สาธิตจุฬาฯ ปรับวิธีสอน เรียนเพื่อรู้จักตัวเองสู่อนาคต
โดย... -หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ [email protected] -
“เราสอนแบบอันปลั๊กไม่ได้บอกเด็กว่าเป็นวิชาโค้ดดิ้ง สอนผ่านเกม การเล่นต่างๆ กิจกรรมที่หลากหลายและสอดแทรกทักษะการแก้ปัญหา ลำดับขั้นตอนกระบวนการ ทักษะการคิดเชิงนามธรรม ให้นักเรียนแยกแยะได้ว่าก่อนจะทำงานชิ้นหนึ่งๆ ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง ซึ่งถ้าเขาบอกได้มันก็คือความเข้าใจเบื้องต้นที่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นได้ และฝึกฝนไปเรื่อยๆ ซ้ำๆ ในทุกๆ เรื่อง และจะกลายเป็นความเข้าใจเรื่องราวเป็นขั้นเป็นตอนไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งโค้ดดิ้งก็คือกระบวนการคิดอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบนั่นเอง”
นี่คือหลักการเรียนการสอน “โค้ดดิ้ง” ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ ของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 และในปีการศึกษา 2561 เริ่มสอนวิชา “วิทยาการคำนวณ” ป.1 และ ป.4 ขณะนี้ปีการศึกษา 2562 กำลังสอนชั้น ป.2 และ ป.5 คาดว่า ปีการศึกษา 2563 จะสอนครบทุกช่วงชั้นที่ 1 และ 2 ซึ่งเนื้อหาเน้นวิธีคิดเป็นหลักเพื่อเป็นพื้นฐานในระดับมัธยมต่อไป ว่ากันว่าโรงเรียน ครู จะเป็นผู้เลือกสื่อการเรียนการสอน โดยการใช้โซเชียลแพลตฟอร์ม การใช้หุ่นยนต์ผึ้ง หรือ Bee-Bots หรือการสอนด้วย Code.org หรือการใช้โปรแกรม Scratch เป็นต้น เพื่อนำหลักสูตรที่ส่วนกลางกำหนดไปพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุตามเป้าหมาย
“พรรณงาม ใจรักษ์ศักดิ์” สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ และ “ผศ.เพียงตา กิจหิรัญวงศ์” กลุ่มสาระการงานอาชีพและวิชาวิทยาการคำนวณ ช่วยกันอธิบายว่า โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ สอนโค้ดดิ้งแบบอันปลั๊ก (วิทยาการคอมพิวเตอร์แบบอันปลั๊ก) มาตั้งแต่เริ่มทดลองนำร่องเมื่อปี 2559 เป็นการสอนแบบเน้นไปที่การฝึกตรรกะ และวิธีคิด ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เน้นการคิดเชิงคำนวณ การเข้าใจ ไม่เน้นท่องจำแต่เน้นคิดและสังเคราะห์คำตอบ
การเรียน จะเน้นกิจกรรมที่สนุกสนาน และมีประเด็นและปัญหาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดและสังเคราะห์คำตอบด้วยตัวเองจากการใช้เหตุและผล เด็กๆ จะเห็นว่าการแก้ปัญหาสามารถทำได้หลากหลายวิธี และวิธีที่ตัวเองคิดไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร รวมทั้งการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลก็เช่นกัน ก็จะเกิดจากการวิเคราะห์ตัวอย่างปัญหาและนำไปสู่ข้อสรุปด้วยตัวเองโดยมีครูคอยแนะนำ
“ผศ.เพียงตา” บอกว่า จากการเรียนพบว่านักเรียนนั้นเกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล รู้จักวางแผน เข้าใจในหลักการและจับประเด็นได้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาอุปสรรคบ้าง เช่น นักเรียนบางคนขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา ซึ่งแก้ไขโดยให้นักเรียนฝึกทำซ้ำๆ จัดกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น และอธิบายความรู้เพิ่มเติม เป็นต้น
ผศ.เพียงตา กิจหิรัญวงศ์
“การสอนโค้ดดิ้งต้องอบรมครูให้เข้าใจหลักการก่อน จากนั้นค่อยไปสอนนักเรียนให้เข้าใจได้ การอบรมต้องทำเป็นขั้นตอน มีการทดลองสอน มีการประเมินผลว่าตรงตามที่ต้องการหรือไม่ จากนั้นไปทดลองสอนไปเรื่อยๆ พร้อมกับมีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาจนกว่าจะชำนาญ และปรับปรุงการสอนไปจนกว่าจะได้ผลที่น่าพอใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ในเร็ววัน ต้องผ่านกระบวนการทดลองสอนและฝึกฝนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เชื่อว่าการเรียนวิชาโค้ดดิ้งจะช่วยให้เด็กไทยมีทักษะการคิดเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอนและอยู่รอดได้ในโลกอนาคต” ผศ.เพียงตา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทักษะส่วนหนึ่งของวิชานี้ ทั้งในส่วนของทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) และไอซีทีก็เป็นทักษะที่ใช้ในชีวิตประจำวันโดยตรง และในส่วนของ Computational Thinking ที่มีเรื่องของโค้ดดิ้งด้วย ถึงแม้เด็กจะไม่ได้เอาไปใช้โดยตรง แต่ทักษะการวิเคราะห์และแก้ปัญหา และทักษะการคิดเชิงตรรกะ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญในเนื้อหาด้านนี้ก็มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน
ปรับหลักสูตรเรียนเพื่อรู้จักตัวเอง
ขณะที่ “ผศ.ทินกร บัวพูล” ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม และรองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้มีแนวคิดที่จะปรับหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่เนื่องจากครบรอบ 6 ปีที่ต้องมีการปรับ โดยจะเน้นการเรียนการสอนให้นักเรียนรู้จักตัวเองว่าต้องการเรียนเพื่ออะไร เป็นการเรียนเพื่อวางแผนในอนาคต พร้อมทั้งปรับบทบาทครูผู้สอนใหม่จากเดิมที่ยืนสอนหน้าชั้นเรียนอาจจะมาอยู่หลังห้องเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน และเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น และดึงเครือข่ายผู้ปกครอง ชุมชน เข้ามาร่วมจัดการศึกษา
“ในอนาคตอาจจะมีจัดการศึกษาแบบตามอัธยาศัยมากขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามความต้องการและสอดคล้องกับทักษะที่พวกเขามี โดยเปิดให้สามารถนับหน่วยกิตจากการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่ไปเรียนตามสถาบันต่างๆ ของเอกชนที่มีความชำนาญเฉพาะทางที่โรงเรียนไม่สามารถจัดการศึกษาให้ได้ โดยเอาเครดิตที่ได้มาเทียบเคียงเป็นผลการเรียนบันทึกไว้ในแบบแสดงผลการเรียน หรือพอร์ตโฟลิโอ นำไปยื่นประกอบการสมัครเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ซึ่งถือเป็นการจัดการศึกษาเพื่อโลกอนาคต” ผู้อำนวยการสาธิตจุฬาฯ กล่าว
ผศ.ทินกร บัวพูล
โค้ดดิ้งสอนคิดเป็นระบบ
ปัจจุบันต่างประเทศเริ่มบรรจุโค้ดดิ้งเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอน เช่น อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งการเรียนโค้ดดิ้ง เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กคิดทุกเรื่องอย่างเป็นเหตุผล ซึ่งจะส่งผลให้เกิดทักษะการแก้ปัญหา คือสามารถแยกแยะปัญหาออกเป็นส่วนๆ เพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ไขปัญหาในแต่ละส่วนได้ เด็กจะได้เรียนรู้ระบบการวางแผน จะทำให้เข้าใจหลักการและจับประเด็นได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการสอนแบบ unplugged coding ที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อให้นักเรียนแก้โจทย์ให้เหมาะสมกับวัย
ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อให้เด็กเตรียมตัวสู่การเขียนโปรแกรม และสามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้นำร่องสู่ห้องเรียน 3,000 แห่งทั่วประเทศ เริ่มภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ด้วยการให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อบรมพัฒนาทักษะครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อขับเคลื่อนการเรียนสู่โรงเรียนคุณภาพประจำตำบลจำนวน 8,224 แห่ง
3หัวใจของการเรียนรู้
1.การคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) ซึ่งเป็นการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการคิดแบบต่างๆ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน จุดที่เน้นจริงๆ คือกระบวนการคิด
2.การเข้าใจและรู้ทันเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) จะทำความรู้จักกับโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น เช่น การแชร์ข้อมูลผิดๆ หรือก่อความเสียหาย เรื่องลิขสิทธิ์และอาชญากรรมทางดิจิทัลอีกด้วย ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในยุคนี้เพื่อให้เด็กรู้เท่าทันโลกออนไลน์และเข้าใจถึงผลกระทบของการกระทำใดๆ ของตนและบุคคลอื่นบนโลกออนไลน์ เป็นรากฐานในการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อไป
3.ความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) จะแนะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งปัจจุบันและที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น โดรน หุ่นยนต์ โลกความจริงเสมือน การใช้เครื่องมือทางไอซีทีต่างๆ เช่น การใช้ Search Engine ค้นหาข้อมูล การใช้โปรแกรมประมวลคำ เพื่อการสร้างเอกสารต่างๆ การใช้โปรแกรมสเปรดชีต เพื่อการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลขั้นต้น การใช้โปรแกรมนำเสนอ เพื่อสื่อสารข้อมูลต่างๆ เป็นต้น