ไลฟ์สไตล์

"ดอยคำโมเดล" สายพานความสุขจากท้องนาสู่ผู้บริโภค

"ดอยคำโมเดล" สายพานความสุขจากท้องนาสู่ผู้บริโภค

19 ก.พ. 2562

เต่างอยเป็นแหล่งปลูกมะเขือเทศหลักของดอยคำ เกษตรกร 250 รายปลูกมะเขือเทศรวมเนื้อที่กว่า 5,000 ไร่

     สภาพความแห้งแล้งของ “เต่างอย” อำเภอเล็กๆ ในจังหวัดสกลนคร นำพาให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างยากลำบากจนต้องอพยบย้ายถิ่นหรือออกไปหางานห่างไกล จนเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2523 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังหมู่บ้านนางอย - โพนปลาโหล กิ่งอำเภอเต่างอยในขณะนั้น มีพระราชดำริที่จะปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น  ส่งเสริมให้มีรายได้ และหลังจากพัฒนาแล้ว ต้องสามารถรักษาความเป็นอยู่และพัฒนาต่อไปได้ด้วยตัวเอง

\"ดอยคำโมเดล\" สายพานความสุขจากท้องนาสู่ผู้บริโภค

แปลงมะเขือเทศในท้องนาของชาวบ้านเต่างอย

       และด้วยภูมิประเทศของเต่างอยที่เอื้ออำนวย ต่อมาปี 2525 จึงทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกมะเขือเทศหลังฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี เมื่อมีผลผลิตจำนวนมากจึงมีพระราชดำริให้สร้างโรงงานแปรรูปในชื่อ “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3” ภายใต้มูลนิธิโครงการหลวง จนถึงปี 2537 ถือเป็นจุดเปลี่ยน เพราะธุรกิจเติบโตขึ้นมากจึงเปลี่ยนจากโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 มาเป็น บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน  จนเมื่อปี 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ปรับปรุงเทคโนโลยีการแปรรูปมะเขือเทศเพื่อให้สามารถรับผลผลิตได้มากขึ้น 

\"ดอยคำโมเดล\" สายพานความสุขจากท้องนาสู่ผู้บริโภค

มะเขือเทศพันธุ์เพอร์เฟ็ก โกลด์ 111

\"ดอยคำโมเดล\" สายพานความสุขจากท้องนาสู่ผู้บริโภค

    มะเขือเทศที่ชาวบ้านปลูกจะให้ผลผลิตมากช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม เฉลี่ยประมาณ 300 ตันต่อวัน ส่วนเดือนที่เหลือจะรับแปรรูปผักและผลไม้อบแห้งตามฤดูกาล เช่น มะม่วง ฝรั่ง กระท้อน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากข้าว รวมถึงผลไม้แช่แข็งเพื่อนำไปแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ ภายใต้แบรนด์ดอยคำ ซึ่งการดำเนินงานของดอยคำนอกจากภารกิจแปรรูปผลผลิตแล้ว ยังได้ตั้ง “ดอยคำโมเดล” สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศ เพราะการปลูกแบบดั้งเดิมไม่ได้ทำไม้ค้างจะให้ผลผลิตเพียง 3-5 ตันต่อไร่ ขณะที่การทำไม้ค้างพบว่าสามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 5-8 ตันต่อไร่ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ได้ผลผลิตสูงถึง 15 ตันต่อไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น  

    \"ดอยคำโมเดล\" สายพานความสุขจากท้องนาสู่ผู้บริโภค

  \"ดอยคำโมเดล\" สายพานความสุขจากท้องนาสู่ผู้บริโภค

มะเขือเทศที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์และปลูกแบบมีไม้ค้าง

     ทุกปีดอยคำจะมีแผนรับซื้อผลผลิตมะเขือเทศ มีการสำรวจว่าเกษตรกรรายใดสนใจปลูกหรือไม่ โดยเริ่มรับสมัครเข้าสู่ระบบและอบรมให้ความรู้ ตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว ระบบมาตรฐานวัตถุดิบ รวมถึงข้อตกลงการซื้อขาย จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเพาะปลูกและติดตามแปลงเกษตรทั้งเรื่องการใส่ปุ๋ย โรคพืช และประกันราคา ซึ่งราคาจะปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการตลาด ปัจจุบันอำเภอเต่างอยเป็นแหล่งปลูกมะเขือเทศหลักของดอยคำ เกษตรกร 250 รายปลูกมะเขือเทศรวมเนื้อที่กว่า 5,000 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 3,000-4,000 ตันต่อฤดูกาล  

