โรคในฤดูฝน
คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์ โดย-น.สพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญหรือหมอเล็ก [email protected]
สวัสดีครับ ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนกันแล้วนะครับ เรามาระวังสัตว์เลี้ยงของเรากันนะครับ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาจะได้ไม่ต้องตามแก้กันครับ ป้องกันดีกว่าแก้ไข
โรคยอดฮิตที่มักพบบ่อยในฤดูฝนคือ 1. โรคพยาธิในเม็ดเลือด 2. โรคพยาธิหนอนหัวใจ 3. โรคทางเดินหายใจ 4. โรคผิวหนัง 5. โรคฉี่หนู ครับ คุ้นๆ หูกันทุกโรคเลยใช่มั้ยครับ หลายโรคก็พบได้ทุกฤดูแต่ในฤดูฝนเราจะพบโรคเหล่านี้มากกว่าฤดูอื่นครับ
1. โรคพยาธิเม็ดเลือด ปัจจุบันคนที่เลี้ยงสุนัขจะรู้จักกันมากขึ้นถึงอันตรายของเห็บซึ่งเป็นสาเหตุของโรค ซึ่งเห็บที่มีเชื้อนี้จะเป็นพาหะของโรคและเชื้อก็มีหลายชนิด อาการของสุนัขที่ผู้เลี้ยงจะสังเกตได้คือ สุนัขจะซึมไม่ร่าเริงสดใส เบื่ออาหาร มีไข้ หรือในบางรายอาจจะมีเหงือกซีด ผิวซีด ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ ในบางรายที่มีอาการมาก เช่น เลือดกำเดาไหล ขาหลังเป็นอัมพาต หรือมีเลือดออกตามผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ ซึ่งสัตวแพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อวินิจฉัย จากนั้นจะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและยาบำรุงเลือด ซึ่งในการดูแลผู้เลี้ยงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัดครับ
2. โรคพยาธิหนอนหัวใจ มียุงเป็นพาหะของโรคและเป็นโรคที่รู้จักกันมานานแล้วครับ แต่บางท่านยังสับสนคิดว่าเป็นโรคเดียวกับพยาธิในเม็ดเลือดที่มีเห็บเป็นพาหะของโรค หมอขอย้ำนะครับว่าเป็นคนละโรคกันครับ โดยโรคพยาธิหนอนหัวใจมียุงเป็นพาหะ โดยยุงจะพาตัวอ่อนเข้าสู่กระแสเลือดและไปพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยที่หัวใจ และระหว่างนั้นก็จะปล่อยตัวอ่อนออกมาในกระแสเลือดได้นานประมาณ 5 ปีเลย
เมื่อยุงตัวเมียไปกินเลือดสุนัขที่มีตัวอ่อนก็จะนำเชื้อนี้ไปแพร่ให้กับสุนัขตัวอื่นๆ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องป้องกันไม่ให้สุนัขถูกยุงกัด อาการที่มักแสดงออกคือซึม เหนื่อยง่าย หายใจหอบ อ่อนเพลีย ไอแห้งๆ ในบางตัวอาจจะมีเลือดออก ต่อมาจะมีอาการบวมน้ำและท้องมานและเสียชีวิต ซึ่งอาการจะมากหรือน้อยแตกต่างกันไป จึงควรฉีดยาป้องกันควบคู่ไปกับการดูแลไม่ให้สุนัขถูกยุงกัด และหากพบอาการผิดปกติให้รีบพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์
3. โรคทางเดินหายใจที่พบบ่อยเช่น โรคหวัด โรคหลอดลมอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อกันง่ายมากครับ เพราะฉะนั้นถ้าตัวหนึ่งเป็นควรรีบแยกออกจากตัวอื่นๆ โดยเฉพาะในสุนัขที่อายุมาก ลูกสุนัข และสุนัขที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง สุนัขจะไอเหมือนมีอะไรติดคอหรืออาจจะมีตาอักเสบ มีน้ำมูกใสถึงข้นเหนียว สามารถหายได้เองใน 5 – 7 วัน แต่ถ้าเป็นรุนแรงปอดบวมหายใจลำบากอาจจะทำให้เสียชีวิตได้
4. โรคผิวหนังมักมาจากความชื้น ก่อให้เกิดแบคทีเรียและเชื้อรา ทำให้คันเป็นผื่นแดง เป็นตุ่มแดง ตุ่มหนอง ขนร่วง การรักษามีทั้งกินยา ฉีดยา ทายา ใช้แชมพูยา ต้องใช้เวลานานผู้เลี้ยงจึงต้องมีวินัยในการดูแลและต้องหมั่นดูแลความสะอาดอย่าให้ผิวหนังเปียกชื้น
และ5. โรคฉี่หนู เป็นโรคที่รูจักกันดีเช่นกันครับ เชื้อมักจะอยู่ในที่ที่มีน้ำท่วมขัง เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีบาดแผล เยื่อเมือกที่ตา จมูก ปาก หรือถ้ากัดหนูหรือซากหนูที่มีเชื้อ เพราะเชื้ออยู่ในท่อไตได้นาน อาการที่พบคือ ซึม อ่อนแรง ท้องเสีย อาเจียน กินน้ำมาก เจจ็บปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
ดังนั้นฝนนี้คนที่เลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ ควรหันมาดูความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และหาทางป้องกันแต่เนิ่นๆ นะครับ แต่ถ้าเกิดปัญหาแล้วก็อย่าตกใจนะครับควรพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อรักษา
คุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ของเจ้าของนะครับ