สายกินสัมผัสอาหารถิ่นรสเด็ด "เชฟชุมชน"
30 ร้านเชฟชุมชน พร้อมเสิร์ฟองค์ความรู้ในการประกอบอาหารไทยและธุรกิจร้านอาหารในชุมชน
จากความสำเร็จของโครงการเชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืนในปี 2561 โดยความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี ร่วมกันตอกย้ำนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่มุ่งส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารให้แก่ประเทศไทย วันนี้ 30 ร้านเชฟชุมชนในทุกภาคทั่วประเทศไทย ได้จัดตั้งสำเร็จแล้ว ซึ่งนอกจากจะได้องค์ความรู้ในการประกอบอาหารไทยและธุรกิจร้านอาหารในชุมชน ยังได้เครือข่ายสำหรับแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในชุมชนระหว่างกัน โดยพร้อมให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว
แกงไก่กะลา
สำหรับ “เส้นทางท่องเที่ยวเชฟชุมชน” (Local Chef Journey) ทั้ง 30 ร้านมีอยู่ตามภูมิภาคทั่วไทย แต่วันนี้คงจะยกมาไม่ได้ทั้งหมด จึงขอแนะนำเฉพาะไฮไลท์ของแต่ละภาค โดยเริ่มความอร่อยกันที่ “ภาคตะวันออก”กับ เชฟชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี เมนูอาหารถิ่น “แกงไก่กะลา” เนื่องจากชาวบ้านนิยมทำสวนมะพร้าว และนำมะพร้าวมาแปรรูปเป็นอาหารและสินค้าต่างๆ อย่างลูกมะพร้าวอ่อนๆ (ที่กะลายังไม่เเข็ง) ก็นำมาปอกเปลือก และแซะเอาแต่ส่วนเนื้อกะลาออกมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร...รสชาติจานนี้หนักไปทางเผ็ดร้อน กินคู่กับข้าวสวยร้อนๆ เรียกเหงื่อได้ง่ายๆ ส่วนรสชาติกะลามะพร้าวเป็นอย่างไร ให้นึกถึงหน่อไม้และยอดมะพร้าวอ่อนนั่นล่ะ
ข้าวระกำขยำปู
อีกหนึ่งจานเด็ดในเขตภาคตะวันออก จาก เชฟชุมชนรักษ์เขาบายศรี จ.จันทบุรี เมนูอาหารถิ่น “ข้าวระกำขยำปู” เป็นอาหารพื้นบ้าน มีระกำเป็นวัตถุดิบชูโรง ถือเป็นเมนูที่ขึ้นชื่อของที่ชุมชนเขาบายศรี มีไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว ถ้าใครอยากชิมต้องมาชุมชนรักษ์เขาบายศรีเท่านั้น ข้าวสวยร้อนๆ คลุกเคล้ากับน้ำจิ้มระกำรสแซบ รับประทานคู่ไข่ต้มยางมะตูม กุ้งลวก หมึกลวก และเนื้อก้ามปู...เด็ด!!!
หลนปลาร้าไทยพวน
กลับมาที่ “ภาคกลาง” มีสองชุมชนที่อยากแนะนำ ได้แก่ เชฟชุมชนไทยพวนบางน้ำเชี่ยว จ.สิงห์บุรี เมนูอาหารถิ่น “หลนปลาร้าไทยพวน” เพราะอาหารเกือบทุกจานของชาวไทยพวนต้องมีปลาร้าเป็นเครื่องปรุงรส สำหรับหลนปลาร้าไทยพวน แม้หน้าตาจะละม้ายคล้ายกับปลาร้าทรงเครื่อง แต่มีความพิเศษอยู่ตรงที่ใช้ “ปลาร้าข้าวคั่วปลาตะเพียน” และมีปลาสดอย่าง ปลาลึงค์ ซึ่งเนื้อของปลามีความนุ่มและมัน เมื่อปรุงจนได้รสเสิร์ฟคู่กับผักสดหรือผักสุก...เปิบลืมอิ่มไปเลย แถมอีกหนึ่งจานประจำท้องถิ่นบ้านไทยพวน “ส้มหมู” หน้าตารสชาติคล้ายแหนมในปัจจุบัน แต่ “ส้มหมู” ปรุงด้วยเกลือกับข้าวสุกและกระเทียมเท่านั้น เมื่อนำส่วนผสมมานวดให้เข้ากันแล้วหมักทิ้งไว้สองวัน เวลาจะรับประทานก็นำมาทอดหรือคั่ว เป็นอีกหนึ่งจานคู่สำรับของชาวไทยพวน
แกงหัวโหนด
เชฟชุมชนวิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลถ้ำรงค์ จ.เพชรบุรี เมนูอาหารถิ่น “แกงหัวโหนด” นับเป็นอาหารพื้นที่ชุมชนที่มีมาแต่โบราณไว้คอยต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง หรืองานบุญ เพราะต้องใช้แรงงานเยอะ พ่อบ้านไปเก็บลูกตาล แม่บ้านขูดมะพร้าว คั้นกะทิ ตำเครื่องแกง จะเรียกว่าเป็นแกงสามัคคีก็ได้...จานนี้จะรับประทานกับข้าวสวยหรือขนมจีนก็อร่อยพอกัน
ข้าวเปิ๊บ
ก่อนจะเข้าสู่เขตภาคเหนือขอแวะ ชุนชนบ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย เพื่อลิ้มรส “ข้าวเปิ๊บ” หน้าตามีความคล้ายก๋วยเตี๋ยว แต่วิธีทำกลับคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ คือใช้น้ำแป้งละเลงบนผ้าที่ขึงไว้บนปากหม้อพอแป้งสุกได้ที่จึงใส่ผักพื้นบ้านซึ่งหาได้จากในชุมชน อาทิ ตำลึง ผักบุ้ง ฯลฯ และวุ้นเส้น ปิดฝานึ่งอีกครั้งรอจนผักสุกแล้วตักใส่ถ้วยราดด้วยน้ำซุป แล้วท็อปปิ้งด้วยไข่ดาว ซึ่งตอกไข่ลงบนผ้าขาวบางแล้วนึ่งด้วยวิธีเดียวกับแผ่นแป้ง...จะเรียกว่าเป็นอาหารจานสุขภาพก็ว่าได้
แกงฮังเลลำไยชมพู
ขยับขึ้นไปที่ “ภาคเหนือ” มุ่งหน้าไปที่ ชุมชนบ้านสวนนมสด จ.ลำพูน มีลำไยสีชมพูเป็นแม่เหล็กดึงนักชิมเข้าไปสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น นอกจากจะได้ชิมลำไยหวานกรอบสดๆ จากต้นแล้ว ชาวบ้านในชุมชุนยังนำมาแปรรูปเป็นอาหารคาวหวานอย่าง แกงฮังเลลำไยชมพู, ขนมจ๊อกลำไย และ น้ำพริกเผาลำไย เป็นต้น ไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนอีกด้วย
อั่วปลาดุก
เพื่อไม่ให้เสียเวลาลัดฟ้าไปที่ "ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ทันทีที่เปิดประตูสู่อีสาน ณ ชุมขนบ้านบุไทร จ.นครราชสีมา เขามีเมนูอาหารถิ่น “แหนมเห็ดนางฟ้า” ไว้คอยท่าเหล่าฟู้ดดี้มาให้กินแกล้มกับผักซึ่งปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ แซบไปอีกแบบหนึ่ง นอกจากนี้ที่ ชุมชนเผ่าไทญ้อ จ.นครพนม ก็มีอาหารถิ่นเด็ดอย่าง “อั่วปลาดุก” ซึ่งปลาดุกนั้นชาวบ้านรับประกันไม่มีกลิ่นสาบเพราะเลี้ยงแบบน้ำไหลในท้องนาแบบธรรมชาติ และ “หมกจ๊อ” ซึ่งถือว่าเป็นจานที่ขาดไม่ได้ในสำรับข้าว ทำจากเนื้อปลาตอง (ปลากราย) หรือปลาสลาด มาตำคลุกเคล้าผสมเครื่องปรุง ห่อด้วยผักม้วนแล้วนำไปนึ่ง...ไว้รอท่าเช่นกัน
เคยฉลู
ปิดท้ายความแซบตามแบบฉบับเชฟชุมชนที่ “ภาคใต้” ใน ชุมชนบ้านท่าข้ามควาย จ.สตูล กับอาหารประจำท้องถิ่น “เคยฉลู” เป็นหลักการถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้รับประทานในระยะยาวเช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่นๆ ด้วยการนำกุ้งเคยดอง มาคลุกเคล้ากับไข่ เนื้อปู กุ้ง ตะไคร้ พริกสด หอมแดง ใบมะกรูด แล้วนำไปนึ่งจนสุกจะได้รสชาติหวาน มัน เค็ม ได้กินคู่กับข้าวร้อนๆ...หรอยแรงนิ!!! นอกจากนี้ที่ วิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 จ.ยะลา ยังมีอาหารถิ่น ไก่เบตง, หน่อไม้ยัดไส้ และ ปลาจีนนึ่งซีอิ๊ว หากได้ไปเยือนแล้วต้องไม่พลาดชิม
ต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเชฟชุมชนทั้ง 30 แห่งได้ทาง www.localchefthailand.com / www.facebook.com/localchefthailand