ยึดหลัก "การมีส่วนร่วม" จัดการศึกษาตอบโจทย์ประเทศไทย
ยึดหลัก "การมีส่วนร่วม" จัดการศึกษาตอบโจทย์ประเทศไทย เสริมพลัง "เครือข่าย" นำการศึกษาเปลี่ยนผ่านนวัตกรรม 4.0 สู่การใช้นวัตกรรม 5.0 สร้างการศึกษายั่งยืน
วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับมูลนิธิศึกษาธิการ จัดสัมมนาสรุปบทเรียนโครงการขยายการจัดการการเรียนรู้แบบเครือข่ายการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน เด็กและเยาวชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนักวิชาการโดยทั่วไป เข้าร่วม จำนวน 700 คน ณ โรงแรมที เค พาเลซ & คอนเวนชัน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ผศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า โครงการขยายการจัดการการเรียนรู้แบบเครือข่ายการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 และจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม 2562 โดยความร่วมมือทางวิชาการจาก 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฏลพบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช รวมทั้ง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเป็นหน่วยบริหารจัดการโครงการ มีเป้าหมาย 5 ประการ คือ 1.การสร้างความตระหนักและป้องกันปัญหาทุกโภชนาการและโรคอ้วน 2.การสร้างความตระหนักและป้องกันปัญหาการสูบบุหรี่และสารเสพติด 3.การสร้างความตระหนักและป้องกันปัญหาสุขภาวะทางเพศ 4.การสร้างความตระหนักด้านคุณธรรมจริยธรรม และ 5.ด้านคุณภาพการศึกษาที่เชื่อมโยงกับสุขภาวะ
ผศ.ดร.พิณสุดา กล่าวอีกว่า จากการดำเนินงานได้กำหนดให้โรงเรียนรวมตัวกันเป็นเครือข่ายตามความสมัครใจ ตามความเชื่อ ปรัชญา สังคมและวัฒนธรรม ปัญหาและความต้องการเดียวกัน เครือข่ายละประมาณ 5 แห่ง โดยใช้แนวคิดเชิงนวัตกรรม 8 ร่วมที่นำไปสู่การปฏิบัติ ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมติดตามประเมินผลและร่วมชื่นชมผลสำเร็จ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยทำหน้าที่สนับสนุนวิชาการ ติดตามและประเมินผล และกำหนดให้เครือข่ายจัดทำโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมาย 5 ด้าน 15 ตัวชี้วัด ด้วยการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา รายวิชาเพิ่มเติม คู่มือ สื่อการเรียนรู้ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ และถอดบทเรียน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในพื้นที่ 11 จังหวัด 30 เครือข่าย 161 สถานศึกษา ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา บรรลุเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนด โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของเครือข่าย โรงเรียนในโครงการ ผู้ปกครอง และชุมชน โดยเฉพาะภาคส่วนต่างๆ และที่สำคัญเด็กและเยาวชนในโครงการมีความรู้ ความเข้าใจ เจตคติที่ดี และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาวะไปในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิดในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นของแต่ละเครือข่าย ที่เป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ดร.พงษ์ภิญโญ แม้นโกศล คณบดีคณะครุศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า คณะครุศาสตร์มีความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมดำเนินโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยจุดเด่นของโครงการใช้หลักการของการมีส่วนร่วม ตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่มุ่งเน้นให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยการมีส่วนร่วม ซึ่งจากแนวคิดเชิงนวัตกรรม 8 ร่วม ในวันนี้ ถือเป็นการจัดงานในขั้นตอนที่ 8 ที่ทุกคนได้มาร่วมกันชื่นชมยินดีกับความสำเร็จและได้มาถอดบทเรียนร่วมกันเพื่อการทำงานในอนาคตต่อไป
ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ภาคีราชบัณฑิต กล่าวในการบรรยายพิเศษ เรื่องการจัดการศึกษาฐานชุมชนแบบมีส่วนร่วมจากยุค 4.0 สู่ 5.0 ว่า รากฐานการศึกษาของไทยคือการศึกษาของชุมชน โดยชุมชนร่วมกันจัดการศึกษาเอง ซึ่งจะมีความคล่องตัว หลากหลาย และเกิดรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่าย ซึ่งโครงการขยายการจัดการการเรียนรู้แบบเครือข่ายการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน เป็นโครงการที่ตอบโจทย์การศึกษาของประเทศไทย เกิดนวัตกรรมทางการศึกษา จำนวนมาก อาทิ หลักสูตรที่สนองตอบความต้องการของชุมชน คู่มือการจัดการเรียนรู้ของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน รวมถึงคู่มือการพัฒนาชีวิต เกิดสื่อการเรียนรู้ แผนการเรียนรู้ นวัตกรรมการทำงาน ที่หลากหลาย เป็นต้น
"การจัดการศึกษาในยุค 4.0 คือการสร้างนวัตกรรม แต่การศึกษาที่จะก้าวสู่ยุค 5.0 คือ การใช้นวัตกรรม เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้น การจัดการศึกษาในอนาคต เครือข่ายคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่จะต้องดำเนินการใน 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.สร้างความยั่งยืนในทุกระดับ 2.ยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น มีความรับผิดชอบ ให้ความร่วมมือ 3.กำหนดสาระ คิดให้ใหญ่ขึ้น 4.เป็นพลังผลักดันเพื่อส่งเสริมให้การศึกษาของชาติสนใจวิถีชีวิตที่ดีงาม 5.พัฒนาและสร้างกิจกรรมเพื่อเป็นคานงัดให้การศึกษาของชาติดำเนินไปในแบบการมีส่วนร่วมของชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตสู่ยุค 5.0" ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าว
ด้าน นายสุจิตต์ ไตรพิทักษ์ คณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส. กล่าวว่า บริบทการทำงานของสำนัก 4 รับผิดชอบเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ เด็ก เยาวชนและครอบครัว ตอบโจทย์ สสส.ใน 4 ด้าน (กาย จิต สังคม และปัญญา) เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียน จึงให้ความสำคัญกับโรงเรียนในการพัฒนาเพื่อเป้าหมายดังกล่าว โครงการขยายการจัดการการเรียนรู้แบบเครือข่ายการมีส่วนร่วมเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน มีการพัฒนาโครงการมาแล้ว 4 ครั้ง ในกระบวนการนำเสนอผลการดำเนินงานในวันนี้ ตอบโจทย์ของ สสส. โดยเฉพาะด้าน 1.เนื้อหา ด้านสุขภาวะที่มีการนำเสนอสาระอย่างชัดเจน 2.ด้านกระบวนการ ใช้การมีส่วนร่วม ตอบโจทย์การจัดการศึกษาของรัฐ ที่ให้ความสำเร็จอยู่ที่ชุมชนฐานราก โดยปฏิรูปให้ชุมชนลุกขึ้นมาร่วมจัดการศึกษา และ 3.ตอบโจทย์ที่ สสส.ตั้งเป้าหมายไว้ 10 ปี เกี่ยวกับการลดภาวะด้านเหล้า การสูบบุหรี่ เรื่องเพศ ด้วยกระบวนการให้ความรู้และสร้างความตระหนักอย่างเป็นองค์รวม โดยเฉพาะสุขภาวะทางปัญญาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียน.