ไลฟ์สไตล์

'IFCN' สายตรวจข่าวปลอมออนไลน์

'IFCN' สายตรวจข่าวปลอมออนไลน์

09 ก.ย. 2562

คอลัมน์ "อินโนสเปซ" โดย "บัซซี่บล็อก" จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

ต้องถือว่าเป็นเรื่องดีที่ปัญหา “ข่าวปลอม” หรือเฟคนิวส์ เริ่มเข้าสู่ระยะเร่ง “สร้างความตระหนัก” ไปสู่วงกว้างมากขึ้น ควบคู่การดำเนินการอย่างเป็นระบบผ่านเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง

 

ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐมากกว่า 200 หน่วยงาน สื่อสารมวลชนในทุกสาขา สถาบันการศึกษา ตลอดจนภาคประชาสังคม

 

หลายปีที่ผ่านมา คนไทยในทุกระดับเผชิญกับการแพร่กระจายของข่าวปลอมมากมายมหาศาล และแม้จะมีการตอกย้ำหลักคิดเรื่อง “ชัวร์ก่อนแชร์” ก็ยังไม่สามารถเอาชนะ “การหลงเชื่อ” ในคนหมู่มาก

 

เพราะ “ข้อเท็จจริง” มักมาช้ากว่า “ข่าวปลอม” ที่แพร่กระจายทางโซเชียลในวงกว้างทั่วโลกได้แค่ชั่วกระพริบตา

 

 

\'IFCN\' สายตรวจข่าวปลอมออนไลน์

 

 

 

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กับศรัทธาของประชาชน

 

แนวคิดการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) อย่างเป็นรูปธรรมของไทย ที่จะเปิดตัวเต็มรูปแบบไม่เกินวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562

 

ตามคำประกาศของ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำลังถูกจับตาว่าการมีศูนย์ฯ นี้เพื่อ “ขานรับ” นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ต้องการพุ่งเป้าจัดการปัญหาและต้นตอข่าวปลอม หรือข่าวปล่อยทางการเมืองเป็นหลัก

 

ดังนั้น หนึ่งในโจทย์สำคัญของการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ที่กระทรวงดีอี เร่งขับเคลื่อนอยู่ คือ “การสร้างความยอมรับ” ในเรื่องมาตรฐานสากลในการ “ฟันธง” ว่า ข่าวใดที่เป็นข่าวปลอม

 

 

\'IFCN\' สายตรวจข่าวปลอมออนไลน์

 

 

จึงเป็นที่มาของการเตรียมใช้แนวทางของ “เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงนานาชาติ” (International Fact-Checking Network – IFCN) หนุนมาตรฐานศูนย์ฯ แห่งนี้สู่ระดับสากล

 

เพื่อสร้างความไว้วางใจ และแนวร่วมต้านข่าวปลอมจากประชาชนทั่วไป และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงความร่วมมือจากแพลตฟอร์มโซเชียลระดับโลก ทั้งกูเกิล เฟซบุ๊ก ยูทูบ และไลน์

 

“ให้แนวทางไปว่าการตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าว ควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบข่าวปลอมที่อิงอยู่กับมาตรฐานของ “เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงนานาชาติ” (International Fact-Checking Network – IFCN)” ซึ่งได้กำหนด“ชุดหลักการ” (code of principles) ของเครือข่ายไว้ประมาณ 5 ข้อ

 

ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกที่มีการทำงานด้านต่อต้านและป้องกันข่าวปลอมใช้อยู่ ได้แก่ ยุโรป สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน เป็นต้น รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลระดับโลกด้วย” นายพุทธิพงษ์กล่าว

 

 

IFCN สายตรวจข่าวปลอมออนไลน์

 

ไม่นานนี้ มีบทความในเว็บไซต์ The Momentum เขียนถึงที่มาของ IFCN ไว้อย่างน่าสนใจว่า เกิดจากการที่สื่อค่ายต่างๆ และองค์กรทั่วโลกที่เน้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายค่าย มารวมตัวกัน ริเริ่มโดย Poynter องค์กรสื่อชื่อดังในอเมริกา

 

เครือข่ายนี้มี “ชุดหลักการ” (code of principles) ของเครือข่าย เพื่อใช้ตรวจรับรององค์กรต่างๆ ที่มาสมัครเป็นสมาชิก ตามหลักการ 5 ข้อ ซึ่งทางผู้เขียนบทความดังกล่าว แสดงความเห็นว่า ชุดหลักการของ IFCN สามารถนำใช้เป็นรายการ “5 สิ่งที่ควรทำ” สำหรับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของไทยได้เป็นอย่างดี ได้แก่

 

 

\'IFCN\' สายตรวจข่าวปลอมออนไลน์

 

 

1.ยึดมั่นในความเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และเป็นธรรม 2.ยึดมั่นในความโปร่งใสของแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูล 3.ยึดมั่นในความโปร่งใสของแหล่งทุนและโครงสร้างองค์กร และควรมีกลไกที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่าแหล่งทุนนั้นๆ จะไม่มีอิทธิพลต่อข้อสรุปของการตรวจสอบข้อเท็จจริง

 

4.ยึดมั่นในความโปร่งใสของระเบียบวิธีที่ใช้ในการคัดเลือก วิจัย เขียน เรียบเรียง ตีพิมพ์ และแก้ไขการตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกกรณี และเปิดเผยอย่างโปร่งใส และ 5. ยึดมั่นในนโยบายแก้ไขข้อผิดพลาดที่เปิดเผยและซื่อสัตย์

 

เมื่อพิจารณาจากโครงสร้าง และชุดหลักการ (code of principles) ที่ถือปฏิบัติร่วมกันของเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานตรวจสอบข่าวปลอมที่แพร่กระจายผ่านสื่อโซเชียลและสังคมคนออนไลน์แล้ว

 

คงไม่ผิดนักถ้าจะเปรียบบทบาทการทำงานของ IFCN ว่าเป็นเสมือน “สายตรวจข่าวปลอมออนไลน์” นั่นเอง อีกทั้งเป็นสายตรวจที่มีเครือข่ายการทำงานอยู่ทั่วโลกอีกด้วย

 

 

 

เปิดชุดหลักการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

 

ทางด้านกระทรวงดีอี ได้วางแนวทางเกี่ยวกับชุดหลักการที่จะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข่าวปลอม ว่าจะครอบคลุมหัวข้อ ได้แก่

 

1.ความเที่ยงธรรมและความปราศจากอคติในการคัดเลือกข่าว 2.ความเป็นส่วนบุคคลกับสิทธิเสรีภาพของการนำเสนอข่าว 3.การขัดกันด้านผลประโยชน์ และผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง

 

4.ให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกพาดพิงและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่าเทียมกัน 5. สามารถอธิบายกระบวนการการพิสูจน์ การตรวจสอบ แหล่งที่มาของบทความและข้อเท็จจริงต่างๆ ได้

 

และ 6.มีความรู้เกี่ยวกับข่าวนั้นๆ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงในด้านต่างๆ ได้อย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ และโปร่งใส เป็นหน่วยงานที่อิสระ ไม่ขึ้นต่ออิทธิพลของหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ เป็นต้น

 

 

จะตรวจสอบข่าวปลอมได้อย่างไร

 

มีบทความในเว็บไซต์ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบเบื้องต้น โดยวิธีการนั้นไม่ยากเลย เพียงแค่ชาวโลก(โซเชียล)ทุกคน หยุดความอยากแชร์หรืออยากเชื่อ(ทันที) ไว้สักครู่ และทำตามข้อแนะนำ ดังต่อไปนี้

 

 

\'IFCN\' สายตรวจข่าวปลอมออนไลน์

 

 

ตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวสารข้อมูล เช่น สำนักข่าว หน่วยงาน หรือชื่อผู้ให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ หลาย แหล่งก็ยิ่งดี

 

ตรวจสอบแหล่งข้อมูลอื่นประกอบ เช่น หน่วยราชการหรือหน่วยงานที่น่าจะเกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูลนั้นๆ เพื่อยืนยันว่ามีเรื่องหรือเหตุการณ์ดังกล่าวจริง เช่น ถ้าเป็นเรื่องโรคระบาด ก็ควรตรวจสอบไปที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลต่าง ๆ ว่ามีข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างหรือไม่

 

ตรวจสอบหาต้นตอของข่าว บางครั้งข่าวเท็จอาจเป็นข่าวเก่า หรือใช้ข้อมูลจากข่าวเก่ามาเล่าใหม่เพื่อให้เกิดความแตกตื่นหรือเพื่อประโยชน์แอบแฝง จึงควรสืบค้นภาพเก่าหรือข่าวเก่ามาเปรียบเทียบกันก่อนที่จะเชื่อและแชร์

 

อาจสอบถามผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ โดยตรง หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น รายการชัวร์ก่อนแชร์ โดย สำนักข่าวไทย อสมท. เป็นสื่อกลางนำเรื่องที่แชร์กันมากบนสื่อโซเชียลไปถามผู้รู้มาตอบให้ในรายการและเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก SureAndShare

 

****************************