ปลูกพลังบวกสร้างภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยงเหล้าบุหรี่ปฐมวัย
โดย... ปาริชาติ บุญเอก [email protected]
“เด็กเป็นต้นกล้าสำคัญของประเทศไทย ถ้าต้นกล้าอ่อนแอ ไม่มีทางที่จะปลูกแล้วสมบูรณ์” พีระ รัตนวิจิตร
คนไทยดื่มเหล้ามากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน โดยเด็กที่เริ่มดื่มอายุน้อยที่สุดคือ 7 ขวบ ได้รับผลกระทบจากบุหรี่กว่า 66.8% นำมาสู่การร่วมมือระหว่าง สสส. และสพฐ. จัดโครงการ “ปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัย” เสริมเกราะป้องกันเหล้าบุหรี่ให้เด็กตั้งแต่ช่วงปฐมวัย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกว่า 42 แห่ง
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในเด็กอายุ 10-14 ปี พบว่าเคยสูบบุหรี่ 3.5% ได้รับผลกระทบจากบุหรี่ 66.8% นอกจากนี้การดื่มเหล้าในเด็กกลุ่มดังกล่าวพบว่าเคยดื่มเหล้า 5.5% เคยดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่นที่มีแอลกอฮอลล์ 4.7% อยู่ใกล้ร้านเหล้า 64.7% และกว่า 50% ซื้อดื่มเอง โดยอายุน้อยที่สุดที่เริ่มดื่มคือ 7 ขวบ นอกจากนี้คนไทยยังดื่มเหล้ามากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน
พีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวในเวทีนิทรรศการทางวิชาการ “ปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัย” โดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและภาคีเครือข่าย สนับสนุนโดยสสส. ว่าลูกหลานเรามีปัจจัยเสี่ยงสูงในสภาพสังคมปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน และสื่อมวลชน ดังนั้นทุกหน่วยงานต้องช่วยกันไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข พ่อแม่ สตรีวัยเจริญพันธุ์ต้องพร้อมมีบุตรอย่างมีคุณภาพ ด้านพ่อต้องงดสิ่งเหล่านี้ด้วย หลังจากเด็กคลอดออกมา การรับรู้ เรียนรู้ จะเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุดในช่วงปฐมวัย (0-6 ขวบ)
พีระ รัตนวิจิตร
“นักจิตวิทยาพัฒนาการได้ประมาณการว่า การเรียนรู้ในช่วงนี้ก้าวหน้าไปกว่า 80% ของผู้ใหญ่เต็มวัย นั่นหมายความว่าตั้งแต่ป.1 เป็นต้นไป คือ 20% ของชีวิตเท่านั้น ดังนั้นการสร้างพัฒนาการต่างๆ ต้องเริ่มจากช่วงปฐมวัย โดยเฉพาะในเรื่องการเรียนรู้เพื่อให้เด็กซึมซับเจนตคติที่ดีสู่การปฏิบัติ นอกจากนี้พ่อแม่ควรเป็นต้นแบบ รวมถึงสถานศึกษาต้องเข้มงวดกวดขันในเรื่องนี้ เพราะเราถือว่าเด็กเป็นต้นกล้าสำคัญของประเทศไทย ถ้าต้นกล้าอ่อนแอ ไม่มีทางที่จะปลูกแล้วสมบูรณ์” พีระ กล่าว
ทั้งนี้โครงการ “ปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัย” ดำเนินงานโดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและภาคีเครือข่าย สนับสนุนโดย สสส. ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านปฐมวัยจากสพฐ. เป็นผู้ออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับครูปฐมวัย เพื่อใช้จัดกิจกรรมสำหรับเด็กอายุระหว่าง 2-6 ขวบ โดยจัดชุดการเรียนการสอน กิจกรรมลดปัญหาเสี่ยงเรื่องเหล้าบุหรี่ในรูปแบบนิทาน เพลง เกม แบบฝึกกิจกรรม ซึ่งครูสามารถนำชุดกิจกรรมนี้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถประเมินพัฒนาการของเด็กได้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ปฐมวัย รวมถึงการอบรมให้ความรู้ครูอีกด้วย
ขณะนี้มีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมทั้งหมด 42 แห่ง รวม 140 คน ประกอบด้วย ผู้บริหาร 42 คน ครูปฐมวัย 84 คน และคณะทำงาน 14 คน แบ่งเป็น สังกัด สพฐ. 18 แห่ง, สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 19 แห่ง, สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 4 แห่ง, สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 2 แห่ง และ สังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 1 แห่ง
