ไลฟ์สไตล์

 กระเพาะพักทะลุในลูกนก

กระเพาะพักทะลุในลูกนก

09 มี.ค. 2562

คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย - นสพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญ หรือหมอเล็ก  [email protected]

 

          สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้ง ในสัปดาห์นี้หมอจะมาเล่าปัญหาที่เรามักพบเจอกันได้บ่อยๆ ในผู้เลี้ยง “นก” ลูกป้อน ส่วนปัญหาที่มักพบบ่อยๆ คือปัญหา “กระเพาะพักทะลุ หรือกระเพาะพักไหม้ (Crop Burn)” กันนะครับ

 

       โดยส่วนใหญ่สาเหตุของปัญหาดังกล่าวมักเกิดจากการป้อนอาหารที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป ด้วยวิธีการใช้สายยางหรือท่อป้อนอาหาร โดยไม่ทำการวัดอุณหภูมิของอาหารเหลวที่ป้อนเข้าไป เนื่องจากปกติหากผู้เลี้ยงใช้ไซริงค์ หรือช้อนป้อนอาหารให้แก่ลูกนก เมื่ออาหารร้อนเกินไปนกจะปฏิเสธการกินอาหารเหลวดังกล่าวทันที 

       แต่จากการที่เราใช้สายยาง หรือท่อป้อนอาหารสอดลงไปให้ถึงกระเพาะพักโดยตรงทำให้ตัวลูกนกเองไม่สามารถปฏิเสธการกินอาหารที่เราป้อนเข้าไปได้เลย ด้วยเหตุนี้แล้วจึงทำให้เกิดการสะสมความร้อนเป็นเหตุให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบกระเพาะพักถูกทำลายถึงขั้นเกิดการไหม้ของเนื้อเยื่อโดยรอบจนเกิดเป็นแผลเนื้อตายบริเวณกระเพาะพักทะลุออกมายังผิวด้านนอก 

          ซึ่งผู้เลี้ยงสามารถเริ่มสังเกตอาการผิดปกติได้หลังจากป้อนอาหารไปประมาณ 2 วัน จนถึง 2 สัปดาห์ โดยสิ่งที่มักสังเกตเห็นนั้นก็คือผิวหนังบริเวณกระเพาะพักของนกจะมีอาการพอง บวมน้ำ ผิวหนังเป็นรอยจ้ำแดงๆ เริ่มเปลี่ยนสีไปจากเดิม โดยจะเริ่มจากจุดเล็กๆ สีแดงเป็นปื้นแดงจนมีสีคล้ำขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การสังเกตจะยากขึ้นเมื่อลูกนกเริ่มมีขนปกคลุมผิวหนังแล้ว หากท่านผู้อ่านนึกไม่ออกให้ท่านลองจิตนาการถึงตอนเราโดนน้ำร้อนลวกนะครับ อาการปวดแสบปวดร้อนมีแผลพุพองเป็นอาการอย่างเดียวกันกับอาการกระเพาะพักทะลุในนกเลยครับ 

           ที่นี้เมื่อนกเกิดปัญหากระเพาะพักทะลุแล้ว เมื่อเราป้อนอาหารจะส่งผลให้อาหารที่ป้อนเข้าไปจะไหลออกมาตามรู ปัญหาที่จะเกิดตามมาคือลูกนกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการสารอาหารในแต่ละวัน ความไม่สมบูรณ์ร่างกายทำให้ลูกนกขาดพลังงาน สารอาหาร และอ่อนแอลง อาจพบการติดเชื้อจนถึงแก่ชีวิตได้ สิ่งที่ผู้เลี้ยงควรทำเมื่อรับรู้ได้ถึงปัญหาที่เกิดกับลูกนกของท่านแล้วนั้น คือการรีบพานกมาพบสัตวแพทย์เพื่อทำการแก้ไข

          โดยปกติแล้วการรักษานกที่เกิดปัญหากระเพาะพักทะลุ สัตวแพทย์จะวางยาเพื่อการศัลยกรรมตัดแต่งกระเพาะพักในส่วนที่ได้รับความเสียหาย เอาเนื้อตายออก ทำความสะอาด และเย็บปิดร่วมกับการให้ยา ดังนั้นหากไม่ต้องการให้ลูกนกที่ท่านเพิ่งรับเข้ามาเลี้ยงใหม่นั้นมาประสบพบเจอชะตากรรมของปัญหากระเพาะพักทะลุ หรือกระเพาะพักไหม้ ท่านจึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีการป้อน

  

 

        โดยตระหนักไว้เสมอเมื่อจะป้อนอาหารเหลว ให้ใช้ปรอทวัดอุณหภูมิของอาหารเหลวที่จะใช้ป้อนให้ลูกนกให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมก่อนป้อนทุกครั้งเป็นประจำ ซึ่งอุณหภูมิของอาหารเหลวที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 39-41 องศาเซลเซียสซึ่งควรจะวัดหลายๆ จุด ร่วมกับการสังเกตและการตรวจสุขภาพนกเป็นประจำทุกครั้งที่หยิบนกลูกป้อนขึ้นมาป้อนอาหารนะครับ