สมเด็จพระเทพฯ "เจ้าฟ้านักพัฒนา" เพื่อพสกนิกรในถิ่นทุรกันดาร
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ภาพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เป็นภาพที่ประชาชนคนไทยคุ้นตามานาน นับตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนเจริญพระชันษา ทำให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน ช่วยให้ทรงทราบปัญหาต่างๆ ตลอดจนทรงซึมซับและเรียนรู้หลักการทรงงาน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดี และเพื่อทรงแบ่งเบาพระราชกรณียกิจ ด้วยพระวิริยอุตสาหะในการทรงงานอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและราษฎรอย่างไม่ทรงย่อท้อ ทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทเพื่อพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โดยทรงให้ความสำคัญและรับสั่งเสมอว่า “คน” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนา
ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันยิ่งใหญ่ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งประสบปัญหาความยากจน ขาดบริการด้านสาธารณสุข และขาดโอกาสทางการศึกษา เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร นับเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ทรงเห็นความสำคัญ โดยมีพระราชประสงค์ให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้น มีร่างกายแข็งแรง ได้รับการศึกษา และสามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และการจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ จำเป็นต้องช่วยเหลือครอบครัวของเด็กและเยาวชนในชุมชนนั้นด้วย จึงมีพระราชดำริให้ส่งเสริมอาชีพแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ด้วยการดำเนินงาน “การพัฒนากลุ่มอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดาร” ภายใต้ชื่อ "โครงการส่งเสริมอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" จัดตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2538 ที่หมู่บ้านนายาว ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากทรงประจักษ์ถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ต่อมาได้ขยายการจัดตั้งกลุ่มอาชีพไปทั่วประเทศ
สมเด็จพระเทพฯ ทรงเยี่ยมกลุ่มสตรีตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านนายาว
พระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน ส่งเสริมการสร้างรายได้เสริมให้แก่ราษฎร โดยมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดารรวมกันเป็นกลุ่มอาชีพ ผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของกลุ่มขึ้นมาเพื่อนำไปจำหน่าย ซึ่งจะทำให้ครอบครัวของประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งตัวเองได้ และยังส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น รวมทั้งยังทำให้เกิดความร่วมมือ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดทักษะในการใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาในการดำเนินงาน และสามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนได้อีกด้วย พร้อมกันนี้ยังพระราชทานความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือ เงินทุนสำหรับการดำเนินงาน จัดหาเครื่องมือ และอุปกรณ์การผลิตที่จำเป็น รวมทั้งช่วยหาตลาดในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นด้วย
การทำชาสมุนไพร
ปัจจุบันมีกลุ่มอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ทั้งหมด 133 กลุ่ม ทั่วทั้ง 4 ภาคของประเทศ จำนวนสมาชิกรวมทั้งสิ้น 3,392 คน แบ่งตามความเหมาะสมของพื้นที่และภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละแห่งกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ครอบคลุม 7 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ตัดเย็บและแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้า 3.กลุ่มเครื่องจักสานและแกะสลัก 4.กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 5.กลุ่มผ้าไหมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าไหม 6.กลุ่มผลิตภัณฑ์ปักและตกแต่งผ้า และ 7.กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติและแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้า (ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติทอมือกะเหรี่ยง)
การทอผ้าของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งเหียง
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมานั้น ทางกลุ่มได้ส่งไปจำหน่ายที่ตลาดในท้องถิ่นและสำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับซื้อไปจำหน่ายที่ร้านภูฟ้าในโครงการส่งเสริมอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ พร้อมกันนี้ได้ร่วมกับหน่วยงานราชการและองค์กรส่วนท้องถิ่นที่ร่วมปฏิบัติงาน พัฒนาและเพิ่มศักยภาพของกลุ่มอาชีพในด้านต่างๆ ทั้งในด้านการบริหารจัดการกลุ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาความรู้เพื่อเพิ่มทักษะฝีมือให้แก่สมาชิก เพื่อพัฒนาให้กลุ่มมีประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
หนูพวน สาวก (ซ้าย)
ล่าสุด “สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ” จัดกิจกรรมสัญจรศึกษาดูงาน “ชุมชนเข้มแข็ง สืบสานแนวพระราชดำริ” กลุ่มอาชีพบ้านนายาว ตั้งอยู่ภายในโรงเรียน ตชด.บ้านนายาว ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพประชาชนตามพระราชดำริแห่งแรก และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งเหียง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา โดยตัวแทนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรนายาวสามัคคี หนูพวน สาวก เล่าย้อนว่า เดิมมีอาชีพทำไร่ ทำนา เมื่อว่างจากงานก็จะออกไปรับจ้างทำงานก่อสร้างนอกพื้นที่ ทิ้งลูกหลานให้อยู่บ้าน แต่เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎรเมื่อปี 2537 ทรงพบว่าราษฎรส่วนใหญ่ยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา และขาดแหล่งน้ำในการทำการเกษตร จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาและส่งเสริมอาชีพ โดยพระราชทานคำแนะนำให้แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่มีในพื้นที่ ซึ่งผลผลิตหลักๆ ของที่นี่คือถั่วเหลือง จึงมีรับสั่งว่าสามารถนำมาทำเป็นเต้าเจี้ยวและซีอิ๊วขาวได้ กระทั่งปี 2538 จึงมีการรวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรนายาวสามัคคี ผลิตเต้าเจี้ยวเป็นสินค้าหลัก มีเจ้าหน้าที่พาไปศึกษาดูงานการผลิตตามสถานที่ต่างๆ เพื่อนำกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ซึ่งนอกจากเต้าเจี้ยวและซีอิ๊วขาวแล้ว ยังมีชาสมุนไพร แชมพู-ครีมนวดผมผสมสมุนไพร และครีมขัดผิวสมุนไพร อีกด้วย
ผลิตภัณฑ์กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรนายาวสามัคคี
“ทุกวันนี้ชาวบ้านมีอาชีพและมีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรายได้เสริมประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อเดือน สามารถส่งลูกเรียนสูงๆ ได้ และที่สำคัญคือไม่ต้องออกไปหางานทำนอกพื้นที่ ได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทำให้กลุ่มแม่บ้านมีวันนี้ ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ จึงขอถวายพระพรให้ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของคนไทยไปตราบนานเท่านาน” ตัวแทนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรนายาวสามัคคี กล่าวด้วยสีหน้าเปี่ยมสุข
วารุณี ชูศรี
ขณะที่ วารุณี ชูศรี ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งเหียง เป็นหมู่บ้านใกล้เคียงกับบ้านนายาว เล่าว่า เดิมทีประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ และทำสวนยางพารา ส่วนการทอผ้าก็จะทอไว้ใช้เองในครัวเรือนหลังว่างจากการประกอบอาชีพ กระทั่งปี พ.ศ. 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้ามาส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่กลุ่มแม่บ้านในหมู่บ้านนายาว ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 โครงการส่งเสริมอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดารฯ จึงเข้ามาสนับสนุนจัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ แนะนำให้ทำกิจกรรมชาสมุนไพร โดยหาวัตถุดิบจากในพื้นที่ ต่อมาได้จัดการฝึกอบรมการทำลูกประคบสมุนไพรโดยใช้สมุนไพรในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีสมาชิกที่สนใจการทอผ้า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีรับสั่งให้ทอผ้าห่มทอมือลายสองสีสันสดใส ส่งไปขายที่ร้านภูฟ้า สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกกลุ่มประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน
ระยอง พวงไธสง
ด้าน ระยอง พวงไธสง ประธานกลุ่มสตรีตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านนายาว เล่าว่า แม่บ้านที่มีความสนใจและมีทักษะการตัดเย็บเสื้อผ้า ได้มารวมกลุ่มกันเมื่อปี 2541 มีสมาชิกเริ่มแรก 21 คน เริ่มต้นตัดเย็บชุดนักเรียนส่งขายให้แก่เหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมาในปี 2545 โครงการส่งเสริมอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดารฯ เข้ามาให้คำแนะนำในการจัดตั้ง “กลุ่มสตรีตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านนายาว” และช่วยรับซื้อชุดนักเรียนสำหรับเป็นชุดนักเรียนพระราชทาน ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโครงการตามพระราชดำริฯ ในพื้นที่ต่างๆ ปัจจุบันกลุ่มสตรีตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านนายาว มีรายได้จากการตัดเย็บชุดนักเรียนส่งให้แก่คลังของพระราชทานสำนักพระราชวัง และยังตัดเย็บแปรรูปผ้ากะเหรี่ยงปกาเกอะญอ เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งให้แก่ร้านภูฟ้า รวมทั้งกลุ่มยังสามารถหาตลาดในท้องถิ่นเองได้ด้วย
ผลิตภัณฑ์กลุ่มสตรีตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านนายาว
“ต่อมาทางกลุ่มมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงส่งคนมาสอนทำผลิตภัณฑ์จากผ้าปกาเกอะญอ มีทั้งพวงกุญแจ กระเป๋า กระเป๋าสตางค์ ฯลฯ นำไปขายตามงานโอท็อปต่างๆ และมีสินค้าอีก 4 ชนิด ได้แก่ เสื้อเชิ้ต กล่องใส่กระดาษทิชชู กระเป๋า และหมวกปีกบาน ทำส่งไปขายที่ร้านภูฟ้า นอกจากนี้เรายังร่วมกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พระมงกุฎเกล้า ทำเสื้อพยุงหลังจากผ้าทอมือด้วย และล่าสุดเห็นว่าชาวบ้านในหมู่บ้านทอผ้าขาวม้ากันมาก จึงนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยใช้หลักการเดียวกับการใช้ผ้าปกาเกอะญอ ทำให้ชาวบ้านทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นมากจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นทุกเดือนประมาณ 8,000-10,000 บาท ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ ขอถวายพระพรให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร และเป็นที่พึ่งของประชาชนคนไทยต่อไปอีกนานๆ” ประธานกลุ่มสตรีตัดเย็บเสื้อผ้า กล่าวด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ 64 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2562 ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม...ทีมข่าวสตรี นสพ.คมชัดลึก