ปรับทัศนคตินิยามผู้หญิงใหม่ลดเหลื่อมล้ำเริ่มที่ครัวเรือนร.ร.
ปรับทัศนคติ นิยามผู้หญิง ใหม่ ลดเหลื่อมล้ำเริ่มที่ครัวเรือน-โรงเรียน โดย... หทัยรัตน์ ดีประเาริฐ [email protected]
ค่านิยมแบบดั้งเดิมที่ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานทำให้ผู้หญิงได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม ซึ่งแฝงอยู่ในสังคมจนเกิดความเคยชินเช่น ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอไม่กล้าตัดสินใจจนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางเพศและฝังอยู่ในหลากหลายวัฒนธรรม ส่งผลให้ผู้หญิงถูกตีกรอบในการกำหนดบทบาท ทั้งที่มีการเรียนรู้พัฒนาตัวเองจนมีศักยภาพในหลายด้านตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไปทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
สาเหตุที่ผู้หญิงมักถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมเพราะทุกฝ่ายปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและถูกสอนให้เชื่อมาโดยตลอดว่า ความไม่เป็นธรรมดังกล่าวเป็นไปตามธรรมชาติและเป็นเรื่องปกติที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าสังคมไหนก็มองว่าผู้หญิงเป็นคนไร้เหตุผล และเจ้าอารมณ์ทั้งนั้น ซึ่งการสอนเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่เรามีชีวิตจนเติบโตจึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเพศ นอกจากไม่สามารถขจัดได้หมดแล้วยังกลับถูกฝังรากลึกจนทำให้ผู้หญิงยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
ทุกวันนี้ผู้หญิงก็ยังไม่ได้รับการยกย่องตามที่ควรจะเป็น สืบเนื่องจากค่านิยมและแนวปฏิบัติดังกล่าว คนส่วนใหญ่ในโลกถูกสอนมาตั้งแต่เกิดให้มองค่านิยมแบบดั้งเดิมต่อผู้หญิงเป็นเรื่องปกติ จนทำให้ถูกหล่อหลอมให้ยอมรับและเชื่อโดยปราศจากเงื่อนไขโดยไม่เคยตั้งคำถามว่ามันเป็นเรื่องถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ ในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ
ตัวอย่างเช่น ตำแหน่งผู้บริหาร ทั้งในภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ ฝ่ายการเมืองของทุกๆ ประเทศ มักพบว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในตำแหน่งดังกล่าวน้อยมาก โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง แต่จะมีโอกาสเป็นผู้บริหารระดับกลางมากกว่ารวมถึงค่าตอบแทนในหน้าที่การงานของผู้หญิง ก็จะได้ค่าตอบแทนน้อยกว่า แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ ผู้หญิงจะได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายในตำแหน่งที่คล้ายกัน
ขณะเดียวกันผู้หญิงนอกจากต้องทั้งทำงานแล้วยังต้องดูแลลูกจึงเป็นสิ่งที่ฝรั่งเขาบอกว่า Double Burden หรือผู้หญิงมีภาระสองด้าน หรือมีภาระสองเท่า แต่ผู้หญิงไทยอาจจะต้องทำงานมากกว่านั้นหลายเท่า เพราะต้องดูแลเครือญาติ และเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม
รศ.ดร.จุรี วิทจิตรวาทการ ประธานจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Woman และประธานศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม เปิดเผยว่าการที่ผู้หญิงมักถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นทุกแห่งมากน้อยแตกต่าง ในประเทศอาเซียนแล้วมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศหญิงและชายเหมือนกัน บางประเทศระดับของปัญหาจะมีมาก และบางประเทศระดับของปัญหาก็จะมีน้อย แม้ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขปัญหาในหลายๆ อย่าง แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงอยู่
รศ.ดร.จุรี วิทจิตรวาทการ
มีการทำวิจัยพบว่าในตำราเรียนของไทยจะมีจำนวนมากที่ผู้ชายจะเป็นผู้นำ โดยยืนถือไมโครโฟน ผู้ชายใส่เสื้อกาวน์เป็นหมอ ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่แค่เป็นผู้ช่วย เป็นเลขาฯ ผู้หญิงใส่ชุดเป็นพยาบาล ซึ่งเป็นการถ่ายทอดโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้มุมของครูมีวิธีปฏิบัติต่อเด็กนักเรียน การให้โอกาสเป็นผู้นำ เล่นกีฬา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลทั้งนั้น การแข่งกีฬาทำให้คนกล้าสู้ กล้าที่จะเผชิญปัญหา แต่โรงเรียนไทยถ้าเป็นสหศึกษาพบว่าผู้หญิงจะตีปิงปอง เป็นกองเชียร์ ส่วนสนามกีฬาส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ของเด็กผู้ชาย
“จากภาพเหล่านี้ต้องยอมรับว่าเป็นภาพที่เด็กๆ พบเห็นมาตั้งแต่เล็กเลย ซึ่งภาพเหล่านี้จะมีผลต่อเด็กผู้หญิงที่ว่าตัวเองจะไปได้ไกลแค่ไหน เพราะรูปแบบที่เป็นภาพติดตา นอกจากนี้ยังมีเรื่องของคำพูดที่ใช้หรือภาษา และการเขียนอะไรต่างๆ ซึ่งบางทีใช้โดยไม่ระมัดระวัง” รศ.ดร.จุรี กล่าว
รศ.ดร.จุรี กล่าวอีกว่า ดังนั้น การสอนเรื่องความเท่าเทียมกันของชาย หญิงจึงต้องเริ่มต้นจากโรงเรียน สถาบันครอบครัว โดยเริ่มปลูกฝังค่านิยมกับเด็กตั้งแต่วัยเล็กสุด โดยให้แนวคิดเริ่มจากระดับอนุบาลและประถมที่ต้องตระหนักถึงปัญหาค่านิยมเกี่ยวกับผู้หญิงที่แฝงอยู่ในบทเรียนเสียใหม่และแนวปฏิบัติในสถานศึกษาต่างๆ แบบผิดๆ มาในอดีต และชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางเพศเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศในกลุ่มอาเชียนประชุมปฏิบัติระดับภูมิภาคเรื่องการขจัดอคติทางเพศและการใช้ภาษาเชิงลบในกระบวนการการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ระยะที่ 1 นำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ แต่ละประเทศจะส่งผู้แทนเชี่ยวชาญด้านสตรีเรื่องความเสมอภาคและตัวแทนความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 3-4 ตุลาคม ที่ผ่านมา
โดยในที่ประชุมมีการนำเสนอกรณีตัวอย่างโรงเรียนทางเลือกที่เด็กทุกคนมีความเสมอภาคกันมาจะเป็น Best Practice รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้หญิงเรียนเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Math และ Engineering เพราะผู้หญิงจะเข้าสู่เรื่อง Tech และวิทยาศาสตร์ได้น้อยกว่าผู้ชาย จะเปิดโอกาสอย่างไร สังคมจะเกื้อหนุนช่วยได้อย่างไรเพื่อไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำ ถ้าผู้หญิงอยากเรียนให้ได้เรียนและจะส่งเสริมอย่างไร
สำหรับผลการระดมสมองในครั้งนี้จะนำไปผลิตเป็นเนื้อหาและสร้างเครื่องมือการสื่อสารที่ทันสมัยสอดคล้องกับยุคปัจจุบันเพื่อนำไปเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปทุกเพศ ทุกวัย และทุกสาขาอาชีพ ให้เห็นถึงปัญหาที่ถูกฝังเป็นรากลึกมายาวนาน ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้หญิงเพศแม่เสียใหม่ โดยปี 2563 จะผลิตสื่อเพื่อให้คนดูสื่อแล้วจะรู้ทันทีว่าเกิดความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นสื่อที่ทำแบบดูง่ายๆ เป็นแอนิเมชั่นเป็นสื่อแบบใหม่ที่ดูแล้วมีความน่ารัก อาจจะมีละครด้วยผลิต 6 เรื่อง
รวมทั้งจะทำออกมาเป็นคู่มือ จะส่งเสริมความเสมอภาคได้อย่างไรในบริบทของโรงเรียน โดยจะมุ่งเน้นที่เด็กและบริบทของโรงเรียน คุณครูปฏิบัติต่อเด็กอย่างไร โอกาสของเด็กหญิงกับเด็กชายในโรงเรียน เครื่องมือที่นำมาใช้จะทำให้ประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจเรื่องความเหลือมล้ำทางเพศได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และตระหนักว่าหญิงและชายนั้นเท่าเทียมกัน และช่องว่างระหว่างเพศควรต้องหมดไป
ขจัดอคติทางเพศในบทเรียน
นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดับภูมิภาคเรื่องการขจัดอคติทางเพศและการใช้ภาษาเชิงลบในกระบวนการการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ระยะที่ 1 (Regional Meeting on The Elimination of Gender Stereotypes and Sexist Language in Education Materials In Primary and Secondary Levels : Phase 1.เป็นโครงการที่บรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านสตรีพ.ศ.2559–2563 (ACW Work Plan 2016–2020) ภายใต้ชื่อโครงการ Elimination of Gender stereotypes and Sexist Language in Education Materials in Primary, Secondary and tertiary Levels เป็นโครงการร่วมระหว่างคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children –ACWC) ฟิลิปปินส์ และ ACW ประเทศไทย ซึ่ง ACWC ฟิลิปปินส์ รับผิดชอบในระดับอุดมศึกษาส่วน ACW ประเทศไทยรับผิดชอบในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
ปรเมธี วิมลศิริ
เป็นเวทีให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้หารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันในประเด็นปัญหาและข้อท้าทายต่างๆ ในเรื่องอคติทางเพศที่สอดแทรกอยู่ในบทเรียน สื่อการเรียนการสอนและกระบวนการการศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษารวมทั้งเพื่อค้นหาบทเรียนที่ดี (Best Practices) ในการขจัดอคติทางเพศและการใช้ภาษาเชิงลบในกระบวนการศึกษาของประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อนำมาจัดทำคู่มือ/สื่อการเรียนการสอนที่มีการบูรณาการเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศในตำราเรียนและการศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
โดยเป็นผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ที่เป็น ACW ประเทศละ 1 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาระดับประถมศึกษาและ/หรือมัธยมศึกษาที่เป็นผู้แทน SOMED ประเทศละ 1 คน ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ผู้แทนภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านความเสมอภาคระหว่างเพศมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งสิ้น 60 คน
ทั้งนี้เมื่อการดำเนินการในระยะที่ 1 เสร็จสิ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศของประเทศสมาชิกอาเซียนจะศึกษาวิเคราะห์ประเด็นสำคัญจาก Best practices เพื่อนำมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้งในปีที่ 2 และคณะที่ปรึกษาจะได้จัดทำคู่มือและออกแบบสื่อการเรียนการสอนสมัยใหม่ที่แต่ละประเทศจะสามารถนำไปใช้ในการจัดระบบการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศสมาชิก