เผย9 ครอบครัวเลี้ยงลูกผิดวิธีแพทย์ชี้ส่งผลต่อพฤติกรรมลูก
ปาริชาติ บุญเอก [email protected]
ปัจจุบันครอบครัวไทยมีจำนวนกว่า 20 ล้านครอบครัว เป็นครอบครัวขยาย 50% ครอบครัวพ่อแม่ลูก 20% เลี้ยงเดี่ยว 10% และอื่นๆ เช่น ครอบครัวข้ามรุ่นหรืออยู่ร่วมกันเป็นชุมชน การเลี้ยงดูที่แตกต่างส่งผลต่อพฤติกรรมลูกในอนาคต แพทย์เด็กแนะ 10 ขวบแรกสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ ใส่ประสบการณ์ที่ดี ให้ความอบอุ่น สร้างวินัยในบ้าน
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวในการประชุมวิชาการคุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม : วินัยกับครอบครัวไทย ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถึงสถานการณ์ครอบครัวไทยว่า ปัจจุบันครอบครัวไทยมีกว่า 20 ล้านครอบครัว แบ่งเป็น ครอบครัวขยายกว่า 50% ครอบครัวพ่อแม่ลูก 20% เลี้ยงเดี่ยว 10% และที่เหลือคือครอบครัวข้ามรุ่น เช่น มีปู่ย่า ตายาย หรืออยู่กันในลักษณะชุมชน หัวใจสำคัญในครอบครัว 3 ด้าน คือ ด้านกายภาพ ทำให้สมาชิกในครอบครัวมีที่อยู่อาศัย มีอาหารบริโภค ด้านสภาวะทางจิตใจ ให้ความรักและเข้าใจในครอบครัว และ ด้านปฏิสัมพันธ์ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน
ทั้งนี้ รูปแบบของครอบครัวที่หลากหลายในปัจจุบัน กลับส่งผลต่อพฤติกรรมของลูก แบ่งเป็น 9 รูปแบบ คือ 1.คุ้มครองปกป้องลูกมากเกินไป ส่งผลให้เด็กขาดความมั่นใจ ตัดสินใจไม่เป็น ขาดภาวะผู้นำ หรือกร่าง 2.บริโภคนิยม เลี้ยงให้อ้วน เด็กเอาแต่ใจ เกิดในครอบครัวฟุ้งเฟ้อ 3.เลี้ยงแบบอวดรวย ขาดความผูกพัน พบในหลายครอบครัว เด็กไม่รักถิ่นฐานของตัวเอง 4.เลี้ยงแบบประคบประหงม เกิดในครอบครัวย้ำคิดย้ำทำ ต้องรักษาพ่อแม่ที่วิตกกังวลกับลูกมากเกินไป
5.เลี้ยงแบบเร่งรัดบังคับ สนับสนุนมากเกินไป 6.เลี้ยงแบบสำลักความรัก ตามใจ เด็กขาดความคิดสร้างสรรค์ 7.ใกล้ชิดมากเกินไป ขาดพื้นที่ส่วนตัว 8.ครอบครัวหวาดระแวง ไม่อยากให้ลูกออกสู่สังคมภายนอก บางครอบครัวยอมให้ลูกติดเกมเพื่อให้ลูกอยู่ในบ้าน ทำให้เด็กขาดความมั่นใจ และ 9.ให้อิสรเสรีมากเกินไป เด็กไม่รู้ถูกผิดอยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ บางคนกลายเป็นขโมยทั้งๆ ที่มีฐานะ
รศ.นพ.