คุณภาพอาหารกลางวันจัดการได้ "ผู้บริหาร"โรงเรียนต้องตรวจสอบ
โดย... -คุณภาพชีวิต [email protected] -
งบประมาณที่จัดสรรเป็นค่าอาหารกลางวันนักเรียน รายหัวละ 20 บาทนั้น เพียงพอหรือไม่ และสามารถบริหารจัดการเพื่อให้เด็กได้รับประทานอาหารดีมีคุณภาพ ปลอดภัย มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน หรือไม่ ทั้งหมดนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ “ผู้บริหารโรงเรียน” ต้องบริหารจัดการ ซึ่งมีหลายโรงเรียนที่สามารถดำเนินการได้
ในเรื่องนี้ ฉัฐนันท์ พุ่มเรือง ผู้อำนวยการโรงเรียนสวัสดีวิทยา สังกัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) อธิบายว่า การบริหารจัดการอาหารกลางวันนักเรียนในโรงเรียนสวัสดีวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีเด็กนักเรียน 724 คน สอนตั้งแต่อนุบาล ถึงชั้น ป.6 ได้ใช้ระบบการจัดจ้างให้คนนอกมาทำอาหารให้เด็กนักเรียน
ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎระเบียบของโรงเรียนในสังกัด กทม. ที่เปิดให้มีการจัดซื้อจัดจ้างบุคคลภายนอกเข้ามารับเหมาทำอาหารให้โรงเรียน ซึ่งได้มีการวางระบบไว้อย่างรัดกุม ผู้จะเข้ามารับเหมาทำอาหารให้โรงเรียนต้องผ่านการประกวดราคาการจ้างเหมา (ทีโออาร์) ที่โรงเรียนกำหนด และต้องทำการประกวดราคาทุกเดือน แม้จะเป็นผู้รับจ้างรายเดิมก็ตาม และผู้สัมผัสอาหารต้องได้รับการอบรมมีใบรับรอง หลังผ่านการประกวดราคาแล้ว ผู้รับจ้างจะรับเงินค่าจ้างโดยตรงจากสำนักงานเขตที่โรงเรียนสังกัดอยู่ โรงเรียนมีหน้าที่คอยตรวจสอบคุณภาพ และทำเอกสารให้ผู้รับจ้างใช้เบิกเงิน โดยโรงเรียนในสังกัด กทม.จะได้รับงบประมาณอาหารกลางวัน เป็นงบจากรัฐบาล 20 บาทต่อหัว และได้รับงบจาก กทม. 10 บาทต่อหัว รวม 30 บาทต่อหัว เพื่อจัดทำรวม 2 มื้อ คือ อาหารเช้า และอาหารกลางวัน ให้เด็กนักเรียนในโรงเรียน
ผอ.โรงเรียนสวัสดีวิทยา กล่าวว่า ระบบการจัดการที่ กทม.ให้ผู้รับจ้างรับเงินโดยตรงจากสำนักงานเขต โรงเรียนไม่ได้จับเงิน แต่มีหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งที่โรงเรียนได้จัดครูตรวจสอบทุกวัน ขณะเดียวกันก็มีคณะกรรมการบริหารซึ่งเป็นผู้ปกครองหมุนเวียนเข้าร่วมตรวจสอบด้วยทุกเช้า และหลังจากพ่อครัวทำอาหารเสร็จก็จะมีการถ่ายรูปเมนูอาหารทุกมื้อส่งเข้ากลุ่มไลน์ของสำนักงานเขต เพื่อรายงานตรงต่อหัวหน้าฝ่ายการศึกษาของเขต แล้วทางหัวหน้าก็ส่งต่อให้แก่ผู้ตรวจการอีกทีหนึ่ง ซึ่งการทำงานจะเป็นเช่นนี้ทุกวัน
นอกจากนั้น ก็มีการสุ่มตรวจจากผู้บริหาร เช่น ผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต สำนักอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อตรวจสอบเรื่องมาตรฐานและคุณภาพความสะอาด ซึ่งมีทั้งที่มาโดยแจ้งล่วงหน้าและไม่แจ้งล่วงหน้าเพื่อเป็นการสุ่มตรวจ
“โดยส่วนตัวคิดว่า ถ้าเป็นในระดับเบื้องต้น ผู้บริหารโรงเรียนคือ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบให้เด็กได้รับประทานอาหารดีมีคุณค่าทางสารอาหารครบ เพราะเราอยู่กับเด็ก ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี ดิฉันมั่นใจว่า งบประมาณที่ได้รับมาเพียงพอต่อการทำอาหารกลางวันให้เด็กรับประทานได้อย่างมีคุณภาพแน่นอนค่ะ" ผอ.ฉัฐนันท์ กล่าว
ขณะที่ นิทัศน์ รักไทย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้างบางกะปิ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ในสังกัด กทม. สอนตั้งแต่อนุบาล ถึง ป.6 แต่มีนักเรียนมากถึง 3,100 คน กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ได้ใช้ระบบการจัดจ้างเหมา (ทีโออาร์) เพื่อให้คนภายนอกมาทำอาหารให้นักเรียนเช่นกัน เนื่องจากเป็นระบบของ กทม. ดังนั้น ทุกโรงเรียนจะใช้มาตรฐานเดียวกันหมด
เนื่องจากทางโรงเรียนเป็นต้นน้ำ ดังนั้นการร่างทีโออาร์เพื่อการจ้างต้องชัดเจน มีคณะกรรมการตรวจสอบทุกขั้นตอน มีครูอยู่ตลอด นักเรียนต้องได้อาหารครบ 5 หมู่ สะอาด และได้รับประทานจนอิ่ม เพราะที่โรงเรียนจะติดไว้เลยว่า “ทานไม่อิ่ม เติมไม่อั้น” มีครูโภชนาการออกเมนูที่เด็กชอบ แล้วสอดแทรกผักเข้าไป พร้อมตรวจสอบการผลิตอาหาร มีผู้ปกครองตรวจสอบคุณภาพ มีครูเวรประจำตามจุดขณะที่ตักอาหารให้เด็ก เพื่อช่วยดูว่า เด็กรับประทานอาหารได้เพียงพออิ่มหรือไม่
สำหรับการบริหารจัดการในโรงเรียน แม้จะมีเงินสนับสนุนรายหัวเด็กจำนวนมาก แต่จำนวนอาหารที่ต้องทำก็มากตามจำนวนเด็ก และที่สำคัญผู้รับจ้างรับเงินโดยตรงจากสำนักงานเขต ทางโรงเรียนทำหน้าที่ตรวจสอบ และทางโรงเรียนเองก็ถูกตรวจสอบด้วยเช่นกันในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน ความสะอาดต่างๆ เพราะตลอดระยะเวลาจะมีสำนักอนามัย และสำนักสิ่งแวดล้อมสุ่มเข้าตรวจสอบตลอด
ดังนั้นทุกเช้าจะมีครูและผู้ปกครองหมุนเวียนร่วมดูแลและตรวจสอบตั้งแต่เช้า ดูแลการผลิตอาหารจนถึงการรับประทานอาหารของเด็ก อาหารทั้งสองมื้อที่จัดเตรียมไว้ ต้องทำให้เพียงพอ ไม่ขาด เด็กสามารถเติมได้จนอิ่ม ขณะเดียวกันเมนูอาหารแต่ละวันผ่านการตรวจสอบแล้วว่ามีคุณภาพ เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วนแน่นอน
“ที่โรงเรียนจัดทีมตรวจสอบทุกวัน ถ่ายรูปอาหารตั้งแต่เริ่มและทำเสร็จ ส่งทางไลน์ ผมให้ รอง ผอ.ท่านหนึ่งดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ และส่งงานดูกันในไลน์ทุกวัน แล้วส่งต่อให้ผู้ใหญ่ดู ตรวจสอบได้หมดทุกอย่าง ผมว่าในฐานะผู้บริหารเราสามารถจัดการได้ ให้เด็กกินอาหารอิ่ม มีคุณภาพ อาจยุ่งยากบ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันทำครับ" ผอ.โรงเรียนบ้างบางกะปิ กล่าวทิ้งท้าย
การบริหารโรงเรียนจ.ตาก
ภายหลังจากที่ ร.ร.เทศบาล 2 วัดดอนมูลชัย และ ร.ร.บ้านวังประจบ จ.ตาก เข้าร่วมโครงการเด็กไทยแก้มใส ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาตั้งแต่ปี 2557 มีผลการดำเนินงานในเกณฑ์ยอดเยี่ยม และได้รับการยกระดับให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส ซึ่งมีการน้อมนำหลักการบริหารจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนอย่างครบวงจรตามโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาใช้ โดยบูรณาการงานและพัฒนาทางด้านต่างๆ จนนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพอาหารของนักเรียนได้อย่างยั่งยืน
ในปี 2561 จ.ตาก จึงได้ประกาศเป็นจังหวัดต้นแบบการจัดการอาหารกลางวันคุณภาพในโรงเรียน เพื่อขยายผลให้แก่สถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ทั้งหมด จำนวน 36 โรงเรียน ซึ่งจากการดำเนินงานมา 1 ปี พบว่าการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ จากการบริหารจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนอย่างครบวงจรตามโครงการพระราชดำริฯ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านเกษตร อาหาร โภชนาการและสุขภาพของเด็กในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี
ในปี 2562 นี้ จ.ตาก จึงจะยกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อน “ท้องถิ่นไทยก้าวสู่แหล่งเรียนรู้ เด็กไทยแก้มใส วิถีชีวิตสุขภาวะ” ด้วยโรดแม็พ เด็กไทยแก้มใสโมเดล จังหวัดตาก โดยสนับสนุนให้โรงเรียนในสังกัด อปท. ทั้ง 36 แห่ง ต่อยอดการดำเนินงานโครงการเด็กไทยแก้มใสให้ครบทั้ง 8 องค์ประกอบ
ได้แก่ 1.ส่งเสริมการเกษตรในโรงเรียน 2.ส่งเสริมสหกรณ์นักเรียน ร้านค้า ออมทรัพย์ ส่งเสริมการผลิต 3.จัดบริการอาหารของโรงเรียนตามหลักโภชนาการ ด้วยโปรแกรม Thai School Lunch 4.ติดตามภาวะโภชนาการของนักเรียน 5.พัฒนาสุขนิสัยและส่งเสริมอนามัยนักเรียน 6.พัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน 7.จัดบริการสุขภาพนักเรียน และ 8.จัดการเรียนรู้แบบแอ็กทีฟเลิร์นนิ่ง เชื่อมโยงทั้งการเกษตร โภชนาการและสุขภาพ
ขณะเดียวกันจะให้โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถนำเมนูอาหารพื้นถิ่นของ จ.ตาก เข้าสู่ระบบสร้างตำรับอาหารของโรงเรียน หรือ Thai School Recipes (TSR) เพื่อไปใช้ร่วมกับระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ หรือ Thai School Lunch ได้อีกด้วย ซึ่งจะมีการรวบรวมและประมวลผลและคัดเลือกก่อนนำไปใช้จริง
