อว.ทุ่ม 100 ล้าน ยกเครื่องงานวิจัยควอนตัมไทย
อว.ทุ่ม 100 ล้าน ยกเครื่องงานวิจัยฯ "สุวิทย์" เผยปัจจุบันมีนักวิจัยควอนตัมกว่า 50 คน มั่นใจ รองรับนวัตกรรมเทคโนโลยีควอนตัม นำไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
เมื่อเร็วๆนี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ปอว.) และศ.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมนำคณะผู้บริหารและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รับฟังการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และบทบาทในการพัฒนาภูมิภาค
โดยร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวทางการนำองค์ความรู้สหสาขาของมหาวิทยาลัย อันประกอบด้วย สาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคมและมนุษยศาสตร์ มาเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ จาก ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ ห้องตะวัน กังวานพงศ์ สำนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พร้อมเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านควอนตัม มช. ต้นแบบและนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (deep technology)ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน เป็นรากฐานแกนกลางของการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกสาขาอย่างก้าวกระโดดในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ในอนาคต
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นแกนนำหลักในการพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้ที่คุณภาพและได้มาตรฐานของโลก ทั้งในด้านของการพัฒนาคน การสร้างบัณฑิตคุณภาพ พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 เรียนรู้ที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเองตลอดเวลา ร่วมกันผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว อาทิ Smart Farming, Active Citizen, Zero-Waste และ AI for All ส่งเสริม พัฒนานวัตกรรมชุมชน, นวัตกรรมเชิงธุรกิจ และนวัตกรรมสังคม รวมถึงการปลดล็อก แนวคิดการดำเนินงานในรูปแบบเดิม ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันโลกและตอบโจทย์ประเทศ
สำหรับเทคโนโลยีควอนตัม เป็นเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 ที่โลกกำลังให้ความสนใจ ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ เพราะในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาในชีวิตของเราอย่างเต็มตัว ต้องมี สถาบันเทคโนโลยีควอนตัมระดับชาติ เพื่อสร้างระบบนิเวศควอนตัมที่สมบูรณ์ ภายใต้เครือข่ายของนักวิจัย นักเทคโนโลยี และการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมผ่านการประสานงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ต่างๆ
โดยมีเป้าหมายหลัก 2 ประการ คือ สร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมของประเทศ ทั้งในแง่ความรู้ฐานราก ในแง่การตื่นตัวและโอกาสของทุนสมองรุ่นใหม่ และ ในแง่ศักยภาพของการพึ่งพาตนเองในด้านวิจัยและพัฒนา อันจะนำไปสู่เป้าประสงค์หลัก คือ การสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีควอนตัม เพื่อนำประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางด้วยระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมระดับสูง
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ประเทศไทย มีจำนวนนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ซึ่งรวมถึงนักเรียนทุนโอลิมปิกฟิสิกส์ที่ได้รับการฝึกทักษะด้านเทคโนโลยีควอนตัมในต่างประเทศได้กลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทยแล้วกว่า 16 คน
นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยหลังปริญญาเอกและนักวิจัยที่กำลังศึกษาอยู่ต่างประเทศอีกจำนวนกว่า 21 คน ทั้งนี้ หากนับรวมนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอกภายในประเทศด้วย ตัวเลขนักวิจัยควอนตัมในประเทศไทยจะเกินกว่า 50 คน จำนวนนี้ถือว่าเพียงพอที่จะเป็นบ่อเกิดของกระบวนการรังสรรค์นวัตกรรมฐานเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทย
โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีควอนตัม ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือว่ามีความสมบูรณ์และความพร้อม เป็นที่รวบรวมบุคลากรที่เก่งด้านฟิสิกส์เป็นจำนวนมาก มีขีดความสามารถเชิงการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ควอนตัมที่โดดเด่น อีกทั้งยังได้ทำการพัฒนาเทคโนโลยีการทดลองและอุปกรณ์วิจัยมากมายเป็นของตนเอง มีความสามารถในการถ่ายโอนเทคโนโลยีดังกล่าวสู่ห้องวิจัยเกิดใหม่ทั่วประเทศ
ด้าน ผศ.ดร.วรานนท์ อนุกูล หัวหน้าห้องปฎิบัติการวิจัยทัศนศาสตร์เชิงอะตอมควอนตัมและอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มช. กล่าวว่า โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีควอนตัม เพื่อสร้างต้นแบบและนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (deep technology) ซึ่งสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน
รวมไปจนถึงการสร้างผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ ตลอดจนธุรกิจบ่มเพาะอันอาจจะเกิดขึ้นจากต้นแบบนวัตกรรมนั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมควอนตัมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการเตรียมพร้อมการสถาปนาสถาบันเทคโนโลยีควอนตัมระดับชาติในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเป็นรากฐานแกนกลางของการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกสาขาอย่างก้าวกระโดดในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างมั่นคงยั่งยืนต่อไป
โดยเริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ด้วยงบการลงทุนเบื้องต้นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จำนวน 100 ล้านบาท ผนวกกับแผนงานด้านกำลังนักวิจัยฟิสิกส์วิศวกรรม วิศวกร และนักเทคโนโลยีควอนตัม จำนวนมากถึง 17-20 อัตรา จะทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประโยชน์จากงานวิจัยควอนตัมของประเทศไทย ที่สามารถดำเนินการได้ทันที และที่สำคัญเทคโนโลยีควอนตัม ได้ส่งเสริมและสร้างแพลตฟอร์มการทำงานให้กับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างภาคมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม มาระยะหนึ่งแล้วในการสนับสนุนให้เทคโนโลยีควอนตัมสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น การส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใช้นวัตกรรมในการสร้างงาน
ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์และคณะ พบคณะผู้บริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคเหนือ นำโดย ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กว่า 50 ท่าน รวม 14 สถาบัน (ม.เชียงใหม่,มทร.ล้านนา,ม.นเรศวร,ม.แม่โจ้,ม.แม่ฟ้าหลวง,ม.พะเยา,มรภ.เชียงราย,มรภ.เชียงใหม่,มรภ.พิบูลสงคราม,มรภ.อุตรดิตถ์,มรภ.กำแพงเพชร,มรภ.นครสวรรค์,มรภ.ลำปาง,มรภ.เพชรบูรณ์) ณNSP Conference Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) เพื่อมอบนโยบายและกรอบยุทธศาสตร์ อววน.
โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อเป็นแนวทางจัดการศึกษาตลอดจนให้บริการและส่งเสริมงานวิจัยต่าง ๆ ให้สอดรับกับการพัฒนายกระดับจังหวัด ภูมิภาค และประเทศชาติต่อไป
จากนั้นรับฟังการนำเสนอแนวคิดประสานพลังจากกลุ่มมหาวิทยาลัย และภาพรวมการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือจาก ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะ แม่ข่ายดำเนินงาน และให้เกียรติชมการนำเสนอนวัตกรรมสู่ภูมิภาค ผลผลิตนวัตกรรมสร้างสรรค์ จากมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือผลงานความสำเร็จของผู้ประกอบการและเหล่า Startup พันธุ์ใหม่ ที่สร้างชื่อและช่วยยกระดับภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศไทย