingช่วยพากลับบ้าน

 


          ตำรวจ-พม.ส่งคนหายกลับบ้าน
          พล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร และกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคณะกรรมการบริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม มีการรับแจ้งเหตุทั้งจากทางแอพพลิเคชั่น Line และการประสานข้อมูลจากมูลนิธิกระจกเงาอย่างต่อเนื่อง โดยจากการทำงานมักประสบปัญหาความขาดแคลน ทั้งทางด้านบุคลากร เครื่องมือและงบประมาณเนื่องจากบุคคลพลัดหลงส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคทางสมองหรือโรคทางจิตเวช ซึ่งจะมีอาการหลงลืมจำญาติและที่อยู่ของตนเองไม่ได้ ทำให้การติดตามตัวเพื่อส่งคืนครอบครัวมีความยากลำบาก


          ดังนั้นหากมีการร่วมมือระหว่างภาคประชาชนด้วยก็จะสามารถช่วยเหลือให้ผู้พลัดหลงกลับคืนสู่ครอบครัวได้โดยเร็ว สำหรับโครงการ หาย(ไม่)ห่วงนี้ จะมีการแจ้งโครงการให้ทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงข้อมูล เพื่อให้บุคคลกลุ่มเสี่ยงเข้าร่วมโครงการนี้ประโยชน์ในการติดตามตัวกรณีเกิดเหตุต่อไป

 

 

คนหาย(ไม่ห่วง)แอพThaiMissingช่วยพากลับบ้าน

 


          นางเกษรา ชัยเหลืองอุไร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมสวัสดิการสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิกระจกเงาจะทำการส่งข้อมูลที่ประกอบด้วยรูปภาพคนหาย ข้อมูลคนหาย มายังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อประสานไปยังสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการในหน่วยงาน จำนวน 4,558 ราย ในกรณีที่พบคนหายในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ทางมูลนิธิกระจกเงาจะทำการประสานงานกับทางครอบครัวคนหายเพื่อให้ครอบครัวคนหายทำการติดต่อไปยังสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้นๆ โดยตรง


          สำหรับ โครงการ หาย (ไม่) ห่วง ได้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กลุ่มเป้าหมาย สามารถกลับคืนสู่ครอบครัวได้เร็วขึ้น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรของกรมรับทราบแล้ว หากมีบุคคลที่สวมสายรัดข้อมือดังกล่าวเข้ามาใช้บริการในหน่วยงาน เจ้าหน้าที่จะสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่มูลนิธิกระจกเงา ประสานข้อมูลเพื่อติดตามญาติในทันที

 

 

คนหาย(ไม่ห่วง)แอพThaiMissingช่วยพากลับบ้าน