เรื่องของ ทราย กับ ลูเตอร์
เรื่องของ ทราย กับ ลูเตอร์ คอลัมน์... กฤษณะทัวร์ยกล้อ
เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและการเดินทางของ “ทราย” กับ “ลูเตอร์” ได้จุดประกายให้สังคมไทยตระหนักถึงสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมของคนพิการ โดยเฉพาะคนพิการทางสายตา หรือคนตาบอดในการเข้าถึงบริการสาธารณะ และสถานที่ต่างๆ ได้โดยสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
“คีริน เตชะวงศ์ธรรม” คือชื่อจริงของ “ทราย” สาวน้อยวัย 22 ปี ผู้พิการทางสายตาเนื่องจากอาการเนื้องอกในสมองตั้งแต่อายุ 13 ปี เธอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติร่วมฤดีในกรุงเทพฯ ก่อนจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยคะแนนเกียรตินิยมด้านจิตวิทยา และรางวัล “นักศึกษาดีเด่น” จากมหาวิทยาลัย Hendrix College ในรัฐอาร์คันซอ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562
ส่วน “ลูเตอร์” สุนัขนำทางของเธอ เป็นสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ เพศผู้ อายุ 3 ขวบครึ่ง ผ่านการฝึกฝนเพื่อทำหน้าที่เป็นสุนัขนำทางสำหรับผู้พิการทางสายตาจากโรงเรียนฝึกสุนัขนำทางในรัฐนิวยอร์กชื่อ Guiding Eyes for the Blind ซึ่งค่าใช้จ่ายในการฝึกสุนัขให้เป็นสุนัขนำทางคนตาบอดจะตกประมาณตัวละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.6 ล้านบาท !
แต่น้องทรายไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะโรงเรียนฝึกสุนัขแห่งนี้เป็นองค์กรการกุศล นอกจากนี้เมื่อได้รับสุนัขไปแล้วทางโรงเรียนยังมีเงินอุดหนุนให้อีกปีละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลและฉีดวัคซีนสุนัขนำทาง
เมื่อ “ทราย” พา “ลูเตอร์” มาเมืองไทยเป็นครั้งแรก โดยสายการบินสากล ซึ่งถือว่าสุนัขนำทางคนตาบอดเป็นเสมือนอุปกรณ์นำทางเหมือนกับไม้เท้าหรือรถเข็น ทรายจึงสามารถพาลูเตอร์ขึ้นเครื่องบินได้ แต่เมื่อมาถึงเมืองไทยเธอจึงได้สัมผัสถึงปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับข้อห้ามในการนำสุนัขนำทางคนตาบอดเข้าไปยังสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง
จึงเป็นที่มาของ “9 เรื่องที่ทรายและลูเตอร์อยากให้คนได้รู้” คือ (1) สุนัขนำทางไม่ใช่สัตว์เลี้ยง (2) สิทธิตามกฎหมายของผู้พิการ (3) สุนัขนำทางได้รับการฝึกมาอย่างดี อึ-ฉี่ ไม่มีปัญหา (4) แม้จะดูเหมือนนอน แต่สุนัขนำทางก็อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ (5) สี่ตีนยังรู้พลาด (ลูเตอร์ไม่ใช่หุ่นยนต์เขาจึงทำผิดพลาดได้) (6) สุนัขนำทางไม่ใช่จีพีเอส (7) สุนัขนำทางไม่ได้ถูกบังคับให้ทำงาน (8) อย่าคิดและตัดสินใจแทนคนพิการ (9) คนพิการสามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้อย่างเป็นอิสระ
