ไลฟ์สไตล์

ภารกิจดันผ้าไทยสู่สากล

ภารกิจดันผ้าไทยสู่สากล

14 พ.ค. 2562

คอลเลกชั่น  "จากแดนไกล" หยิบยกเอาความงามและความละเมียดละไมของผืนผ้าไทยทอมือเป็นหัวใจสำคัญ

          กระแสรณรงค์ใช้ผ้าไทยยังแรงต่อเนื่อง ล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จับมือ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และแบรนด์ “WISHARAWISH” (วิชระวิชญ์) จัดโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2562 แถลงข่าวพร้อมเปิดตัวแฟชั่นโชว์เรียกน้ำย่อยคอลเลกชั่น “จากแดนไกล” ผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ ที่ชั้น 7 สยามสแควร์วัน โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ กรุงเทพฯ เมื่อวันก่อน

ภารกิจดันผ้าไทยสู่สากล

ชระวิชญ์ อัครสันติสุข-ทัศชล เทพกำปนาท

          ภายในงานได้รับเกียรติจาก ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม, วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ “WISHARAWISH”, เอกสิทธิ์ โกมลกิตติพงศ์ เจ้าของแบรนด์ผ้าขาวม้า “IMPANI” เป็นต้น ร่วมพูดคุยถึงที่มาและแรงบันดาลใจในการดำเนินโครงการ โดย วิชระวิชญ์ เปิดเผยว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้และชุมชนทางวัฒนธรรมและเพิ่มศักยภาพ การท่องเที่ยวผ่านมิติผ้าไทย รวมไปถึงส่งเสริมศิลปินพื้นบ้านและเครือข่ายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของการทอผ้าไทย ได้เผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม บนรากฐานของวัฒนธรรมในชุมชน ให้อยู่คู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมเรื่องผ้าไทยมาสร้างคุณค่าทางจิตใจและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นที่จะสร้างสรรค์ผลักดันนักออกแบบและผลงานเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในวงการแฟชั่นทั้งไทยและต่างประเทศ

ภารกิจดันผ้าไทยสู่สากล

เอกสิทธิ์ โกมลกิตติพงศ์

          “เรามองว่าผ้าเป็นของเรียบง่าย แต่ในความเรียบง่ายมีความซับซ้อนแล้วก็เป็นอะไรที่ง่ายๆ เราอยากเอาของที่เป็นท้องถิ่นเข้ามาอยู่ในเมือง ไปสู่ความเป็นสากลจริงๆ เน้นไปที่เรื่องการทอและวัตถุดิบว่าทำยังไงจะให้เกิดมิติใหม่ๆ กับวงการผ้าไทย” ดีไซเนอร์มือฉมัง กล่าว

ภารกิจดันผ้าไทยสู่สากล

ผ้าบาติก เดอ นารา จังหวัดปัตตานี

ภารกิจดันผ้าไทยสู่สากล

ผ้าขาวม้า อิมปานิ จังหวัดราชบุรี

          สำหรับไฮไลท์ของงานอยู่ที่คอลเลกชั่นผ้าไทย “จากแดนไกล” ที่ผ่านการออกแบบเน้นความเรียบง่ายแต่พิถีพิถันในรายละเอียดของเทคนิค หยิบยกเอาความงามและความละเมียดละไมของผืนผ้าไทยทอมือทั้งหลายเป็นหัวใจสำคัญซึ่งวัสดุหลักก็คือบรรดาผืนผ้าที่วิชระวิชญ์ได้เลือกใช้ถึง 7 ชนิด จากผู้ประกอบการท้องถิ่น ได้แก่ ผ้าขาวม้า อิมปานิ จังหวัดราชบุรี, ผ้าฝ้ายทอมือ คอตตอน ฟาร์ม จังหวัดเชียงใหม่, ผ้าบาติก เดอ นารา จังหวัดปัตตานี, ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ จุฑาทิพย์ จังหวัดขอนแก่น, ไหมแต้มหมี่ กลุ่มสตรีทอผ้ามัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น, ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข จังหวัดขอนแก่น และผ้าไหมยีน เรือนไหมใบหม่อน จังหวัดสุรินทร์ นำมาออกแบบและตัดเย็บด้วยการใช้สี คู่สี การปรับเปลี่ยนลวดลาย และการออกแบบที่ร่วมสมัย จนได้แฟชั่นผ้าไทยในมุมที่ต่างออกไป ที่สำคัญใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

ภารกิจดันผ้าไทยสู่สากล

ผ้าไหมยีน เรือนไหมใบหม่อน จังหวัดสุรินทร์

          ร่วมชื่นชมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล โดยวันที่ 21 พฤษภาคม เวลา 15.00 น. จะมีแฟชั่นโชว์ผ้าไทยต้นแบบจาก 7 ชุมชน ที่ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ส่วนวันที่ 23–24 พฤษภาคม เป็นการสัมมนาวิชาการฯ ที่โรงแรมโฟร์วิงส์ สุขุมวิท 26 และวันที่ 23–26 พฤษภาคม มีนิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้และการแสดงผลงานเครื่องแต่งกายจากผ้าไทยต้นแบบ ที่ลานบีคอน 3 และ 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์