เพิ่มสายด่วน1323อีก20คู่สายให้บริการปรึกษา ปัญหาสุขภาพจิต
โดย... ทีมคุณภาพชีวิต [email protected] -
“รวมพลังป้องกันการฆ่าตัวตาย” หรือ Working Together to Prevent Suicide คือ ธีมหลักที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นทิศทางรณรงค์และขับเคลื่อนงาน เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2562 ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปี นั่นสะท้อนว่า “การฆ่าตัวตาย” กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในระดับมนุษยชาติ
ที่สำคัญปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชน มีตัวเลขที่สูงขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของการเรียน เศรษฐกิจ ครอบครัว การใช้เทคโนโลยี หรือแม้แต่การเมือง โดยสถานการณ์ในภาพรวมระดับประเทศของไทยพบว่ามีคนพยายามฆ่าตัวตายปีละประมาณ 53,000 ราย หรือ 9.55 รายต่อนาที และมีการฆ่าตัวตายสำเร็จปีละราว 4,000 ราย หรือ 1 รายในทุกๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่มีแนวโน้มพบการทำร้ายตัวเองมากขึ้นในคนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีลงมา
ทั้งนี้ รายงานองค์การอนามัยโลก พบว่าในปี 2560 มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลก 322 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก ขณะที่ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ฆ่าตัวตายสูง เฉลี่ย 6 คนต่อแสนประชากร โดยผู้หญิงเสี่ยงป่วยซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า ซึ่งทางการแพทย์ยืนยันว่า โรคซึมเศร้า มีสาเหตุหนึ่งมาจากการทำงานของระบบสมองที่ผิดปกติ
ดังนั้น การทำความเข้าใจภาวะซึมเศร้าจึงมีความสำคัญทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม เพื่อป้องกันผลกระทบและความสูญเสียให้ได้มากที่สุด เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เข้าไม่ถึงการบำบัดรักษาด้านสุขภาพจิตได้โดยตรง เนื่องจากสถานพยาบาลมีการตีความมาตรา 21 พ.ร.บ.สุขภาพจิตแห่งชาติ พ.ศ. 2551 แตกต่างกัน ทำให้เยาวชนจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึงบริการ บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเอง ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยเยาวชนเลิฟแคร์ ตัวแทนเด็กและเยาวชน จึงเข้ายื่นหนังสือต่อนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ
คือ 1.ขอให้กรมสุขภาพจิตทำหนังสือเวียนถึงหน่วยบริการในสังกัดกรมสุขภาพจิตและหน่วยบริการที่มีบริการด้านจิตเวช เพื่อชี้แจงและซักซ้อมแนวปฏิบัติในกรณีผู้ที่อายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ สามารถเข้ารับการบำบัดรักษาได้ โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอม ยกเว้นกรณีที่ต้องรับไว้รักษาในสถานพยาบาลหรือสถานบำบัดให้ชัดเจน
2.ขอให้ผู้รับบริการเข้ารับการรักษาได้ในทุกหน่วยบริการที่มีบริการด้านจิตเวช เพื่อลดขั้นตอนในการทำเรื่องขอใบส่งตัวจากสถานพยาบาลตามสิทธิ์ ในกรณีที่ไม่มีบริการด้านจิตเวช เพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาที่รวดเร็วและไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย และ 3.ขอให้มีตัวแทนเด็กและเยาวชนในคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ หรือคณะทำงานด้านนโยบายสุขภาพจิต เพื่อเสนอประเด็นปัญหาที่มีผลต่อเรื่องสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน รวมถึงในการวางแนวทางปฏิบัติที่เด็กและเยาวชนนั้นมีส่วนได้ส่วนเสีย
ขณะที่ นายสาธิต กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเน้นการใส่ใจรับฟังคนรอบข้างให้มากขึ้น ในปี 2563 กรมสุขภาพจิตจะมีการเปิดคู่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพิ่มขึ้นจาก 10 คู่สายเป็น 20 คู่สาย อาจจะยังน้อยอยู่ แต่การทำงานเรื่องนี้ต้องการคนที่เชี่ยวชาญจริงๆ และจะมีการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา การปล่อยวาง เข้าใจ ก้าวข้าม และรู้จักความผิดหวัง มาให้เยาวชนได้เรียนรู้ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิต โดยได้ตั้งงบประมาณไว้แล้ว จะเริ่มนำมาใช้ในปี 2563
ดร.จารุวรรณ สกุลคู อาจารย์สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กว่าที่คนคนหนึ่งจะไปถึงจุดที่ฆ่าตัวตายได้ มันมีปัจจัยหลายอย่างเข้าไปกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นคนวัยทำงานที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบ การหาความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาทางการเงิน ปัญหาการตกงาน รวมถึงการดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มีความรุนแรง ความท้าทายของแต่ละช่วงวัย เช่น วัยรุ่น เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ การค้นหาตัวเอง หรือวัยทำงาน-วัยเกษียณ ที่จะมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ทางสังคม ฯลฯ
เหล่านี้ นับเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความอ่อนไหวและเร่งเร้าให้เกิดความเครียด ความกดดัน วิตกกังวล อารมณ์เศร้า ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาก็จะนำไปสู่การป่วยเป็นโรคทางจิตเวชได้ ในทางกลับกันหากเราช่วยกันสร้างสังคมที่ดี สังคมที่ปลอดภัย ก็จะทำให้สุขภาพจิตของคนในสังคมดีขึ้น ซึ่งการมาพบนักจิตวิทยานั้นไม่จำเป็นต้องรอจนกระทั่งล้มป่วย เพียงแค่รู้สึกว่ามีเรื่องที่อยากจะมีคนช่วยคิด อยากให้ใครฟัง หรือมีเรื่องที่ไม่สบายใจ ก็สามารถมาพบนักจิตวิทยาได้แล้ว
นอกจากนี้ หากต้องการได้ความเห็นจากคนที่เราไม่รู้จักเลย ก็สามารถพูดคุยกับนักให้คำปรึกษา (Counselors) ได้ ซึ่งการพูดคุยกับนักจิตวิทยานั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาหรือเรื่องคับข้องใจเท่านั้น หากแต่ผู้ที่ต้องการพัฒนาตัวเอง ยกระดับศักยภาพตัวเอง รวมไปถึงการปฏิบัติตัวเพื่อให้ห่างไกลจากการเจ็บป่วย หรืออยากมีสุขภาพจิตเชิงบวก ก็สามารถพูดคุยกับนักจิตวิทยาได้ทั้งสิ้น
โรคทางจิตเวช
พญ.มุทิตา พนาสถิต รองหัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรคทางจิตเวชคือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับการควบคุมอารมณ์ กระบวนการคิด หรือพฤติกรรม โดยจะแสดงออกผ่านทางอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมที่ผิดปกติจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น
มีสาเหตุมาจากพัฒนาการของสมองที่ผิดปกติ ความผิดปกติของสารสื่อประสาท รวมถึงปัจจัยทางจิตสังคม เช่น ปัญหาในชีวิต การเลี้ยงดู ลักษณะนิสัย และประสบการณ์ในอดีต สำหรับโรคทางจิตเวชนั้นมีหลายโรค อาทิกลุ่มโรคจิต (psychotic disorders) ได้แก่ โรคที่มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว ความคิดหลงผิด หรือพฤติกรรมแปลกๆ ที่ไม่สมเหตุผล โดยผู้ป่วยในกลุ่มโรคนี้จะไม่สามารถแยกแยะความจริงได้ ฉะนั้นส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังป่วย
ขณะที่ผู้ป่วยด้วยกลุ่มโรคอื่นๆ เช่น กลุ่มโรคทางอารมณ์ (mood disorders) ได้แก่ โรคซึมเศร้า (depressive disorders) โรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorders) รวมไปถึงกลุ่มโรควิตกกังวล (anxiety disorders) มักจะรู้ตัวว่าตัวเองกำลังผิดปกติไปจากเดิม
“คนทั่วไปอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นเป็นปกติ กับอารมณ์เศร้าที่เป็นอาการจากโรค แต่เมื่อใดก็ตามที่อาการเหล่านั้นส่งผลกระทบหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ก็จำเป็นต้องให้แพทย์วินิจฉัยเพื่อให้การรักษาต่อไป” พญ.มุทิตา กล่าว
ปัจจุบันมีช่องทางทดสอบภาวะซึมเศร้าผ่านช่องทางต่างๆ เช่น แอพ “สบายใจ” หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โดย 5 อันดับเรื่องที่เด็กและเยาวชนปรึกษามากที่สุด ได้แก่ ความเครียด หรือวิตกกังวล ปัญหาทางจิตเวช ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า และปัญหาครอบครัว
ทั้งนี้ โรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ด้วยยาแผนปัจจุบัน การรักษาทางจิตใจ รวมถึงแพทย์ทางเลือกอย่างสมุนไพรเช่น ขมิ้นชัน บัวบก น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว และฟักทอง โดยสามารถใช้สิทธิการรักษาทั้งประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