เภสัชกรยุคใหม่ต้องมีความรู้มากกว่าเรื่องยา
หลักสูตร Complementary Medicines Education (CMEd) เสริมองค์ความรู้ให้กับเภสัชกรไทย
ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเชิงรุกมากขึ้น ทั้งการออกกำลังกาย การรับประทานวิตามิน เกลือแร่ สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เภสัชกรจึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทตามไปด้วย มหาวิทยาลัยหลายแห่งที่จัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับเภสัชศาสตร์ เริ่มมีการเสริมองค์ความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับวิตามิน เกลือแร่ สมุนไพรให้กับนักศึกษา แต่ยังเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก ดังนั้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถาบันแบลคมอร์ส จึงเข้ามามีบทบาทที่จะเสริมองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับเภสัชกรของไทย โดยเปิดหลักสูตร Complementary Medicines Education (CMEd) ขึ้น
ดร.ภญ.อโนมา เจริญทรัพย์
ดร.ภญ.อโนมา เจริญทรัพย์ ผู้จัดการด้านการศึกษา สถาบันแบลคมอร์ส ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า สถาบันฯ ถูกจัดตั้งขึ้น เป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่พัฒนาภาพรวมด้านสุขภาพของสังคมให้ดีขึ้น ผ่านทางการใช้โภชนเภสัชภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย โดยสถาบันฯจะเป็นแรงขับเคลื่อนด้านงานวิจัย การให้ความรู้ และให้คำแนะนำสำหรับการดูแลสุขภาพ พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ให้กับเภสัชกรและบุคลากรทางการแพทย์ ปัจจุบันสถาบันฯ ได้จัดตั้งขึ้นในหลายประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ไทย มาเลเซีย
บรรยากาศการในห้องเรียน
“ในประเทศไทย พบว่าในร้านจำหน่ายยามีสัดส่วนของวิตามิน เกลือแร่ สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เภสัชกรชุมชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในร้านยาซึ่งมีจำนวนประมาณ 10,000 คน มีความต้องการที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการสำรวจเกี่ยวกับความต้องการของเภสัชกรชุมชนทั่วประเทศ ถึงความสนใจที่จะเพิ่มความรู้เกี่ยวกับโภชนเภสัชภัณฑ์ ผลปรากฏว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มีความต้องการที่จะเรียนรู้ในเรื่องนี้ โดยระบุว่าผู้บริโภคมีการถามถึงผลิตภัณฑ์เสริมตลอดจนวิธีการการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโภชนาการหรือการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
บรรยากาศการในห้องเรียน
ดร.ภญ.อโนมา กล่าวต่อว่า เนื้อหาที่เภสัชกรไทยต้องการเรียนรู้ต่อเนื่อง มีลักษณะสอดคล้องกับโปรแกรมที่สถาบันฯ ได้วางหลักสูตร CMEd ไว้ จึงนำมาถ่ายทอดความรู้ โดยหลักสูตร แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ขั้นพื้นฐาน กลางและสูง โดยในขั้นพื้นฐาน เป็นการเรียนผ่านทางออนไลน์ 7 บทเรียน อาทิ ความรู้เกี่ยวกับโภชนเภสัชภัณฑ์ ความรู้เกี่ยวกับวิตามิน เกลือแร่ สมุนไพร การใช้โภชนเภสัชภัณฑ์อย่างปลอดภัย เป็นต้น หลังจากนั้นจะเป็นการเข้าอบรมในชั้นเรียน ด้วยรูปแบบพิเศษโดยการใช้กรณีศึกษา และองค์ความรู้ทั้งหมดมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติ ซึ่งเภสัชกรที่ผ่านในระดับมาสเตอร์คลาส สามารถสะสมหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ เพื่อต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในการประกอบอาชีพ และการอบรมระดับมาสเตอร์คลาสถือเป็นจุดเด่นของหลักสูตร เพราะจะมีการหยิบยกกรณีศึกษาของผู้รับบริการจริงที่อาจจะมีการใช้ยาแผนปัจจุบันร่วมด้วย
“ทั้งนี้ สถาบันฯ มีเป้าหมายที่จะให้หลักสูตร CMEd มีส่วนในการช่วยยกระดับคุณภาพของเภสัชกรชุมชนไม่น้อยกว่า 3,000 คนให้มีความรู้ในเรื่องนี้อย่างแท้จริง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เข้ารับบริการ ว่าเภสัชกรที่ผ่านมาอบรมหลักสูตรดังกล่าวสามารถให้ความรู้ การใช้โภชนเภสัชภัณฑ์อย่างถูกต้องและถูกวิธี” ดร.ภญ.อโนมา กล่าวปิดท้าย