ไลฟ์สไตล์

พร้อมรับ"สังคมอายุยืน""วัยแรงงาน–สังคม"ต้องปรับตัว

พร้อมรับ"สังคมอายุยืน""วัยแรงงาน–สังคม"ต้องปรับตัว

14 พ.ค. 2562

โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected] -

 

 

          จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2560 ประเทศไทยมีคนอายุเกิน 100 ปี กว่า 9,041 คน อายุขัยเพิ่มขึ้น 4.4 เดือนต่อปี และคนไทยที่เกิดในปี 2559 จะมีอายุขัยเฉลี่ย 80-98 ปี นอกจากนี้ผู้สูงวัยยังมีสุขภาพร่างกายดีขึ้น ความรู้ การใช้ชีวิต การทำงาน รายได้ดีขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบัน ผู้สูงวัยมีรายได้หลักจากการทำงาน อาศัยอยู่โดยลำพัง และทำกิจกรรมตามความสนใจมากขึ้น การก้าวสู่ “สังคมอายุยืน” นำมาสู่ความท้าทายในหลายด้าน เพราะการเตรียมการในอนาคตไม่ใช่แค่สำหรับสังคมสูงวัยเท่านั้น แต่ต้องพร้อมสำหรับคนยุคปัจจุบัน ให้มีทั้งสุขภาพที่ดี มีเมืองที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

 

 

          “สังคมอายุยืน” เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ประเทศญี่ปุ่น แต่เดิมเคยมีพิธีเฉลิมฉลองคนอายุยืน 100 ปี โดยเริ่มในปี พ.ศ. 2506 และยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2558 เพราะมีคนอายุเกิน 100 ปีมากเกินไป โดยปัจจุบันมีจำนวนกว่า 7 หมื่นคน ด้านประเทศอังกฤษเพิ่มคนเขียนจดหมายอวยพรจากพระราชินี กว่า 7 คน เนื่องจากคนอายุยืนนานมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ความรู้ เทคโนโลยีที่พัฒนา ทางเลือกที่ดีขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพและอายุขัย

 

พร้อมรับ\"สังคมอายุยืน\"\"วัยแรงงาน–สังคม\"ต้องปรับตัว

 


          ปัจจุบัน คำนิยามผู้สูงวัยยังอยู่ที่ 60 ปี อย่างไรก็ตามการวัดอายุไม่ใช่เพียงแค่นับตามปีปฏิทินเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการ วัดอายุตามความรู้สึก, ตามบรรทัดฐานสังคม และ อายุตามสภาพร่างกาย ดังนั้น การวัดที่ถูกต้องคือ มองว่าเหลือชีวิตอีกกี่ปี อายุยืนขึ้นไม่ใช่แค่ “แก่นานขึ้น” แต่หมายถึงชีวิตแต่ละช่วงวัยยาวนานขึ้นอีกด้วย


          ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาสาธารณะ ประจำปี 2562 เรื่อง “สังคมอายุยืน : แข่งขันได้ และอยู่ดี มีสุข ได้อย่างไร?” ว่า “สังคมสูงอายุ” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “สังคมอายุยืน” นำมาสู่ความท้าทายใหม่ๆ ทั้งในด้าน ความท้าทายด้านแรงงาน คนไทยออกจากตลาดแรงงานตั้งแต่อายุ 50-59 ปี เนื่องจากผลิตภาพต่ำลง นำมาสู่การเลิกจ้าง รวมถึงแรงงานมีสิทธิได้บำนาญในกองทุนประกันสังคม ดังนั้น ทางแก้คือ ลดการออกจากตลาดแรงงานของคนอายุ 50-59 ปี เพิ่มผลิตภาพ 12% ขยายอายุรับบำนาญ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ 9.2%

 

 

พร้อมรับ\"สังคมอายุยืน\"\"วัยแรงงาน–สังคม\"ต้องปรับตัว

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

 

 



          นอกจากนี้ หากดึงแรงงาน 60-69 ปีกลับมาทำงาน เพิ่มผลิตภาพ 12% สามารถแก้ปัญหาได้ 1.8% และการเพิ่มกำลังแรงงานใหม่ๆ เช่น แรงงานต่างด้าวมากกว่าปกติปีละ 1 แสนคน สามารถแก้ปัญหาได้ 3.1% นอกจากนี้ การลดการเกณฑ์ทหาร 50% จากปีละ 1 แสนคน แก้ปัญหาได้ 6% และเพิ่มการใช้เครื่องจักรโดยลงทุนเพิ่มกว่าปกติ 1.1-1.6% ต่อปี (4 หมื่นล้านบาทในปี 2561) แก้ปัญหาได้ 100%


          ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า คนมักเข้าใจผิดว่าสังคมสูงอายุทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง แต่ความจริงไม่เสมอไป แม้แรงงานลดลงแต่สามารถทดแทนด้วยหุ่นยนต์ได้ เช่น เกาหลีใต้ มีการใช้หุ่นยนต์ทั้งภาคการเกษตร ภาคบริการ ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น มีเกษตรกรอายุมากกว่า 65 ปี กว่า 60% รวมไปถึงคนรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นเกษตรกร บริษัท Spread ซึ่งผลิตผักกาดหอมในโรงเรือนที่เกียวโต จึงนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยและพบว่า ผลผลิตเพิ่มจากวันละ 21,000 ต้น เป็น 50,000 ต้น โดยใช้คนเพียงขั้นตอนการเพาะเมล็ดเท่านั้น

 

 

พร้อมรับ\"สังคมอายุยืน\"\"วัยแรงงาน–สังคม\"ต้องปรับตัว

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู

 


