ไลฟ์สไตล์

ปัญหาโรคไตในสัตว์เลี้ยง

ปัญหาโรคไตในสัตว์เลี้ยง

01 มิ.ย. 2562

คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย - นสพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญ หรือหมอเล็ก [email protected]

 

        สัปดาห์นี้มาคุยกันเรื่องของไตนะครับ… เรามาทำความเข้าใจเรื่องไตโดยเริ่มต้นที่หลายหน้าที่ของไตที่เกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ ในร่างกาย คือกรองของเสียที่อยู่ในเลือดซึ่งมาจากการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ โดยเฉพาะโปรตีน เป็นตัวปรับสมดุล น้ำ และเกลือแร่ในร่างกาย และยังสร้างฮอร์โมนเกี่ยวกับการสร้างเม็ดเลือดแดงอีกด้วย 

 

            ดังนั้นหากไตมีการทำงานที่บกพร่อง หรือผิดปกติไปจะส่งผลกระทบโดยรวมให้แก่ร่างกายได้หลายระบบ เช่น ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ความดันโลหิต ระบบเลือด และอื่นๆ ส่วนปัจจัยที่ทำให้ไตเกิดความเสียหาย ได้แก่ 1.ความเสื่อมตามวัย 2.โรคติดเชื้อ เช่น โรคฉี่หนู (Leptospirosis) 3.การใช้ยาหรือสารต่างๆ 4.โรคไม่ติดเชื้อ เช่น เบาหวาน นิ่ว โรคหัวใจ โรคความดัน เนื่องจากมะเร็ง ภาวะภูมิคุ้มกันไวเกิน เป็นต้น 5.โภชนาการที่ไม่เหมาะสม 6.อื่นๆ เช่น การกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ ฯลฯ

             เมื่อเข้าใจหน้าที่ไตและปัจจัยที่ทำให้ไตเสียหายแล้ว เรามาลองดูภาวะไตวาย 2 แบบ ได้แก่ 1.ภาวะไตวายเฉียบพลัน มีการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่รักษาให้กลับสู่สภาวะปกติได้ ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น โรคติดเชื้อต่างๆ ไตบวม การอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น และ 2.ภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งมักเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป จากสาเหตุต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคนิ่ว เป็นต้น ส่วนอาการที่พบได้บ่อย คืออาการในเรื่องของปัสสาวะ โดยดูจากความถี่ สี และปริมาณของปัสสาวะ อาการบวมน้ำต่างๆ และสัตว์เลี้ยงมีกลิ่นปาก เป็นต้น

            อย่างไรก็ตามเราจะทราบได้อย่างแน่นอนว่าสัตว์เลี้ยงของเราเป็นโรคไตหรือไม่นั้นมีอยู่ 2 แนวทาง คือตรวจสุขภาพร่างกายของสัตว์เลี้ยงเป็นประจำเพื่อติดตามค่าเคมีในเลือดเป็นระยะ และหากพบอาการดังที่กล่าวมาเบื้องต้นควรนำสัตว์เลี้ยงเข้าตรวจสุขภาพอีกครั้งโดยสัตวแพทย์ โดยอาจตรวจค่าเคมีในเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจด้วยรังสีวินิจฉัยเพิ่ม เช่น การตรวจอัลตราซาวด์ x-ray CT scan และ MRI เป็นต้น โดยขึ้นกับการตัดสินใจของสัตวแพทย์เพื่อประเมินความเสียหายของไต โดยมีการตรวจร่างกายร่วมด้วย

 

     

         หากสัตวแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคไตแล้วจะทำอย่างไรต่อไป การรักษา หรือการชะลอความเสื่อมของไตต้องใช้เวลา และการตรวจติดตามผลเป็นระยะเพื่อการพยากรณ์โรค โดยการวางแผนการรักษาขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของสัตวแพทย์ว่าประเมินออกมาเป็นอย่างไร แบบไหน แล้วแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เช่น หากเกิดจากการติดเชื้อก็รักษาโรคติดเชื้อ หากเป็นภาวะของโรคเบาหวาน ก็ต้องควบคุมน้ำตาล การใช้ยาต่างๆ รวมถึงการปรับโภชนาการ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม เพราะโรคไตบางครั้งก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ต้องคอยประเมินผลเป็นระยะๆ ตามสัตวแพทย์ประจำตัวนัดหมาย

          มาถึงตอนนี้หมอขอเป็นกำลังใจในการดูแลสัตว์เลี้ยงที่มีโรคไตเป็นโรคประจำตัวเพราะว่าจะต้องดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องนะครับ!