รู้จักกับ “ลิบรา” อีกครั้ง
จากเวทีนี้ ทำให้รู้จัก ‘ลิบรา’ และฝันอันยิ่งใหญ่ของเฟซบุ๊ก ลึกซึ้งยิ่งขึ้นผ่านมุมมองของ ดร.ภูมิ ภูมิรัตน์ ที่ปรึกษา ก.ล.ต. ซึ่งเปรียบเทียบว่า การจัดตั้งสมาคมลิบรา (Libra Associations) โดยร่วมกับพันธมิตรผู้ก่อตั้ง 28 รายของสกุลเงินดิจิทัลนี้ เพื่อให้มีบทบาทเสมือนเป็นธนาคารกลาง ทำหน้าที่กำกับดูแลมูลค่าสกุลเงิน “ลิบรา” นั่นเอง
ซึ่งแผนการเก็บเงินสำรอง 5-6 สกุลหลักไว้เป็นตะกร้าเงิน ทำให้คุณสมบัติของราคาค่อนข้างคงที่ เป็นไปตามสินทรัพย์ที่มาหนุนหลังอยู่ ซึ่งนอกเหนือจากเงินสำรอง ยังอาจรวมไปถึงพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีนโยบายทางการเงินเข้มเข็ง และซื้อขายได้ง่ายในตลาดอีกด้วย
ส่วนเงื่อนไขที่กำหนดไว้สำหรับพันธมิตรที่จะเปิดรับเพิ่มจาก 28 รายให้ครบ 100 รายนั้น อาจเป็นข้อจำกัดของบริษัทไทยที่สนใจเข้าร่วม เนื่องจากนอกเหนือจากคุณสมบัติที่ว่าต้องมีขนาด Market Cap ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ยังมีข้อที่ระบุว่า การทำธุรกิจต้องเข้าถึงลูกค้าได้ 20 ล้านคนทั่วโลก และติดอันดับ Fortune 500 หรือท็อป 100 ในอุตสาหกรรมของตัวเองในระดับโลก ซึ่งผู้ที่จะได้รับการพิจารณาต้องผ่านคุณสมบัติอย่างน้อย 2 ใน 3 ข้อ
“ผู้ที่ได้เข้าร่วมสมาคมลิบรา จะได้เข้าไปมีบทบาทในการบริหารจัดการเงินสำรอง และร่วมจัดการ Libra Investment Token ที่จะใช้เป็นกลไกควบคุมราคาเหรียญลิบรา ซึ่งมีกำหนดจะออกสู่ตลาดภายในครึ่งแรกของปี 2020”
ที่ปรึกษา ก.ล.ต. บอกด้วยว่า ข้อมูลเกี่ยวกับลิบราเพิ่มเติม คงจะทยอยมีออกมาเรื่อยๆ เพราะเฟซบุ๊ก จริงจังกับโครงการนี้ และจัดตั้งทีมงานเข้าไปเดินสายคุยกับรัฐบาลในหลายประเทศ
เพราะเฟซบุ๊กใหญ่(เกินไป) ลิบราจึงน่ากลัว
ปัจจุบันในแวดวงคนเล่นเงินดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี่) ต่างรับรู้กันว่ามีสกุลเงินดิจิทัลที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 2,000 สกุลเงิน ดังนั้น หลายคนจึงอาจแปลกใจว่า “ทำไม” การที่เฟซบุ๊ก ประกาศส่ง “ลิบรา” ลงสนามตลาดเงินดิจิทัลจึงสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก
คุณฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกว่า ปัจจุบันประชากรทั้งโลก 8 พันล้านคน มีอยู่ 4 พันล้านคนเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
และในจำนวนดังกล่าวครึ่งหนึ่งเป็นผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ดังนั้น ถ้าจะมีใครที่ทำอะไรแล้ว สามารถสร้างผลกระทบได้ทั่วโลกก็ย่อมจะเป็น “เฟซบุ๊ก” นั่นเอง
โดยเฉพาะเมื่อผนวกเข้ากับคำประกาศเป้าหมายสำคัญของลิบรา ที่โฟกัสไปด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน การชำระเงิน และการโอนเงินข้ามประเทศ เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศที่ส่งเงินออกนอกประเทศมากที่สุดคือ สหรัฐ และประเทศที่เป็นขารับการโอนเงินรายหลักๆ ได้แก่ อินเดีย จีน เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ ประเทศเหล่านี้ล้วนเป็น Fastest growing FB อยู่แล้ว
นอกจากนี้ มีข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันปริมาณการโอนเงินข้ามประเทศ(ของรายย่อย) อยู่ในหลัก 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ต้นทุนการโอนอยู่ที่ 6% ดังนั้นถ้าลิบราเข้ามา และบอกว่าไม่มีค่าธรรมเนียมการโอน ธนาคารจะได้รับผลกระทบแน่นอน
อีกทั้ง ด้วยจำนวนพันธมิตรที่เข้ามาร่วมอยู่ในสมาคมลิบรา และเงินทุนสำรองที่แต่ละรายต้องใส่เข้ามา จะส่งผลให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งเงินสำรอง (Reserve Pool) ที่ใหญ่สุดของโลก
เปิดเบื้องลึก “ทำไม” ธุรกิจใหญ่อยากเข้าร่วม
กูรูหลายรายบนเวทีนี้ ยังร่วมให้มุมมองถึงเหตุผลที่พันธมิตรผู้ก่อตั้งสมาคมลิบรา ล้วนแต่เป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่นับฐานลูกค้ารวมๆ กันแล้วก็กวาดประชากรโลกไว้ในเครือข่ายแล้วถึงครึ่งโลก เพราะนอกเหนือจากการได้เข้ามามีส่วนร่วมในแหล่งเงินสำรองแห่งใหญ่นี้แล้ว ยังจะทำให้บริษัทเหล่านั้นได้ “ข้อมูล” อีกด้วย
“ไม่จำเป็นต้องได้ชื่อผู้ใช้งาน แต่ข้อมูลการทางการเงิน (Financial Data) นั่นแหละ คือข้อมูลการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ข้อมูลส่วนนี้คือจุดสำคัญมาก สำหรับผู้ที่จะเข้ามาร่วมในสมาคมลิบรา”
นอกจากนี้ ในอีกแง่หนึ่งก็คือ กลยุทธ์การขยายฐานผู้ใช้บริการของเฟซบุ๊ก ปัจจุบันผู้ใช้แอพฯ เฟซบุ๊ก 2.3 พันล้านคนทั่วโลก ยังไม่รวมอินสตาแกรม และ WhatsApp ซึ่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของเฟซบุ๊กเช่นกัน จึงมองว่านี่คือ ก้าวใหม่ของเฟซบุ๊ก ในการเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ ที่เป็น Next Billion Users
ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็อยู่ในแถบเอเชีย และแอฟริกา คนเหล่านี้มีมือถือใช้แล้ว แต่ยังไม่มีบัญชีธนาคาร “การเกิดขึ้นของลิบรา จะช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ และยังทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนของธนาคารทั่วไป และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม”
หันมามองที่ประเทศไทย มีประชากรไทย 40 ล้านคนอยู่บนเฟซบุ๊ก เป็นตลาดใหญ่อันดับ 8 ของเฟซบุ๊ก ซึ่งในมุมมองผู้บริหารธนาคารรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ถ้าจับคนกลุ่มนี้มาเปลี่ยนแปลงจาก Digital Internet เป็นการ access (การเข้าถึง) ให้ผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินผ่านธนาคาร สามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือที่ใช้แอพฯ เฟซบุ๊กอยู่แล้วได้
และถ้าเงินหมุนเวียนระดับวินาที จะทำให้เกิดพลวัตรทางเศรษฐกิจโตขึ้นถึง 2-3 เท่าตัว และไม่จำกัดเฉพาะประเทศไทย แต่ครอบคลุมระดับทั่วโลก เพราะโซเชียลมีเดีย อยู่กับวิถีชีวิตคนมากขึ้นเรื่อยๆ