          “ในประเทศไทย ภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยปี 2559 มีการนำหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาใช้ 28,200 ตัว แต่หากเทียบกับประเทศอื่น ถือว่ายังมีการใช้น้อยราว 45 ตัวต่อ 1 หมื่นคน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยเอเชียอยู่ที่ 74 ตัวต่อ 1 หมื่นคน และแรงงานเกษตรยังขาดแคลน ประเทศไทยจะเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปได้ โดยนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยขับเคลื่อน” ดร.เสาวรัจ กล่าว

 


          ออกแบบเมืองเดินได้
          สำหรับความท้าทาย ด้านการสร้างเมือง ปัจจุบัน คนกรุงเทพฯ เข้าถึงสวนสาธารณะในระยะเดินได้เพียง 1 ใน 4 ขณะที่ทางเท้าของกรุงเทพฯ ได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 18 คะแนนเต็ม 40 คะแนน ผู้สูงวัยเข้าถึงรถไฟฟ้าได้ยาก ลิฟต์และทางลาดไม่ครอบคลุมกว่า 59% นอกจากนี้ รถเมล์ชานต่ำสำหรับผู้สูงวัยมีเพียง 30% ของรถเมล์ทั้งระบบ ป้ายรถเมล์ส่วนใหญ่ไม่รองรับรถเมล์ชานต่ำ

 

 

พร้อมรับ\"สังคมอายุยืน\"\"วัยแรงงาน–สังคม\"ต้องปรับตัว

 


          ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กล่าวว่า โจทย์สำคัญในการออกแบบเมือง คือ เมกะเทรนด์ ประชากรอายุมากขึ้น ความเป็นเมือง และคำนึงถึงกลุ่ม “ศตวรรษิกชน” หรือคนที่อายุเกิน 100 ปี กลายเป็นวาระสำคัญของคนทั่วโลก ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การออกแบบเมืองเพื่อคนสูงวัย แต่ต้องออกแบบเมืองให้คนที่อยู่ในปัจจุบันมีสุขภาพดี เพื่อคุณภาพชีวิตในอนาคต เมืองต้องเดินได้ ศูนย์สุขภาพ ความรู้ ต้องเข้าถึงได้ในระยะที่เดินเท้า กรุงเทพฯ มีสินทรัพย์ซ่อนอยู่เยอะ ซึ่งเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ของภาครัฐ เช่น การนำโครงสร้างรางรถไฟฟ้าลาวาลิน ซึ่งไม่ได้ใช้งาน ปรับสู่ “โครงการพระปกเกล้าสกายปาร์ค” (สะพานด้วน) ความร่วมมือของกรมทางหลวงชนบทและกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีไอเดียจากผู้สูงอายุในเขตธนบุรีที่ต้องการพื้นที่ออกกำลังกาย นำมาสู่การออกแบบใหม่ มีลิฟต์และสามารถทำให้คนเดินข้ามได้”

 

 

พร้อมรับ\"สังคมอายุยืน\"\"วัยแรงงาน–สังคม\"ต้องปรับตัว

 


          ส่งเสริมการออมภาคบังคับ-สมัครใจ
          สำหรับ ระบบประกันการดูแลระยะยาวในต่างประเทศ เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ มาจาก ประกันสังคม 68% ภาษี 24% ผู้ใช้ร่วมจ่าย 9% ประเทศเบลเยียม ประกันสังคม 57% ภาษี 37% ผู้ใช้ร่วมจ่าย 6% ประเทศสวีเดน ภาษีรัฐบาลท้องถิ่น 84% ภาษีรัฐบาลกลาง 12% ผู้ใช้ร่วมจ่าย 4% และ ประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลและประชาชน 90% ผู้ใช้ร่วมจ่าย 10% ขณะที่ ประเทศไทย มีช่องทางการออมสำหรับมนุษย์เงินเดือนทั้ง “ออมภาคบังคับ” เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และประกันสังคม และ “ออมภาคสมัครใจ” เช่น RTF / LMF ประกันแบบบำนาญ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”


          รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษานโยบายด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า “คนไทยมีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับอนาคต เพราะผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาลต้องใช้จ่ายเดือนละประมาณ 7 พันบาท ซึ่งต้องมีเงินออม 2.85 ล้านบาท เมื่ออายุ 60 ปี ดังนั้น ควรส่งเสริมให้มีการออมทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ โดยเฉพาะสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้เช่นเดียวกัน และขยายอายุเกษียณเพื่อเพิ่มระยะเวลาการออม”


          ด้าน ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความเห็นว่า “ปัจจุบันไม่ใช่แค่เรื่องสังคมสูงวัยอย่างเดียว แต่สังคมทุกระดับต้องเข้าใจและเชื่อมโยง สิ่งสำคัญคือ ตัวผู้สูงอายุต้องมีสุขภาพแข็งแรง มีบริบทที่เอื้อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้านเงินออมเป็นสิ่งที่คนไทยยังไม่คำนึงถึง สังคมเปลี่ยน ผู้สูงอายุต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น ความห่างเหินระหว่างครอบครัวจะมากขึ้นต้องยอมรับ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยต้องเตรียมตัว ตื่นตัว สำหรับการศึกษา จัดหลักสูตร จัดการอบรม สำหรับผู้สูงวัยที่ต้องการเพิ่มศักยภาพในการทำงานมากขึ้น”

 

 

พร้อมรับ\"สังคมอายุยืน\"\"วัยแรงงาน–สังคม\"ต้องปรับตัว

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร