เอเอ็มจี ไดรฟ์วิ่ง อะคาเดมีเพิ่มทักษะรับมือรถแรง
เอเอ็มจี ไดรฟ์วิ่ง อะคาเดมีเพิ่มทักษะรับมือรถแรง คอลัมน์... ยานยนต์
เอเอ็มจีได้รับความนิยมมากขึ้น หลังจากที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ เริ่มต้นทำตลาดจริงจังตั้งแต่ปี 2560 จากนั้นก็ส่งรถรุ่นเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่องจำนวนมาก
เอเอ็มจี เป็นรถสมรรถนะสูง ซึ่งผู้ขับขี่ก็ควรจะต้องมีทักษะที่เพียงพอ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ การฝึกอบรม และขณะเดียวกันหากมองในเชิงการตลาด การจัดกิจกรรมอบรมขับขี่ก็อาจจะได้ลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มเติม หลังจากที่มีโอกาสได้สัมผัสกับรถตัวจริง
ในเวทีโลก เมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็มีกิจกรรมสำหรับ เอเอ็มจี รวมถึงกิจกรรมที่เรียกว่า “เอเอ็มจี ไดรฟ์วิ่ง อะคาเดมี” หรือ เอดีเอ ซึ่งเริ่มต้นในยุโรปในปี 2550 กับรูปแบบการเลือกเส้นทางสวยๆ สำหรับการขับขี่รถตระกูลเอเอ็มจีกับลูกค้า ก่อนที่จะปรับมาเป็นการฝึกอบรมทักษะการขับขี่ควบคุมรถ
ปัจจุบัน เอเอ็มจี มีผู้ที่ผ่านการอบรมรวม 1.4 หมื่นคนใน 15 ประเทศ และล่าสุดไทยเป็นประเทศที่ 16 ที่จัดกิจกรรมนี้ และเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“เอเอ็มจี ไดรฟ์วิ่ง อะคาเดมี” เป็นการฝึกอบรมเพื่อเรียนรู้เทคนิคการขับขี่แบบเต็มสมรรถนะ โดยทีมผู้ฝึกสอนมืออาชีพจากเมอร์เซเดส-เอเอ็มจี ดีกรีแชมป์การแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตรายการระดับโลก และยังมีแบรนด์ แอมบาสเดอร์ คือ เบิร์น ชไนเดอร์ นักแข่งรถสัญชาติเยอรมัน เจ้าของตำแหน่งแชมป์ DTM 5 สมัย และแชมป์ 2 สมัย จากสนามนูร์เบอร์กริง มาร่วมให้คำแนะนำอีกด้วย
ในไทย เอดีเอ จัดขึ้นที่สนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต บุรีรัมย์ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมคือกลุ่มลูกค้าและสื่อมวลชนบางส่วน โดยมีรถภายใต้แบรนด์เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี ครบทั้งพอร์ตโฟลิโอรวม 14 รุ่น รวมถึง “เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี ซี63 คูเป้” รุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาร่วมด้วย
เอดีเอแบ่งการทดสอบออกเป็น 6 สถานี ได้แก่ Drag Race, Brake & Lane Change, Cornering Exercise, Car Control, Lead & Follow และ Auto-X Practice & Competition
Brake & Lane Change เป็นการทดสอบทั้งรถและคน คือ การทำงานของรถในการที่ต้องเบรกแบบเต็มแรง พร้อมหักหลบสิ่่งกีดขวาง ส่วนคนก็คือทดสอบการตอบสนองเพราะสถานีนี้เมื่อรถใกล้ถึงสิ่งกีดขวางที่จะต้องหักหลบ จะมีสัญญาณไฟซึ่งติดตั้งไว้ 2 ดวงขึ้นมา ถ้าดวงซ้ายติด ก็หมายความจะต้องหลบไปทางซ้าย ถ้าดวงขวาติดก็ให้หักหลบได้ทางขวา
เป็นการทดสอบที่ความเร็ว 100 กม./ชม. 110 กม./ชม. และ 120 กม./ชม.
Car Control เป็นการทดสอบความสามารถในการควบคุมรถในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน คือ การมีตัวช่วยอย่าง ระบบอีเอสพี และการปิดระบบ โดยทีมงานจำลองให้รถเสียหลักง่าย และควบคุมยากเป็นพิเศษ ด้วยยางพิเศษที่ด้านหลัง เป็นพลาสติกแข็งที่แทบจะไม่มีแรงเสียดทานกับพื้นถนนเลย ดังนั้นผู้ขับต้องพยายามเลี้ยงรถไปตามเส้นทางต่างๆ ให้ได้ ด้วยคันเร่งและพวงมาลัย และยังได้รู้ถึงความแตกต่างของรถเมื่อเปิดและปิด อีเอสพี เมื่ออยู่บนพื้นที่ลื่น ซึ่งหากเปิดระบบไว้จะควบคุมรถได้ง่ายกว่าอย่างชัดเจน
Drag Race การทดสอบสมรรถนะของรถของเครื่องยนต์โดยตรง ด้วยการออกตัวแบบรุนแรง และกดคันเร่งต่อเนื่องไปสัก 300 เมตร ก่อนจะเบรกแบบรุนแรงให้รถหยุด ซึ่งรถแต่ละรุ่นก็จะให้ความรู้สึกที่ต่างกันไป
Cornering Exercise เป็นการทดสอบการเข้าโค้ง โดยจะใช้พื้นที่โค้งในสนามที่มีความกว้างแตกต่างกันไป ทำให้ผู้ทดสอบสามารถฝึกทักษะที่จำเป็นในการขับขี่ ได้แก่ การเบรก การบังคับทิศทางรถ และการมองเห็นได้อย่างเต็มที่ โดยผู้ฝึกสอนจะเป็นผู้นำขบวน ทำให้ผู้ทดสอบได้ฝึกการขับขี่ในเส้นทางการแข่งรถจริงๆพร้อมทั้งยังได้เรียนรู้เทคนิคการขับขี่ของนักแข่งรถอีกด้วย
Lead & Follow การขับขี่ในสนาามแข่งรถแบบ เรซไลน์ ด้วยการให้ขบวนรถซึ่งมี 4-5 คัน ขับตามรถคันนำที่เป็นนักแข่งมืออาชีพ แบบเกาะกลุ่ม ห่างกันไปเกิน 3 ช่วงคันรถ เพื่อดูว่าจะต้องเบรกตรงไหน เริ่มเลี้ยวตรงไหน เร่งเครื่องออกจากโค้งช่วงไหน
Auto-X Practice & Competition เป็นการรวบรวมทักษะจากการอบรมในสถานีต่างๆ มาใช้ในสถานีนี้ ในรูปแบบการแข่งขันจิมคาน่า โดยจะต้องควบคุมรถไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ ที่คดโค้งไปมา เลี้ยวเป็นวงกลม และจะต้องเบรกให้หยุดสนิทในพื้นที่ที่กำหนดเอาไว้ โดยเพิ่มความท้าทายคือการจับเวลาหาผู้ชนะ
หากประเมินกิจกรรมทั้งหมด รถตอบสนองอารมณ์ได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเร่ง หรือความเร็วสูงสุดที่ทำได้มากกว่า 200 กม./ชม. ความคมในการเข้าออกโค้ง การทรงตัวที่ดี ทำให้การขับขี่ด้วยความเร็วสูงทำได้ง่าย
การอบรม เรียนรู้ทักษะเป็นเรื่องที่ดี และควรทำ และไม่เฉพาะกับ เอเอจี แต่กับรถยนต์ทั่วไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากใครมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ ก็ไม่ควรทิ้งโอกาสนั้นไปครับ