ไลฟ์สไตล์

สัมผัสชีวิตหลังกำแพง

สัมผัสชีวิตหลังกำแพง

18 มิ.ย. 2562

ส่งต่อความรู้ด้านกฎหมายช่วยผู้ที่อยู่ปลายความยุติธรรม

        ด้วยเป้าหมายของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการผลิตบัณฑิตให้เป็นนักกฎหมายที่สามารถโลดแล่นในแวดวงนิติศาสตร์ระดับโลก บนพื้นฐานรากเหง้าความเป็นไทย (Global Lawyer) ดังนั้น นิสิตไม่เพียงจะเรียนรู้วิชาการด้านกฎหมายในห้องเรียน แต่ยังต้องรู้จักสังคม รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีแนวคิดเรื่องของการปลูกจิตสำนึก จิตสาธารณะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม สอดแทรกอยู่ในหลักสูตรวิชาการ กิจกรรมเสริมนอกหลักสูตรและกิจกรรมของนิสิตเอง โดยเล็งเห็นว่าการมีจิตสำนึกเพื่อสังคมเป็นเรื่องพื้นฐาน ที่ทุกคนควรมีในฐานะการเป็นพลเมืองของสังคม จึงเป็นที่มาของโครงการ “สัมผัสชีวิตหลังกำแพง” ชมรมนิติสังคมปริทรรศน์

สัมผัสชีวิตหลังกำแพง

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์

        ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ เผยว่า เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้กฎหมายจริงๆ นอกห้องเรียน จากความจริงในสังคมและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของกฎหมายเข้ากับปัญหาสังคมได้จริง และก่อนที่จะนำนิสิตเข้าไปสัมผัสชีวิตหลังกำแพง คณะฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมด้วยการให้ความรู้จากวิทยากรคณะจิตวิทยา จุฬาฯ เกี่ยวกับข้อปฏิบัติและแนวทางในการพูดคุยกับผู้ต้องขังหญิงที่ถูกต้อง อาทิ การวางตัว วิธีการพูดคุย การแทนตัวเอง การนั่งสัมภาษณ์ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของตัวเอง เป็นต้น

สัมผัสชีวิตหลังกำแพง

จัวรอง โจว-วชิรญาณ์ มานะศิลป์

        “เปียโน” วชิรญาณ์ มานะศิลป์ บัณฑิตหมาดๆ ตัวแทนนิสิตจากโครงการสัมผัสชีวิตหลังกำแพง ชมรมนิติสังคมปริทรรศน์ เผยว่า โครงการสัมผัสชีวิตหลังกำแพงเป็นความร่วมมือระหว่างคณะฯ และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งผลักดันเกี่ยวกับมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง กิจกรรมนี้ริเริ่มมาจากความต้องการของผู้บัญชาการเรือนจำที่อยากจะให้นิสิตได้เรียนรู้กฎหมายในเรือนจำและมอบความรู้ให้แก่พี่ๆ ผู้ต้องขังหญิง ซึ่งพวกเราได้ทำกิจกรรมตามแนวคิดกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ทั้ง 5 ขั้นตอน Empathize เข้าใจปัญหาผ่านการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์พี่ๆ ผู้ต้องขังหญิง Define ระบุความต้องการ สิ่งที่พี่ๆ อยากรู้ Ideate หาแนวทางแก้ปัญหา ด้วยการระดมความคิดและรับความรู้จากอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ Prototype พัฒนาต้นแบบ เปลี่ยนความคิดให้เป็นรูปร่าง ผ่านการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ สุดท้าย Test การทดสอบ การนำเสนอข้อมูลทางกฎหมายให้แก่พี่ๆ ผู้ต้องขังหญิง สิ่งที่พี่ๆ ต้องการรู้มากที่สุดในตอนนั้น คือ การพระราชทานอภัยโทษและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการอุทธรณ์และฎีกา

สัมผัสชีวิตหลังกำแพง

         "ก่อนเข้าไปทำกิจกรรม เปียโนไม่เคยมองเห็นคนกลุ่มนี้ รู้แต่ว่า คนทำผิดต้องเข้าคุก แต่ไม่เคยคิดว่าหลังจากเข้าคุกแล้วเราจะต้องทำอะไรต่อ แต่หลังจากจบกิจกรรม เปียโนร้องไห้เลยค่ะ เพราะรู้สึกตื้นตันใจ อิ่มเอมใจและภูมิใจมากๆ ที่เราซึ่งเป็นนิสิตที่เรียนกฎหมาย ได้ใช้สิ่งที่เราเรียนตอบแทนให้แก่คนที่อยู่ปลายความยุติธรรม เราได้ให้ความรู้กฎหมายที่เรามีแก่พี่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถเรียนรู้จากคนอื่นได้นอกจากทนายของเขาและสิ่งนั้นมีประโยชน์จริงๆ ถึงแม้เราจะให้ได้ในขอบเขตที่จำกัดที่นิสิตอย่างพวกเราสามารถทำได้ก็ตาม และสิ่งที่ได้อีกอย่าง คือ ความคิดที่ว่า การออกกฎหมายมาแล้ว บางทีเราก็จะลืมคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคม และทำให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น บางครั้งก็เป็นปัญหากฎหมาย แต่บางครั้งก็เป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นเพราะความไม่มีกฎหมาย เหมือนเป็นการมอง 2 มุม” ตัวแทนนิสิตจากโครงการสัมผัสชีวิตหลังกำแพง กล่าว

สัมผัสชีวิตหลังกำแพง

        "ทีน่า" จัวรอง โจว บัณฑิตหมาดๆ อีกหนึ่งตัวแทนนิสิตจากโครงการสัมผัสชีวิตหลังกำแพง ชมรมนิติสังคมปริทรรศน์ เสริมว่า ผลตอบรับที่ได้รับดีมากๆ เกินกว่าที่เราคิดไว้เยอะ พี่ๆ พร้อมที่จะให้ (ข้อมูล) และรับ (ความรู้ด้านกฎหมาย) จากเรา เช่นเดียวกันกับพวกเราที่พร้อมที่จะให้และรับจากพี่ๆ เช่นกัน พี่ๆ มีคำถามเยอะมาก ทำให้เรารู้สึกว่า พี่ๆ เขามีความสนใจ ตั้งใจที่จะทำกิจกรรมกับพวกเรา และพวกเราได้มีโอกาสใช้ความรู้ที่เรามีช่วยเหลือพี่ๆ ในกระบวนการยุติธรรมได้จริง ดีใจที่เราได้ดึงศักยภาพและความรู้กฎหมายที่เรามีตอบแทนสังคมได้จริงๆ แบบจับต้องได้
         "สิ่งที่ได้รับกลับมาเหนือความคาดหมายมากๆ เป็นโลกใหม่ที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยสัมผัส ขยายขบวนการความคิดของพวกเรามากขึ้น ทำให้เราเห็นภาพความสัมพันธ์ของกฎหมายกับผู้ต้องขัง เกิดความลึกซึ้งกับคำว่า กฎหมายมากกว่าเดิม เพราะกฎหมายสามารถเป็นตัวกำหนดชีวิตของคนที่อยู่ในเรือนจำ มากกว่าแค่สำคัญ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคน ไม่ใช่แค่เรื่องคนกับกฎหมาย แต่ยังขยายครอบคลุมไปถึงความเป็นคน ความเป็นมนุษย์อีกด้วย โครงการนี้สามารถตอบโจทย์ของเรือนจำที่อยากให้ผู้ต้องขังมีความรู้ด้านกฎหมาย ไม่รู้สึกเคว้งคว้างว่างเปล่าเพราะความไม่รู้  โครงการนี้จึงสามารถตอบโจทย์ได้อย่างครบถ้วนและสวยงามค่ะ"