กกจ.หนุนรับงานไปทำงานที่บ้านชุมชนเข้มแข็ง-ผู้สูงอายุมีงานทำ
โดย... คุณภาพชีวิต [email protected]
การรับงานไปทำที่บ้านจะเป็นการจ้างงานรูปแบบหนึ่งที่ผู้จ้างงานได้ส่งงานให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านเพื่อทำการผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม หรือแปรรูปสิ่งของตามที่ได้ตกลงกับผู้จ้างงานในบ้านของตนเอง หรือสถานที่มิใช่สถานประกอบกิจการของผู้จ้างงาน และเมื่อทำเสร็จจะส่งคืนสิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ให้ผู้จ้างงาน โดยผู้รับงานไปทำที่บ้านจะต้องได้รับค่าตอบแทนจากผู้จ้างงาน
กรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน ส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำอย่างยั่งยืนหลากหลายรูปแบบเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพหรือมีอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยให้มีการรับงานไปทำที่บ้านในรูปแบบการรวมกลุ่มกันและมีการบริหารจัดการกลุ่มให้เข้มแข็งเพื่อประโยชน์ในการรับงานไปทำที่บ้านอย่างต่อเนื่อง โดยมี 2 กลุ่มเป้าหมายที่ต้องดำเนินการช่วยเหลือให้ทั่วถึงคือผู้สูงอายุ กลุ่มคนว่างงานและประชาชนทั่วไปที่สนใจ
เพชรรัตน์ สินอวย อธิบดี กกจ. กล่าวว่า ขณะนี้มีกลุ่มอาชีพอิสระรับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนกับ กกจ. แล้วจำนวน 873 รายต่อกลุ่ม สมาชิกจำนวน 5,564 คน ปล่อยกู้เงินกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้านพักแล้วจำนวน 7 ราย/41 กลุ่ม เป็นเงิน 5,645,000 บาท และส่งเสริมการมีงานทำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งปี 2561 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ทั้งสิ้น 11.80 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่ 4.36 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 36.9 ของผู้สูงอายุทั้งหมด โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.59 ล้านคน
ลักษณะของงานที่รับไปทำที่บ้านจะเป็นงานที่ไม่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน เรียนรู้ง่าย ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้แรงงานคนทำการผลิตมากกว่าเครื่องจักร เป็นการผลิตในครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแรงงานที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนกับกกจ. มีตั้งแต่การตัดเย็บ (เสื้อผ้า กระเป๋า ผ้าห่ม พรมเช็ดเท้า เสื้อผ้าตุ๊กตา ถุงมือ เปล เครื่องนอน เป็นต้น) งานประดิษฐ์ (ดอกไม้ประดิษฐ์ ตุ๊กตา เครื่องประดับ ร้อยลูกปัด) งานปัก ถัก ทอ (ถักวิกผม ทอผ้า ทอพรม ทอเสื่อ ปักผ้าคลุมผม ปักเลื่อม) งานหัตถกรรมจักสารต่างๆ ทำไม้กวาด เฟอร์นิเจอร์
ขณะเดียวกันประเทศไทยมีจํานวนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปีและส่วนใหญ่ไม่มีการศึกษา/สําเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษา ร้อยละ 79.9 และมีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ของผู้สูงอายุประมาณ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยได้ค่าจ้าง/เงินเดือนของผู้สูงอายุเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 11,432 บาท
ดังนั้นที่ผ่านมา กกจ.ได้ลงนามเอ็มโอยู ขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุตามโครงการ “รวมพลังประชารัฐ ส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ” โดยบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวม 23 หน่วยงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีงานทำในอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ เป็นการสร้างหลักประกันที่มั่นคงด้านรายได้ สร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจให้แก่ผู้สูงอายุ กำหนดประเภทงานเสมียนพนักงาน งานอาชีพเกี่ยวกับการค้า งานอาชีพด้านบริการ หรืองานซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างผู้สูงอายุ
โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการจูงใจโดยการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 639) พ.ศ.2560 ซึ่งกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธินำรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุมายกเว้นภาษีเงินได้ โดยสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าในการจ้างผู้สูงอายุเข้าทำงานในสถานประกอบการของตน
นอกจากนี้ยังส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุผ่านโครงการต่างๆ เช่นโครงการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ กิจกรรม 1 อำเภอ 1 ภูมิปัญญา ส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุในอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยวและโครงการสร้างโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบรรจุงานด้วยการจ้างเหมาบริการผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60-75 ปี จำนวน 20 คน ทำงานในหน่วยงานของกกจ. จำนวน 20 แห่ง มีระยะเวลาการทำงานจำนวน 144 วัน ทำงานวันละ 3 ชั่วโมง ได้รับค่าจ้างชั่วโมงละ 250 บาท
ผลการดำเนินงานเดือนตุลาคม 2561–สิงหาคม 2562 ปรากฏว่าผู้สูงอายุได้รับการจ้างงานในหน่วยงานของกกจ. จำนวน 22 คน สามารถสร้างรายได้ทั้งสิ้น 2,268,000 บาท มีผู้สูงอายุมาใช้บริการจัดหางานจำนวน 7,394 คน และมีผู้สูงอายุได้รับการบรรจุงานจำนวน 3,752 คน ส่วนตำแหน่งงานที่ผู้สูงอายุได้รับการบรรจุงานเดือนสิงหาคม 2562 มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ แม่บ้าน พนักงานบริการลูกค้า เสมียนพนักงานทั่วไป พนักงานธุรการ พนักงานดูแลความปลอดภัย เป็นต้น
เพชรรัตน์ สินอวย
อิษดา จอมบัวคำ กลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน กลุ่มอิษดากระเป๋าผ้า เล่าว่า ชาวบ้านรวมกลุุ่มกันตัดเย็บกระเป๋าผ้าและกระเป๋าสะพาย กระเป๋าสตางค์ พวงกุญแจ มาร่วม 20 ปีมาแล้ว แต่ได้จัดตั้งกลุ่มและจดทะเบียนเป็นกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2559 ปัจจุบันมีสมาชิก 20 คน เพื่อให้สมาชิกมีรายได้เพื่อใช้จ่ายในครอบครัว โดยมีที่ทำการอยู่ที่บ้านเลขที่ 35 หมู่ 2 ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ รับออเดอร์จากบริษัทคิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนทั่วไปรวมทั้งนำผลงานไปวางจำหน่ายตามตลาดนัด ถนนคนเดิน ตลาดออนไลน์ด้วย
“ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่ม มาทำงาน ณ ที่ทำการของกลุ่ม เริ่มทำงาน 8 โมงเช้าเลิก 5 โมงเย็น ถ้ามีออเดอร์งานด่วนทำงานไม่เสร็จก็รับงานไปทำที่บ้านต่อ หรือทำงานวันเสาร์ที่บ้านก็ได้ ออเดอร์ที่มีประจำคือทำส่งให้คิงเพาเวอร์ จะส่งมาให้พร้อมอุปกรณ์ทุก อย่างชาวบ้านมีหน้าที่ตัดเย็บและจัดส่งตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ทุกคนจะมีรายได้ตามจำนวนชิ้นงานที่ทำเฉลี่ยแล้วประมาณเดือนละ 8-9 พันบาทต่อคน” อิษดา กล่าว
เป็นเรื่องที่ดีต่อคุณภาพชีวิตของชาวบ้านและผู้สูงอายุที่มีกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน ทำให้มีรายได้และยังได้อยู่กับครอบครัว บางคนที่มีลูกก็ยังทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย เพราะให้รถนักเรียนมาส่งที่ทำการกลุ่มช่วงเลิกเรียนและทำงานต่อไปจนถึงเวลาเลิกงาน ทำไม่เสร็จก็เอากลับไปทำต่อที่บ้าน เช้าก็เอางานมาส่ง ที่นี่อยู่กันแบบครอบครัวมีอะไรก็ช่วยเหลือกัน สนใจสนับสนุนสินค้า สั่งได้ที่เพจดิษดากระเป๋า
การมีงานทำของผู้สูงอายุ
-ปี 2561 มีผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 11.80 ล้าน
-ทำงานอยู่ 4.36 ล้าน คิดเป็นร้อยละ 36.9
ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.59 ล้าน
-ส่วนใหญ่ไม่มีการศึกษา/ต่ำกว่าระดับประถม ร้อยละ 79.9
-ทำงานประมาณ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
-ค่าจ้าง/เงินเดือนต่อเดือนประมาณ 11,432 บาท
**อาชีพที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
-แม่บ้าน
-พนักงานบริการลูกค้า
- เสมียนพนักงานทั่วไป
-พนักงานธุรการ
- พนักงานดูแลความปลอดภัย