เที่ยว "ภูเขาทอง" งานวัดในความทรงจำ
งานวัดภูเขาทอง เริ่มมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เกี่ยวเนื่องกับงานเทศกาลการละเล่นทางน้ำ
ครั้งหนึ่ง ครั้งหนึ่งเธอจำได้ไหม สองเราเคยเที่ยวงานวัดบ้านใต้ ทำบุญปิดทององค์พระมาลัย ก่อพระเจดีย์ทรายร่วมกัน...เพลง “งานวัด” ของศิลปิน “วงเพื่อน” ทำให้หวนรำลึกถึงงานวัดที่กรุงเทพฯ คงไม่มีที่ไหนจะยิ่งใหญ่และทำให้ผู้คนรอคอยมากที่สุดเท่า “งานวัดภูเขาทอง” แล้ว
พิธีห่มผ้าแดงภูเขาทอง
งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ หรือ งานภูเขาทอง เป็นเทศกาลงานวัดยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ งานวัดภูเขาทองกลับมาอีกครั้ง หลังห่างหายไปสามปีเต็มหลังจากการมรณภาพของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือ “สมเด็จเกี่ยว” ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดสระเกศ
งานวัดภูเขาทองจัดขึ้นต่อเนื่องมายาวนานหลายสิบปี เริ่มมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เกี่ยวเนื่องกับงานเทศกาลการละเล่นทางน้ำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้ขุดคลองใหญ่ข้างวัดสระเกศขึ้น พระราชทานนามว่าคลองมหานาค เพื่อให้ชาวพระนครเล่นเพลงเรือ เล่นสงกรานต์ และลอยกระทง ในเทศกาลทางน้ำ ตามแบบอย่างคลองมหานาคที่ทุ่งภูเขาทอง ของกรุงศรีอยุธยา จึงได้เกิดงานวัดภูเขาทอง
สีสันภูเขาทองยามค่ำคืน
ครั้นต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่า ที่คลองมหานาค วัดสระเกศ เริ่มมีประชาชนมาเที่ยวงานเทศกาลทางน้ำมากขึ้นทุกปี จึงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง ประดิษฐานไว้ที่ริมคลองท่าน้ำวัดสระเกศ เพื่อให้ประชาชนที่มาเที่ยวงานเทศกาลได้เคารพสักการบูชา และถวายพระนามว่า “หลวงพ่อโต” ภายหลังเมื่อบ้านเมืองเจริญมากขึ้น จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่เชิงบรมบรรพต ภูเขาทอง หันพระพักตร์ออกสู่คลองมหานาคเช่นเดิม
นมัสการพระประธานในพระอุโบสถ
งานวัดสระเกศเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น และเป็นที่รู้จักของประชาชนอย่างกว้างขวางในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างภูเขาทองต่อจากรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 จนแล้วเสร็จ ทรงรับพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอินเดีย แล้วให้บรรจุประดิษฐานไว้บนองค์บรมบรรพตภูเขาทอง และมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ชมพระบรมบรรพตที่ชั้นบนสุด พร้อมชมความงามของพระพุทธรูปและภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ
ชิงช้าสวรรค์สัญลักษณ์งานวัด
ส่วนการงานวัดภูเขาทองปีนี้กำหนดจัดกันถึง 10 วัน 10 คืน คือระหว่างวันที่ 4–13 พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลา 07.00-24.00 น เริ่มงานในวันแรกโดยพิธีเชิญผ้าแดงห่มองค์พระบรมบรรพตหรือพิธีห่มผ้าแดงภูเขาทองเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา การห่มผ้าแดงภูเขาทอง สีแดงตามความเชื่อโบราณคือสีแห่งความเป็นมงคล และมีความเชื่อที่ว่า ผู้ที่เขียนชื่อ นามสกุล บนผ้าสีแดง แล้วนำผ้านั้นไปห่มพระบรมสารีริกธาตุ ก็จะมีความเป็นสิริมงคล แท้จริงเป็นวิธีการประชาสัมพันธ์อันชาญฉลาด เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีการประชาสัมพันธ์อันรวดเร็วเช่นปัจจุบัน การห่มผ้าแดงให้เห็นเด่นสง่าแต่ไกล จึงเป็นสัญลักษณ์บอกชาวพระนครได้รู้ว่ากำลังมีงานสมโภชประจำปีขึ้น
ม้าหมุนเครื่องเล่นขวัญใจเด็กๆ
บ้านผี ที่คงอยู่กับงานวัดภูเขาทองมาอย่างยาวนาน
หลังเสร็จจากพิธีห่มผ้าแดงภูเขาทอง ต่อจากช่วงเวลา 07.00-24.00 น. ของวันที่ 4-13 พฤศจิกายน ก็จะเป็นงานสมโภชองค์พระบรมสารีริกธาตุ ที่ยังคงความเป็นงานวัดภูเขาทองที่ประชาชนคุ้นเคยคือ การได้เล่นชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน ต่อคิวเข้าบ้านผี ยิงปืนจุกน้ำปลา ปาลูกโป่ง การแสดงดนตรี การแสดงวัฒนธรรมต่างๆ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากทั่วโลก
ยิงปืนจุกน้ำปลาล่ารางวัล
ข้าวโพดคั่วแสนอร่อย
ขนมไทยหวานฉ่ำ
ขณะที่รอบๆ งานก็มีของกินมากมายให้ได้อิ่มท้อง อาทิ ข้าวโพดคั่วโบราณ คั่วกันใหม่ๆ สดๆ ข้าวหลาม ขนมลา ไก่ย่าง หอยทอด ขนมเบื้อง และอีกมากมายไว้ให้ได้ลิ้มรส ซึ่งช่วงวันงานยังมีความพิเศษอีกคือตอนกลางคืนทางวัดจะเปิดให้ประชาชนขึ้นไปกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุ พร้อมปิดทองเพื่อความเป็นสิริมงคล
คนเที่ยวงานคึกคักทุกปี
โอกาสดีๆ แบบนี้ น่าจะชวนเพื่อน ชวนแฟน พาลูกหลาน ไประลึกความหลัง ด้วยการมาเที่ยวงานภูเขาทองกัน เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้สัมผัสบรรยากาศงานวัดแบบไทยๆ ไปนานๆ
เสียอย่างเดียวปีนี้เดินจนทั่วงาน หาสาวน้อยตกน้ำ เมียงู รถไต่ถังไม่เจอ เลยได้แต่คล้องแขนคนคุ้นเคยไปลอยกระทงท่ามกลางผู้คนจอแจ...