\"ดอยคำโมเดล\" สายพานความสุขจากท้องนาสู่ผู้บริโภค

 ไพวัน โคตรทุม กับไร่มะเขือเทศแห่งความสุข

      ตัวอย่างเกษตรกรเต่างอย ไพวัน โคตรทุม เจ้าของแปลงต้นแบบมะเขือเทศ (สะออน) โครงการเกษตรแปลงใหญ่ เล่าว่า หลังฤดูทำนาช่วงเดือนตุลาคมถึงมกราคมจะปลูกมะเขือเทศและเก็บเกี่ยวได้ในเดือนมีนาคม โดยแบ่งที่นา 1 ไร่จาก 16 ไร่ปลูกมะเขือเทศพันธุ์เพอร์เฟ็ก โกลด์ 111 ซึ่งทนทานต่อสภาพอากาศ ผลสีแดงสด รสชาติหวาน ได้ผลผลิตราว 8 ตันต่อไร่ ส่งโรงงานแปรรูปของดอยคำซึ่งรับซื้อในราคากลางกิโลกรัมละ 2.50 บาท ทำให้มีรายได้เสริมจากการทำนาหลักแสนบาทต่อปี ความเป็นอยู่ดีขึ้นครอบครัวอบอุ่น เพราะไม่ต้องทิ้งบ้านไปทำงานต่างถิ่น  

\"ดอยคำโมเดล\" สายพานความสุขจากท้องนาสู่ผู้บริโภค

มะเขือเทศลูกแล้วลูกเล่าลำเลียงสู่โรงงานแปรรูป

   น่าสนใจว่าองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาผลผลิตมะเขือเทศนอกจากจะถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรแล้ว ยังมีการส่งต่อไปถึงลูกหลานชาวบ้านโดยจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรโรงงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 เต่างอยพัฒนศึกษา อันเป็นแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในอำเภอเต่างอยเมื่อปี 2556 แล้วทรงให้จัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรฯ และรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ด้วย 

\"ดอยคำโมเดล\" สายพานความสุขจากท้องนาสู่ผู้บริโภค

“อ๊อด” และ “ต่าย” ยุวเกษตรกรฯ

    “ต่าย” อารยา วิดีสา อายุ 20 ปี ตัวแทนกลุ่มยุวเกษตรกรฯ เล่าว่า ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มเพราะอยากเรียนรู้เกษตรกรรมประกอบกับที่บ้านทำนาและปลูกมะเขือเทศด้วย มีโอกาสได้ช่วยพ่อแม่บ้างแต่ไม่มีองค์ความรู้ ที่กลุ่มยุวเกษตรกรฯ จะมีการสอนปลูกพืช การดูแลรักษา การพัฒนาผลผลิต แล้วนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่สู่ชุมชนและเยาวชนตามโรงเรียนต่างๆ โดยมีเป้าหมายต้องการส่งเสริมให้เด็กๆ ทำการเกษตรมากขึ้น ถือเป็นการพัฒนาตัวเอง ฝึกความกล้า และมีจิตอาสา 

\"ดอยคำโมเดล\" สายพานความสุขจากท้องนาสู่ผู้บริโภค

ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศดอยคำ

   "ได้ไปเผยแพร่เรื่องการต่อยอดมะเขือเทศป้องกันการเกิดโรคเหี่ยวเขียวซึ่งรักษาไม่ได้ โดยเราจะนำยอดมะเขือเทศพันธุ์ดีไปเสียบที่ต้นตอมะเขือเปราะหรือมะเขือม่วงเพื่อให้ทนทานต่อโรค พบว่าสามารถแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้ รู้สึกภูมิใจเวลาเห็นคนกินมะเขือเทศที่พวกเราปลูกในรูปแบบผลิตภัณฑ์ของดอยคำค่ะ” อารยา กล่าวทิ้งท้าย 

     จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากทั้งหมดจะเป็นที่มาของคำกล่าวพร้อมติดแฮสแท็คที่ว่า #ดอยคำอยู่ดีมีแฮงละเบ๋อ...