สุริยเดว แนะว่า พ่อแม่ควรให้ความรักและความอบอุ่น ไว้วางใจ อย่าเลี้ยงลูกแบบสำลักความรัก แต่ควรร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน ช่วยกันทำงานบ้านไม่ว่าจะร่ำรวย มีแม่บ้าน หรือยากจน ทั้งนี้ พ่อแม่ต้องรู้จักเป็นผู้ฟังที่ดี สะท้อนความรู้สึกที่ดี และเหลาความคิดด้วยคำถามปลายเปิด ให้ลูกสามารถคิดและหาทางออกเองได้ ในขณะที่ภายในบ้านต้องสร้างวินัย มีกติกา แต่ยังคงไว้ซึ่งประชาธิปไตย และยืดหยุ่น พ่อแม่ต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ เพราะลูกจะเป็นกระจกเงาเรียนรู้และต้องเข้าใจว่า เด็กไม่ใช่ผ้าขาว อย่าเข้าใจผิด เขาเกิดมาบนผ้าสีพื้นที่ต่างกัน อย่าเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ ถ้าทำแบบนั้นเด็กบาดเจ็บแน่นอน
3แนวทางสร้างพฤติกรรมเชิงบวก
ทั้งนี้ หากพูดถึงพฤติกรรมเชิงพวกที่ผู้ใหญ่หลายคนมองเห็นและมักใช้ตัดสินวัยรุ่น ได้แก่ การแต่งตัว หน้าตา รูปร่าง แต่สิ่งนั้นเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่สะท้อนพฤติกรรมเพียง 20% ขณะเดียวกัน “อารมณ์” เป็นจุดกำเนิดของพฤติกรรมกว่า 80% จากการสำรวจพบว่า พฤติกรรมเชิงบวกในวัยรุ่นที่ผู้ใหญ่อยากเห็น คือ ปฏิบัติธรรม แต่งกายถูกระเบียบ พูดเพราะ เรียบร้อย ตั้งใจเรียน เชื่อฟัง แต่สิ่งเหล่านี้คือพฤติกรรมเชิงบวกจริงหรือไม่ หรือแค่แสดงออกมาเพื่อให้ผู้ใหญ่สบายใจ
อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ กรรมการบริษัท ไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองลึกลงไปในพฤติกรรมเชิงบวกระยะยาวของวัยรุ่นว่าควรจะสร้างอย่างไร เพื่อให้วัยรุ่นมีวิธีคิดเชิงบวก การปลูกฝังวิธีคิดเป็นเรื่องยาก และเป็นข้อจำกัดของสังคม ดังนั้น 3 กระบวนการสำคัญ คือ Reframing ปรับมุมมอง Practice ส่งเสริมให้เขาได้ลองปฏิบัติจริงโดยทำงานให้แก่ผู้อื่น และ Reflective สะท้อนความรู้สึกเป็นประจำ เขาจะรู้เองว่าอะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับเขา โดย การวัดผลวิธีคิดของวัยรุ่น (Mindset Measurement) คือ เขามีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นหรือไม่ เขาเชื่อว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ เขาควบคุมตัวเองได้ และนับถือตัวเอง
แนะพ่อแม่เปลี่ยนเป็นผู้ประคอง
ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในช่วงเสวนา “วินัย สร้างได้ในครอบครัว” ถึงสิ่งที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวังและตระหนักในการเลี้ยงดูลูก คือ 1.สั่ง หรือ สอนมากกว่ากัน หากสั่งมากกว่าแปลว่า กำลังกระตุ้นสมองส่วนต่อสู้ของเขา 2.ดุ หรือ ปลอบ มากกว่ากัน สมองส่วนหนึ่งที่ใช้พัฒนาอารมณ์ หน้าที่ของพ่อแม่ คือ ทำอย่างไรให้ลูกระบายออกอย่างถูกต้อง 3.ต่อว่า หรือ ชื่นชม มากกว่ากัน สมองก็เหมือนกระปุก เด็กในวัย 5 ขวบ เป็นวัยที่ถ้าหยอดอะไรไปในสมอง จะนำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ตัวเองในช่วงวัยรุ่น ดังนั้น หากหยอดแต่ด้านลบลูกก็จะหยิบเอาด้านลบมาใช้ ต้องเปลี่ยนจากผู้กำกับ เป็นผู้ประคอง ทุกวันนี้รักลูก ลูกรู้หรือไม่ ต้องแสดงออกทั้งการกระทำและคำพูดให้พอดีกัน
ด้าน อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น และเจ้าของเพจชื่อดัง “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” กล่าวเสริมว่า พ่อแม่มีเวลาเลี้ยงลูกจริงๆ 10 ปี เพราะเป็นเวลาทอง ในการเป็นต้นแบบ สร้างตัวตน การที่วัยรุ่นมีปัญหา มาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก พ่อแม่ละเลย เด็กเติบโตมากับความรู้สึกว่าไม่มีตัวตน จึงต้องสร้างเองโดยไม่มีรูปแบบ บางบ้านเลี้ยงลูกเหมือนเลี้ยงสุนัข มีข้าว มีของเล่นทิ้งไว้ แต่ไม่มีคนเลี้ยงดู เด็กหลายคนต่อต้านพ่อแม่ด้วยการใช้ความรุนแรง ทำตัวแย่เพื่อให้พ่อแม่กลุ้มใจ หรือเด็กบางคนคิดว่าตัวเองสู้ใครไม่ได้ เพราะเติบโตมาด้วยการถูกสั่ง เกิดการตัดสินใจผิดๆ ดังนั้น จะฝึกวินัยไม่ใช่ใช้ปาก ต้องลงมือทำ การเลี้ยงลูก คือ การพัฒนาตัวพ่อแม่เอง
ในฐานะ ผู้ที่ทำงานกับเยาวชนต้องคดี ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ให้ความเห็นว่า ครอบครัวจำนวน 20 ล้านทั่วประเทศ ครอบครัวที่มีปัญหาไม่ใช่เพราะโง่หรือไม่รักลูก แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เด็กไทยประมาณ 15 ล้านคน จะมีเด็กที่ก่ออาชญากรรมถึง 5 หมื่นคน และเด็กผู้หญิงท้องราวแสนคน ถ้ามองว่านี่คือครอบครัวที่เปราะบางก็หลักแสนแล้ว
ที่บ้านกาญจนาฯ พยายามเชื่อมพ่อแม่และเด็กเข้าด้วยกัน ในขณะเดียวกัน เด็กที่ไม่มีพ่อแม่พยายามให้เขาเก็บสิ่งที่เหลืออยู่โดยไม่ตามหาสิ่งที่หายไป พร้อมที่จะยืนเคียงข้างเขาและเดินไปด้วยกัน
เรียนรู้ไปพร้อมกับลูก
เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะคุณพ่อที่มีลูกสาวชอบด้านปรัชญาและลูกชายเป็นนักออกแบบบอร์ดเกม เล่าว่า ได้เปิดใจหยิบเอาศักยภาพของลูกทั้งสองคนที่มีความแตกต่างกันมาปรับใช้ โดยลูกสาวคนโตซึ่งปัจจุบันเรียนมหาวิทยาลัยด้านปรัชญา ได้สอนให้รู้จักการแขวนความคิด มองเหตุผลซึ่งกันและกัน ใช้เหตุผลในการตัดสินใจ ในส่วนของลูกชายที่ออกแบบบอร์ดเกม คุณพ่อได้นำบอร์ดเกมไปใช้ในการสอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เปลี่ยนห้องเรียนที่น่าเบื่อและเกือบจะหมดไฟในการเป็นครู ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง
"ดีใจที่ลูกได้แนะนำสิ่งเหล่านี้ให้กับเรา สำหรับการเลี้ยงลูก สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ ความหวังดี ที่ปราศจากความเข้าใจ เป็นอันตรายมาก ดังนั้น ลองแขวนความหวังดี และมองความมุ่งมั่นของลูกในแง่มุมต่างๆ การเรียนรู้กับลูกคือวินัย ที่สำคัญที่สุดของพ่อแม่”