“จริงๆ แล้วการใช้สุนัขนำทาง หรือการใช้ไม้เท้านำทางของคนตาบอด เราไม่ได้ขอหรือต้องการโครงสร้างอะไรที่พิเศษไปกว่าคนอื่น ถ้าการออกแบบและก่อสร้างได้คุณภาพมาตรฐาน ถ้าโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ฟุตบาททางเท้า สร้างอย่างถูกต้องได้มาตรฐาน คือ กว้าง ราบเรียบ ไม่ขรุขระ ไม่มีหลุม ไม่มีสิ่งกีดขวาง ไม่อันตรายเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าทำทุกอย่างเรียบร้อย ทุกคนก็คงไม่มีปัญหา รวมถึงคนพิการก็ไม่มีปัญหากับการเดินทาง” น้องทรายกล่าว
จากสภาพปัญหาทางเดินเท้าในกรุงเทพมหานครในปัจจุบันที่ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้คุณภาพมาตรฐาน จึงส่งผลให้คนพิการโดยเฉพาะคนพิการทางสายตาต้องประสบปัญหาเป็นอย่างมากรวมถึง “ทราย” กับ “ลูเตอร์” ก็เช่นเดียวกัน
“เวลาเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ สุนัขนำทางก็ช่วยได้ในบางสถานการณ์ เช่น ในการเดินทางเท้า ลูเตอร์ก็จะช่วยนำทางทำให้การเดินทางราบรื่นขึ้น เพราะสุนัขนำทางจะช่วยหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้ดีกว่าไม้เท้า แต่ถ้าเป็นสิ่งกีดขวางในระดับศีรษะ ลูเตอร์จะยังไม่แม่นยำ ก็อาจพาเราเดินไปชนได้ หรือถ้าต้องเดินไปในเส้นทางที่คับแคบซึ่งในต่างประเทศก็อาจมีบ้าง สุนัขนำทางก็จะหยุดให้เรารู้ว่าเราเดินพร้อมกันไม่ได้ แต่ทางเดินเท้าโดยทั่วไปในไทยมักจะแคบโดยส่วนใหญ่ ลูเตอร์ก็จะกะเอาเองว่าน่าจะพ้น ซึ่งบางทีก็อาจจะไม่พ้น หรือบางครั้งอาจจะตกหลุม อาจไปถึงเกิดอุบัติเหตุได้” เธอกล่าวถึงประสบการณ์ในการใช้ฟุตบาททางเท้าใน กทม.
อย่างไรก็ตาม “ทราย” บอกว่า “ลูเตอร์” เป็นสุนัขนำทางที่เก่งและน่ารักมาก สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น เวลาจะข้ามถนน เขาก็จะพาเราไปที่ปลายฟุตบาท เราก็จะบอกว่าให้พาเดินข้ามไปฟุตบาทอีกฝั่งหนึ่ง พอเขาพาไปถึงเขาก็จะหันมามองเราอย่างภาคภูมิใจเหมือนจะบอกว่าฉันทำได้นะ หรือเมื่อพาลงบันไดเสร็จเขาก็พยายามแสดงให้เรารู้ว่าฉันทำได้ หรือฉันทำถูกต้องใช่ไหม
“ทรายจะมีระเบียบวินัยกับลูเตอร์สูงมาก เพราะเขาจะต้องไปกับเราในทุกที่ อีกทั้งการที่เราเป็นคนส่วนน้อยที่ใช้สุนัขนำทางเราจึงต้องรักษาภาพลักษณ์ของเราให้ดี เช่น การดูแลรักษาความสะอาดและการดูแลสุขภาพ จะต้องมีการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนตลอดเวลา ต้องมียาที่ป้องกันเห็บ หมัด รวมถึงการควบคุมน้ำหนัก เพราะสุนัขนำทางแต่ละตัวกว่าจะฝึกมาให้ใช้งานได้ ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงมาก ดังนั้นเราก็อยากให้เขาทำงานและอยู่กับเราให้ได้นานที่สุด” น้องทรายกล่าวทิ้งท้ายถึง “ลูเตอร์” สุนัขนำทางคู่ใจที่ช่วยปลุกกระแสความตื่นตัวในเรื่องสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมของคนตาบอดกับสุนัขนำทาง สู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ตกหล่น หรือหลงลืมใครไว้ข้างหลังอีกต่อไป