ลูกหนี้หวั่นใจ โดนเจ้าหนี้โทรข่มขู่
ลูกหนี้หวั่นใจ โดนเจ้าหนี้โทรข่มขู่ คอลัมน์.. เปิดซองส่องไทย ร้องทุกข์กับลุงแจ่ม
มีเรื่องอยากจะร้องเรียนกับทางลุงแจ่ม ดังนี้ คือ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 ทางบริษัทบริหารสินทรัพย์ JAM หรือ JMT โทรทวงหนี้กับดิฉัน เพื่อโทรทวงถามเรื่องเงินที่จะชำระ เราได้มีการโต้เถียงกันสักพัก ดิฉันก็ไม่ทราบว่า ทางบริษัทบริหารสินทรัพย์ JAM หรือ JMT ได้ทำการบันทึกเสียงของดิฉันไว้ โดยดิฉันได้บอกกับทางเจ้าหน้าที่ที่โทรมาว่า ให้ไปฟ้องได้เลย และเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมานี้เอง ได้มีเจ้าหน้าที่จากทางบริษัทบริหารสินทรัพย์ JAM หรือ JMT โทรมาอีก โดยเจ้าหน้าที่คนนั้นได้บอกกับดิฉันว่า คุณท้าให้บริษัทฟ้องใช่หรือไม่ และก็ถามถึงตำแหน่งหน้าที่การงานของดิฉัน แต่ดิฉันก็ไม่ได้บอกว่าทำงานที่ไหน และทางเจ้าหน้าที่ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ JAM หรือ JMT ก็ได้ข่มขู่ดิฉันว่า จะส่งไฟล์เสียงที่ได้ทำการบันทึกไว้ ส่งให้ทางฝ่ายทรัพยากรบุคคล และทางผู้บริหารระดับสูงได้รับทราบ
ดิฉันไม่เข้าใจว่า ทางบริษัทนี้มีการอัดคลิปเสียงโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตได้อย่างไร และทางบริษัทมีสิทธิข่มขู่ลูกหนี้แบบนี้ได้ด้วยหรือ ดิฉันจึงอยากให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าวนี้ให้รับรู้ด้วยว่า การข่มขู่แบบนี้ และการอัดเสียงแบบนี้สามารถกระทำได้ด้วยหรือ เพราะดิฉันถือว่าการทำแบบนี้เป็นกรณีลิดรอนสิทธิมนุษยชนหรือไม่ แล้วทางลูกหนี้จะทำอย่างไรได้บ้างในกรณีแบบนี้
บังอร
ตอบ
นายบรรเจิด ชวลิตรุจิวงษ์ พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน ชี้แจงว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 ดังนั้น ท่านสามารถใช้สิทธิร้องเรียนได้ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียน ดังต่อไปนี้ ที่ทำการปกครองจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง (กลุ่มกำกับการทวงถามหนี้) โทร.0-2356-9660 สถานที่ตั้ง วังไชยา (ตรงข้าม ธ.ก.ส.เดิม) ถนนนครสวรรค์ เขตดุสิต กทม. 10300, กองบัญชาการตำรวจนครบาล ฝ่ายอำนวยการ 5 โทร.0-2280-5189 สถานที่ตั้งเลขที่ 323 ถนนศรีอยุธยา แขวงดุสิต เขตดุสิต กทม. 10300, สถานีตำรวจ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร.0-2169-7127-36 สถานที่ตั้ง กระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 อารีย์สัมพันธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม.
ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ฉบับนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการ ติดตามทวงถามหนี้ที่มีมาตรฐานเดียวกัน และมีบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างชัดเจน ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันมิให้พนักงาน (ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ) อาจกระทำผิดตามกฎหมายฉบับนี้ในกรณีของ “บุคคลต้องห้ามในการทวงถามหนี้” ตามมาตรา 14 “ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐประกอบธุรกิจทวงถามหนี้หรือทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน...”
มาตรา 8 ห้ามผู้ทวงหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่บุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการดังกล่าว การติดต่อกับบุคคลอื่นนอกจากบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เพื่อวัตถุประสงค์ในการสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้น โดยผู้ทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ (1) แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ (2) ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้น เป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ ให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็นและตามความเหมาะสม (3) ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในหนังสือ หรือในสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการติดต่อสอบถาม ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ของลูกหนี้
มาตรา 11 ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้ (1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น (2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น (3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ (4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา 34 “ในกรณีที่ปรากฏแก่คณะกรรมการตามมาตรา 27 ว่า ผู้ทวงถามหนี้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้ทวงถามหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการตาม มาตรา 27 พิจารณามีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท”
มาตรา 37 “ให้คณะกรรมการตามมาตรา 27 มีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ได้เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ เคยถูกลงโทษปรับทางปกครองและถูกลงโทษซ้ำอีกจากการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติที่มีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัตนี้”
ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ของทางบริษัทบริหารสินทรัพย์ JAM หรือ JMT มีการโทรศัพท์ไปข่มขู่ลูกหนี้ของทางบริษัท เพื่อเร่งรัดให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยเจ้าหน้าที่มีการประพฤติปฏิบัติที่ผิดไปจากหลักของพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ไม่ว่าจะมีการกระทำความผิดมาตราไหนก็ตามถือว่าผิดพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 และในกรณีดังกล่าวที่ทางเจ้าหน้าที่ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ JAM หรือ JMT ได้มีการแอบบันทึกเสียงสนทนาของคู่สนทนาขณะที่โทรมาสอบถามทวงหนี้กับทางลูกหนี้ และได้มีการโทรมาข่มขู่กับทางลูกหนี้เรื่องการจะนำคลิปเสียงที่ได้อัดไว้ไปส่งให้กับทางหน่วยงานของต้นสังกัดที่ตัวของลูกหนี้ได้ทำงานอยู่นั้น และในการที่มีการบันทึกคลิปเสียงการสนทนาดังกล่าว ทางตัวของเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ได้มีการขออนุญาตที่จะทำการบันทึกเสียงการสนทนาครั้งนั้นแต่อย่างใด การกระทำแบบนี้อาจถือว่ามีความผิดทางด้านของกฎหมาย ในการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ซึ่งตัวผู้ที่ถูกบันทึกเสียงเองนั้นสามารถเก็บรวบรวมหลักฐานและนำไปฟ้องร้องกับศาลได้เลย