สพฐ.สรุปเพิ่มงบอาหารกลางวัน3-16บาทตามขนาดโรงเรียน
คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ประชุมคณะทำงานวิเคราะห์การบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 27,108 แห่ง มีนักเรียน 3,979,636 คน ได้มีการวิเคราะห์งบอาหารกลางวันที่ได้รับตามอัตรารายหัวที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากค่าแรงแม่ครัว ค่าวัสดุประกอบอาหาร ค่าแก๊ส และตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน นำมาหารด้วยจำนวนนักเรียน จึงได้ประมวลออกมาเป็นอัตราเงินอุดหนุนรายหัวค่าอาหารกลางวันเด็ก
แบ่งเป็น โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียน 1-20 คน มีจำนวนโรงเรียน 817 แห่ง เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 36 บาท, โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 21-23 คน จำนวนโรงเรียน 246 แห่ง เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 34 บาท, โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 24-25 คน จำนวนโรงเรียน 196 แห่ง เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 33 บาท, โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 26-27 คน จำนวนโรงเรียน 194 แห่ง เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 32 บาท
โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 28-30 คน จำนวนโรงเรียน 317 แห่ง เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 31 บาท, โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 31-33 คน จำนวนโรงเรียน 355 แห่ง เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 30 บาท, โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 34-37 คน จำนวนโรงเรียน 515 แห่ง เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 29 บาท, โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 38-42 คน จำนวน 780 แห่ง เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 28 บาท, โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 43-50 คน จำนวนโรงเรียน 1,484 แห่ง เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 27 บาท, โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 51-60 คน จำนวนโรงเรียน 1,741 แห่ง เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 26 บาท, โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 61-75 คน จำนวนโรงเรียน 2,911 แห่ง เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 25 บาท
โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 76-100 คน จำนวนโรงเรียน 3,982 แห่ง เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 24 บาท, โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 101-120 คน จำนวนโรงเรียน 2,643 แห่ง เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 23 บาท, โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 121-200 คน จำนวนโรงเรียน 6,625 แห่ง เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 23 บาท และโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 201 คนขึ้นไป จำนวนโรงเรียน 4,302 แห่ง เสนอให้ปรับขึ้นจากเดิม 20 บาท เป็น 23 บาท โดยขณะนี้ได้รับงบประมาณ 200 วัน (20 บาทต่อคนต่อวัน) จำนวน 15,918,544,000 บาท ซึ่งงบประมาณที่ต้องเสนอขอ 18,708,439,000 บาท ดังนั้น จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 2,789,895,000 บาท เสนอให้สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พิจารณา จากนั้นจะเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ นำข้อมูลดังกล่าวเสนอรัฐบาลเพื่อนำประกอบการพิจารณาค่าอาหารกลางวันของนักเรียนต่อไป