ลูกนกตกรัง ตอนที่2
คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย - น.สพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญหรือหมอเล็ก [email protected]
ต่อจากอาทิตย์ที่ 6 เม.ย.
หากเราไปร้านขายอาหารสัตว์ก็จะเลือกอาหารลูกนกทั้งประเภทกินพืช กินเนื้อ หรือกินแมลงเป็นอาหารให้เหมาะกับลูกนกตกรัง หากเป็นนกชนิดที่กินหนอนเป็นอาหารควรให้หนอนตายเพื่อเลี่ยงภาวะหนอนกัดทางเดินอาหารลูกนก แต่หากเราไม่ทราบสายพันธุ์ลูกนกก็ต้องเลือกอาหารลูกนกประเภทที่ใช้ได้กับนกทุกสายพันธุ์ไว้ก่อน ส่วนจะป้อนถี่แค่ไหนก็ยึดหลักธรรมชาติทั่วไป คือ ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ หรือประมาณหกโมงเช้า ถึงสองทุ่ม โดยป้อนทุกๆ 2-3 ชั่วโมง
เพราะลูกนกที่ยังบินไม่ได้แล้วตกมาจากรังมันยังเล็กมากและยังไม่มีกระเพาะพัก จึงต้องป้อนอาหารบ่อย (ยกเว้นนกเขา นกพิราบ ที่มีกระเพาะพักจึงป้อนอาหารได้ในปริมาณที่มากกว่า แต่ถี่น้อยกว่า คือ 4 มื้อต่อวัน) ถ้าพบว่าดึกๆ ลูกนกยังคึกคัก หรือดูหิวก็สามารถป้อนอาหารได้ โดยใช้ไซรินจ์เล็ก หรือท่อให้อาหาร (feeding tube) ป้อน ส่วนจะให้มากน้อยเท่าไรก็อาจจะประมาณปริมาณอาหารที่ 10 ซีซี ต่อน้ำหนักลูกนก 100 กรัม
หากลูกนกแข็งแรงดีก็ลองฝึกให้จิกกินอาหารจากช้อนได้ ที่สำคัญไม่ควรป้อนน้ำลูกนกเพราะเหมือนเป็นการบังคับทำให้สำลักน้ำเข้าทางเดินหายใจได้ ลูกนกมักจะได้น้ำจากอาหารอยู่แล้ว แต่ถ้าคิดอยากป้อนน้ำควรให้ลูกนกจิบน้ำเอง
นอกจากนี้ ลูกนกยังไม่มีขนจึงใช้พลังงานมากในการทำร่างกายให้อบอุ่น เราจึงควรทำสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงธรรมชาติด้วยการให้อยู่ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิห้อง และกกไฟหลอดไฟส้ม 40 วัตต์ ก็ทำให้ลูกนกอบอุ่นเลี่ยงการใช้พลังงานมาก บางครั้งอากาศร้อนที่อุณหภูมิหน้าร้อนในประเทศไทย และลูกนกพอมีขนอาจไม่ต้องใช้ไฟกกก็ได้ ในกรณีลูกนกมีแผลก็อย่าใช้เบตาดีนเพราะนกหลายชนิดแพ้ ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพราะต้องใช้ยาทาแผลประเภท silver nano เป็นต้น
การเลี้ยงลูกนกให้รอดนับเป็นภารกิจที่ท้าทาย ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ท่านต้องระมัดระวังเอาใจใส่ และเมื่อพบอะไรที่ไม่ปกติก็ต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์ที่สามารถช่วยเหลือให้คำแนะนำในเบื้องต้นได้ อย่างน้อยก็ประทังเวลาให้ท่านได้มีโอกาสแก้ไขสถานการณ์ของลูกนกเฉพาะหน้าฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือชีวิต แล้วพาไปคลินิกสัตว์เฉพาะทางที่รับให้คำปรึกษา รักษาสัตว์เลี้ยงที่นอกเหนือไปจากสุนัข และแมวทั่วไปนะครับ