ธนิมา เจริญสุข ประธานคณะทำงานโครงการ “ปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัย” กล่าวว่า หลังจากการดำเนินโครงการมีการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจากผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้ปกครอง และแบบสังเกตพฤติกรรมของเด็กปฐมวัยที่มีความรู้ความเข้าใจต่อการใช้ชุดกิจกรรม แบ่งเป็นความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา 93.85% ความคิดเห็นของครู 86% ความคิดเห็นผู้ปกครอง 88.70% พร้อมแบบสังเกตพฤติกรรมของเด็กปฐมวัยที่ผ่านเกณฑ์ทักษะชีวิต พบว่าเด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ผ่านเกณฑ์การประเมิน 95.77% ชั้นอนุบาล 1 (อายุ 3-4 ขวบ) 94.68% ชั้นอนุบาล 2 (4-5 ขวบ) 94.68% และอนุบาล 3 (5-6 ขวบ) 95.06%
ยุพิน ประเสริฐกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเปรมประชากร ในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา กล่าวว่า โรงเรียนวัดเปรมประชากรมีจำนวนนักเรียนชั้นอนุบาลราว 200 คน จะเห็นว่าปัจจุบันสังคมอยู่ยากมากขึ้นเพราะภัยจากเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่เด็กๆ ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่อันตรายและไม่สมควรทำ เพราะฉะนั้นสถานศึกษาจึงต้องเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปลูกฝังความรู้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลให้เขาโตขึ้นเป็นบุคลากรที่ดี เมื่อมีโครงการนี้เข้ามาสิ่งแรกที่เราทำ คือประชุมครูและผู้ปกครองเพื่อให้เกิดความตระหนัก รวมถึงได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นครูในโรงเรียน ผู้ปกครอง วัด โรงพยาบาล เข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับโทษเหล้าบุหรี่ รวมถึงมีกิจกรรมทดลองเอาเหล้าเบียร์ราดไปบนตับให้เด็กเห็นว่าตับสีซีดลง เพื่อให้เด็กเห็นถึงโทษอย่างชัดเจน
ยุพิน ประเสริฐกุล
“เราโชคดีที่ผู้ปกครองให้ความร่วมมือและให้ความสำคัญมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น และสิ่งที่เห็นชัด คือความอบอุ่นในครอบครัวจากกิจกรรมทำ กระปุกออมรักซึ่งมีผู้ปกครองให้ความร่วมมือจำนวนมาก เราจะไม่หยุดโครงการเพียงเท่านี้แต่จะทำต่อยอดไปเรื่อยๆ ซึ่งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 จะเป็นวันประชุมผู้ปกครอง ทางโรงเรียนจะให้เด็กๆ ได้นำเสนอว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เขาได้ความรู้อะไรบ้าง” ยุพิน กล่าว
ด้าน อารดา ศรีหวาด หรือครูแนน ครูผู้ช่วย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวว่า เนื่องจากโรงเรียนเป็น 2 ภาษา เน้นสอนแบบบูรณาการ หลังจากที่เข้าร่วมโครงการได้นำชุดกิจกรรมปลูกพลังบวกไปบูรณาการเข้ากับหน่วยการเรียนรู้ชั้นอนุบาลไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ พละ ดนตรี วิทยาศาสตร์ ให้เด็กได้ลองเหตุการณ์สมมุติ หาคำตอบจากที่บ้านหรือผู้รู้ด้วยตัวเขาเอง โดยทั้งครูไทยและครูต่างชาติ รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนให้ความร่วมมือและตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้เป็นอย่างดี
อารดา ศรีหวาด
“ที่ผ่านมาได้รับเสียงตอบรับจากผู้ปกครองว่า เด็กได้รู้ลึกถึงโทษของเหล้าและบุหรี่มากขึ้น สิ่งที่เราเห็นชัด คือปลูกพลังบวก ซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กจริงๆ เขาไม่ใช่แค่คิดบวก เขาสามารถใช้คำพูดทางบวก ไม่ดูถูกเพื่อน รู้จักพูดคำว่าไม่เป็นไร เธอทำได้ เชื่อว่าพลังบวกเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กได้จริงๆ” อารดา กล่าวทิ้งท้าย