เปิดโปงชีวิตนักสู้ชื่อ "สุพจน์ ธีระวัฒนชัย"
"สุพจน์" เจ้าของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง จรดปากกาถ่ายทอดคมคิดเข้มข้นและมีสีสันลงในพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มแรกในชีวิต
ต้องบอกว่าสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานและใช้ชีวิตให้แก่คนทั่วไปได้อย่างมาก สำหรับ สุพจน์ ธีระวัฒนชัย เจ้าของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ที่จรดปากกาถ่ายทอดคมคิดที่เข้มข้นและมีสีสันลงในพ็อกเก็ตบุ๊คชื่อ “เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม” หลายคนที่ได้อ่านต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเต็มไปด้วยรสชาติและมุมมองหลากหลาย และยิ่งได้ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา มาช่วยขัดเกลาด้วยยิ่งชวนให้ตามติดอ่านแบบให้จบในรวดเดียว
สุพจน์ ธีระวัฒนชัย
และเพื่อให้ประวัติศาสตร์การเดินทางของนักสู้ผู้ที่พ่ายมาหลายครั้งหลายคราแต่ไม่เคยหยุดก้าวต่อไป มาตีแผ่ได้ “จริง” และ “น่าติดตาม” งานนี้ “เฮียสุพจน์” เจ้าของเรื่องจึงจัดงานเปิดตัวพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มแรกในชีวิต ท่ามกลางเพื่อนพ้องน้องพี่ และคนดังหลากหลายวงการที่ตบเท้าเข้าร่วมแสดงความยินดี อาทิ บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์, ชมภัทร แก่เมือง, ดร.เกษมสันต์ วีระกุล, อ.วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์, สวรรย์ พิภูษณานนท์, ณฐกร คงสถิตย์ เป็นต้น ที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง สาขาถนนพระราม 3 เมื่อวันก่อน
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์-สุพจน์ ธีระวัฒนชัย
หลังเซ็นชื่อลงบนปกหนังสือให้เหล่าแฟนคลับคนแล้วคนเล่า สุพจน์ วางปากกาแล้วเปิดเผยว่า “เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม” ตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองที่เริ่มต้นเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ซึ่งเกิดในครอบครัวที่ไม่ได้มีรายได้มากนัก ต้องช่วยครอบครัวทำมาค้าขาย ตั้งแต่ขนมหรือน้ำอัดลมใส่น้ำแข็งราคาถ้วยละ 1 สลึง และอีกหลายอย่าง รวมทั้งช่วยเหลือครอบครัวทำเสื้อยืดขายส่งตลาดโบ๊เบ๊ จนถึงวัยเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยได้ทำกิจกรรมมากมาย ที่สำคัญได้เป็นประธานชุมนุมศิลปะการแสดงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่หาทุนและบริหารจัดการผู้คน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีในการทำธุรกิจในอนาคต
อ.วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์
นั่นไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะราบรื่น ธุรกิจเสื้อผ้าของที่บ้านต้องประสบปัญหา แต่ก็ลุกขึ้นอีกครั้งด้วยการเป็นผู้ผลิตเสื้อยืดแบรนด์ดังในยุคนั้น “แยมแอนด์ยิม” สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ จึงขยายธุรกิจขยายโรงงาน จนเกินกำลังและล้มลงอีกครั้งอย่างไม่เป็นท่า
ดร.เกษมสันต์ วีระกุล ร่วมแสดงความยินดี
บทเรียนตลอดทั้งชีวิต สอนให้ค่อยๆ แกร่งขึ้น พร้อมวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล บวกกับนิสัยกล้าได้กล้าเสีย จึงลุกขึ้นอีกครั้งพร้อมเงินทุนก้อนสุดท้าย รวบรวมพลังและผู้ร่วมอุดมการณ์เปิดโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ไมโครบริวเวอรี่ที่นำองค์ความรู้และบริวมาสเตอร์จากเยอรมนีมาดูแลการผลิตโดยตรง ด้านดนตรีและความบันเทิงได้มองความไว้วางใจให้ บรูซ แกสตัน แห่งวงฟองน้ำ มาสร้างเสน่ห์เสริมให้รสชาติเบียร์ทวีขึ้น
อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ-สวรรย์ พิภูษณานนท์-ณฐกร คงสถิตย์
บรรยากาศการพูดคุย
เนื้อหาเด่นภายในเล่มที่หลายคนอ่านแล้วต้องทึ่ง คือท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจของไทยในช่วงปี 2542 โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงเปิดตัวอย่างสมศักดิ์ศรี โดยสุพจน์ลงมือควบคุมในทุกรายละเอียด สร้างมาตรฐานให้แก่ทุกด้าน ทั้งการผลิตเบียร์ การครัว การบริการ และการบริหารบุคลากร จริงจังถึงขั้นไปลงเรียนหลักสูตรการประกอบอาหารไทยมืออาชีพที่วิทยาลัยดุสิตธานี เพื่อนำมาปรับปรุงให้โรงเบียร์ของเขาได้มาตรฐานสากล ทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะถูกความจนเฆี่ยนตี จนเขา “ไม่อยากยากจนอีกต่อไป”