เริงใจในดินแดนดอกลำดวน (ตอนจบ)
ออกไปทำความรู้่จักศรีสะเกษในหลากหลายแง่มุมที่คุณอาจยังไม่เคยสัมผัส
หลังจากสร้างความคุ้นเคยกับศรีสะเกษในแง่มุมวัฒนธรรมและประเพณีกันพอหอมปากหอมคอแล้ว คราวนี้จะพาไปท่องโลกธรรมชาติและวิถีชีวิตของจังหวัดที่ได้ชื่อว่ามีความสมบูรณ์ด้านป่าเขาลำเนาไพรไม่น้อยหน้าใครเลย...เริ่มเช้าวันใหม่ตั้งแต่ไก่ยังไม่ทันโห่ ชาวคณะรีบสะดุ้งตื่นเพื่อไปให้ทันจุดพระอาทิตย์ขึ้นสวยที่สุดอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย นั่นคือบริเวณ “ผามออีแดง” อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ ใช้เวลาเดินทางจากอำเภอเมืองราวชั่วโมงเศษก็ถึงจุดหมายตอนใกล้หกโมงเช้านิดๆ ชนิดที่เกือบไม่ทันซะแล้ว
ผามออีแดง มองลงไปทางซ้ายคือฝั่งกัมพูชา
ลานฮับตะวันสุดโรแมนติก
ผามออีแดงจุดที่ยืนอยู่นี้มองลงไปเบื้องล่างคือประเทศกัมพูชา จากนั้นทอดสายตาข้ามแนวสันเขาไปอีกนิดก็คือ สปป.ลาว เรียกว่าเป็นจุดชมวิวสามประเทศก็ว่าได้ ที่สำคัญด้วยความสูงระดับนี้ทำให้สภาพอากาศค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี เหมาะมากหากจะมากันเป็นคู่แล้วจับมือกันนั่งชมพระอาทิตย์กลมโตสีแดงมองได้ด้วยตาเปล่าค่อยๆ โผล่ขึ้นมาทักทายยามเช้า สอดรับกับเรื่องเล่าโศกนาฏกรรมโรแมนติกที่ว่ามีคู่รักมาพลาดตกหน้าผาเสียชีวิตบริเวณนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ “ลานฮัก ลานกอด ผามออีแดง”
แลนด์มาร์คที่ใครๆ ต้องไปถ่ายรูป
ภาพสลักนูนต่ำ
ทางลงไปชมภาพสลักนูนต่ำ
อีกหนึ่งความน่าสนใจของที่นี่เห็นจะอยู่ที่ “ภาพสลักนูนต่ำ” ที่สันนิษฐานว่ามีอายุกว่า 1,000 ปี คือย้อนไปในยุคเขมรสร้างปราสาทโน่นแหละ ผาหันไปทางทิศตะวันออกหรือทางฝั่งเขมร ภาพสลักหินนูนต่ำรูปเทพ 3 รูป ตรงกลางเป็นชาย ขนาบด้วยหญิง ทัดหูด้วยรูปดอกไม้จันทน์สัญลักษณ์แห่งสรวงสวรรค์ สันนิษฐานว่าเป็นรูปสลักตัวแทนกษัตริย์ขอมอยู่ในอิริยาบถกำลังบวงสรวงก่อนการสร้างปราสาท เพราะมีลายเส้นรูปหัวหมูของบวงสรวงอยู่บนภาพด้วย เชื่อว่าแถวนี้เป็นจุดสำรวจแหล่งหินเพื่อนำไปไปสร้างปราสาท โดยพบมีการสกัดหินคล้ายๆ ทดสอบคุณภาพหินอยู่ทั่วไป
ส่องปราสาทเขาพระวิหารอยู่ไกลๆ
สถูปคู่
นอกจากนี้ผามออีแดงยังเป็นจุดตั้งกล้องส่องทางไกลเพื่อชมปราสาทเขาพระวิหารได้อย่างชัดเจน จะเห็นการปักธงกัมพูชาบริเวณแนวรั้วแบ่งเขตแดนชัดเจน เห็นแล้วก็นึกเสียดายถ้าไม่มีเรื่องกันก่อนเราคงได้ขึ้นไปเที่ยวชมความยิ่งใหญ่ของปราสาทแบบจุใจ แต่เร็วๆ นี้อาจจะมีข่าวดีเห็นว่าท่านผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ พยายามหาทางออกเพื่อให้มีการเปิดพรมแดนเพื่อการท่องเที่ยวจะได้กลับมาคึกคักเหมือนเดิม เอาเป็นว่าตอนนี้ชมพระอาทิตย์ขึ้น ยลภาพสลักโบราณ รวมถึง “ปราสาทโดนตวน” หลังเล็กๆ ที่สำรวจพบและสถูปหิน 2 หลัง สัญลักษณ์แห่งความรักและอุดมสมบูรณ์ที่อยู่ใกล้ๆ กันไปก่อน ที่แน่ๆ ราวเดือนมิถุนายน-กันยายน มีทะเลหมอกสวยๆ ให้ได้ลั่นชัตเตอร์กันรัวๆ
ปราสาทโดนตวน
ร้านกาแฟสยาม
แชมป์บาริสต้าระดับประเทศอยู่ที่ยางชุมน้อยครับ
ตักตวงความสุขกับธรรมชาติกันให้เต็มอิ่ม สายๆ ลงจากอุทยาน แะนำให้ไปหาความสำราญคลายร้อนชิคๆ ที่ “ร้านกาแฟสยาม” พิกัด อ.ยางชุมน้อย ใครเป็นคอกาแฟบอกเลยไม่ผิดหวังเพราะร้านนี้ตัวเจ้าของฝีมือเด็ดดวงระดับแถวหน้าเรื่องกาแฟ ดีกรีเป็นถึงแชมป์บาริสต้าประเทศไทยทีเดียวเชียว
ชิมอเมริกาโน่น้ำอ้อยเย็นสดชื่น
มาถึงแล้วต้องไม่พลาดลิ้มลองเครื่องดื่มชูโรงอย่าง “อเมริกาโน่น้ำอ้อย” ทั้งร้อนและเย็น แต่ถ้าไม่ชอบกินกาแฟก็มีจำพวกโกโก้ ชา รวมถึงน้ำผลไม้ให้เลือกสดชื่นหลากหลาย จุดขายที่สร้างความประทับใจให้ลูกค้าก็คือการสรรหาเมล็ดกาแฟชั้นยอดทั้งไทยและเทศมาใช้ แล้วก็ไม่ลืมวัตถุดิบท้องถิ่นอย่างน้ำอ้อยสดจากไร่คุณพ่อของเขาเอง ลองผิดลองถูกจนลงตัวทุกวันนี้ ถือว่าเป็นการร่วมสร้างอัตลักษณ์และสิ่งดีๆ ให้บ้านเกิดอีกแรง
สะพานไม้บุ่งกระแซง
สูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอดที่บุ่งกระแซง
พูดถึงการสร้างสรรค์ของใหม่ๆ ให้บ้านเเกิด ศรีสะเกษก็มีสะพานไม้ไผ่ที่กำลังเป็นเทรนด์ฮิตนะจ๊ะ ที่ อ.โนนคูณ ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างสะพานไม้ไผ่ทอดไปในบึงขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “บึงบุ่งกระแซง” สำหรับให้ผู้พิสมัยธรรมชาติและสายน้ำได้เดินทอดอารมณ์ เริ่มจากถนนใหญ่ทางเข้ามาถึงบุ่งกระแซงความยาว 309 เมตร ในอนาคตจะมีบัวแดงเต็มบึงให้ได้ถ่ายรูปสวยๆ แล้วจะทำเป็นอุโมงต้นไม้หน้าทางเข้าด้วย รอบๆ บึงจะปรับพื้นที่ให้สามารถวิ่งออกกำลังกายหรือปั่นจักยานได้ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของชุมชนนอกเหนือจากเทศกาลสงกรานต์ บุญผะเหวด เวลานักท่องเที่ยวมาก็จะมีของฝากติดไม้ติดมืออย่างไข่เค็ม เครื่องจักสาน กล้วยเบรกแตก น้ำพริกปลาป่น ผ้าไหม ผ้าพันคอ โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ อากาศดี๊ดี
พระอุโบสถกลางน้ำวัดพระธาตุสุพรรณหงส์
พระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า
ต่อไปต้องมีคนมาคล้องกุญแจเยอะแยะแน่นอน
เช่นเดียวกับ สะพานไม้ที่วัดพระธาตุสุพรรณหงส์ อำเภอเมือง สร้างไว้เพื่อเป็นพื้นที่สันทนาการของชาวบ้านและนักท่องเที่ยว เช้าๆ อยากให้มาสูดอากาศบริสุทธิ์ท่างกลางท้องไร่ชายนาพร้อมกับชมพระอาทิตย์ขึ้นโดยมีฉากหลังเป็นหมู่บ้านชมวิถีชีวิตบ้านๆ จูงวัวควายออกไปกินหญ้า ทำบุญตักบาตร และจับจ่ายตลาดนักวัฒนธรรมพื้นเมือง โดยเฉพาะของดีศรีสะเกษอย่างหอม กระเทียม ที่คุณตาคุณยายปลูกเองขายเอง เศรษฐกิจชุมชนคึกคัก
ภัทรศาสน์ มาสกุล
ชิมให้หายอยาก "ทุกเรียนดินภูเขาไฟ"
มาถึงของดีของเด่นดังแดนดอกลำดวนที่กำลังฮอตสุดๆ เวลานี้ ไม่พูดถึง “ทุเรียนดินภูเขาไฟ” อ.กันทรลักษณ์ คงไม่ได้ ถ้ามีโอกาสอยากให้ลองแวะชมและชิมทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ อย่างไร่ “ปั่นคูณ โฮมสเตย์” ของ คุณลุงภัทรศาสน์ มาสกุล อดีตข้าราชการครูที่ผันตัวเองมาลุยสวนทุเรียนเต็มตัว ลุงเล่าว่า ได้น้อมนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 มาใช้พร้อมกับแบ่งปันให้คนอื่นเรียนรู้ด้วย ทำแบบสวนผสม หลักๆ ปลูกทุเรียน 500 ต้น มะม่วง 2,000 ต้น นอกจากนี้ยังมีเงาะอีก 200 ต้น มังคุด 150 ต้น จำลองแบบจากจันทบุรีมาเลย ใช้เวลากว่า 10 ปีก็ผลิดอกออกผล
ปั่นคูณ โฮมสเตย์
ทุกวันนี้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย คิดค่าเข้าชมเพียง 30 บาทกินได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ชะนี ก้านยาว หลงหลิน รสชาติดีมากๆ ตั้งใจให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร พร้อมกับแบ่งพื้นที่บางส่วนสร้างที่พักแบบโฮมสเตย์ 12 ห้อง ห้องละ 500 บาทพร้อมอาหารเช้าและผลไม้กินไม่อั้น ช่วงเดือนมิถุนายนทุเรียนออกเยอะอยากให้แวะมาเที่ยวกันเยอะๆ
หอชมเมืองศรีสะเกษ
เห็นหรือยังว่าแดนดอกลำดวนมีอะไรที่ยังไม่เคยรู้อีกเยอะ อย่ามัวแต่โหยหาสิ่งที่ยังมาไม่ถึง...ลองให้โอกาสตัวเองได้แวะไปสัมผัสสิ่งต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัด แล้วคุณจะรู้ว่า “ศรีสะเกษ” ไม่ได้มีดีแค่หอม กระเทียม หรือปราสาทเขาพระวิหาร...@