เผาเทียนเล่นไฟ ปลอดโฟม ปรับพิธีลอยกระทงยุคดิจิทัล
เผาเทียนเล่นไฟ ปลอดโฟม ปรับพิธีลอยกระทงยุคดิจิทัล โดย... ปาริชาติ บุญเอก [email protected]
ประเพณีลอยกระทง ซึ่งตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน ของคนไทยกับความเชื่อที่ว่าเป็นการขอขมาพระแม่คงคา แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นประเด็นมุ่งเป้าไปที่ซากกระทงซึ่งกลายเป็นขยะ หลายฝ่ายจึงพยายามรณรงค์ให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติ รวมถึงขอความร่วมมือกับร้านค้างดแจกถุงพลาสติกและโฟม
อ่านข่าว... ลอยกระทงปลอดภัยใช้ 6 มาตรการเข้ม
ก่อนหน้าเทศกาลลอยกระทงไม่นาน นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ออกมาเชิญชวนคนไทยทั่วประเทศ ให้ช่วยกันลดการใช้กระทงที่ทำจากพลาสติกและโฟม แล้วหันมาใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติและย่อยสลายไม่เป็นอันตรายต่อแม่น้ำลำคลองและสัตว์น้ำต่างๆ เช่น ใบตอง ต้นกล้วย โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จะนำร่องในปีนี้เพื่อลดปริมาณขยะที่จะลงสู่แม่น้ำลำคลองแล้วไหลลงปากแม่น้ำและทะเลเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณแม่น้ำและพระแม่คงคาอย่างแท้จริง
โดยปีนี้ ทส. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลอยกระทงปลอดโฟม ภายใต้แนวคิด “มาด้วยกัน ลอยด้วยกัน” หรือ “1 ครอบครัว 1 กระทง” รวมถึงขอให้ผู้จัดงานลอยกระทงทั่วประเทศ จัดงานลอยกระทงแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยขอความร่วมมือจากร้านค้าต่างๆ ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและโฟมบรรจุอาหาร เลือกใช้ภาชนะทดแทนที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนพกถุงผ้า กระบอกน้ำ และกล่องอาหารมาเอง มีการจัดการขยะภายในงานอย่างเป็นระบบ มีถังขยะแยกประเภทอย่างเพียงพอ ป้องกันปัญหาขยะทะเล เนื่องจากสถานที่จัดงานส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง
หลังจากงานลอยกระทงผ่านพ้นไป ในปีนี้พบว่าได้รับความสนใจและความร่วมมือจากผู้จัดงานในจังหวัดต่างๆ เป็นอย่างดี อาทิ จ.พิษณุโลก ซึ่งจัดงานลอยกระทงบริเวณหน้าวัดโพธิญาณ โดยส่วนใหญ่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ และย่อยสลายได้ เช่น ใบตอง ขนมปัง เพื่อลดขยะและเป็นการให้อาหารปลาที่มีอยู่จำนวนมาก ขณะที่ จ.พิจิตร จัดงาน “ลอยกระทงลาวา สายธาราดงกลาง” ที่ท่าน้ำคลองข้าวตอก หน้าวัดดงกลาง ซึ่งมีการปล่อยกระทงลาวาทำจากกะลามะพร้าวผ่าครึ่ง เป็นวัสดุเหลือใช้ หยอดน้ำตาเทียนและไส้เทียนที่เหลือจากประเพณีเข้าพรรษาและจากวัดที่จุดไหว้พระจำนวนหลายพันกระทง ให้ลอยกลางสายน้ำเหมือนสายลาวาจากภูเขาไฟ เพื่อความเป็นสิริมงคล
รวมถึง จ.กาฬสินธุ์ จัดการประกวดกระทงสวยงามขนาดใหญ่ (จากวัสดุรีไซเคิล) จ.บุรีรัมย์ จัดโครงการสืบสานประเพณีลอยกระทง “บารายศรัทธา สมมาสายน้ำ ปราสาทเมืองต่ำ น้อมนำบูชา” และจากการสำรวจโดยกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ พบว่าในปีนี้ประชาชน และนักท่องเที่ยวให้ความร่วมมือในการใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง ต้นกล้วย และดอกไม้ชนิดต่างๆ รวมทั้งขนมปัง ที่ย่อยสลายง่ายมาประดิษฐ์กระทงเพิ่มมากขึ้นราว 80% ขณะที่ จ.สุพรรณบุรี กระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติก็ได้รับความสนใจอย่างคึกคัก ซึ่งภายในตลาดสดเทศบาลเมืองสุพรรณ มีลูกค้าบางรายนิยมซื้อวัสดุธรรมชาติไปทำกระทงเอง
สำหรับประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญที่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติต่างปักหมุดเพื่อมาชมความงดงามทั้งแสง สี เสียง ประเพณี วัฒนธรรมอันเก่าแก่ เริ่มจัดงานครั้งแรกในปี 2520 จนปัจจุบัน ติด 1 ใน 10 ของเทศกาลและงานเฉลิมฉลองที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดของโลก จัดขึ้นภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อำเภอเมือง จ.สุโขทัย กว่า 10 วัน 10 คืน
โดยในปีนี้ จ.สุโขทัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายด้านวัฒนธรรมในจังหวัดสุโขทัย ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชนชาวจังหวัดสุโขทัย กำหนดจัดงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 2-11 พฤศจิกายน พร้อมได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ พระราชทานพระประทีป รวมทั้งสิ้น 12 พระองค์ เพื่อเชิญลงลอยเป็นปฐมฤกษ์ ณ บริเวณสระน้ำวัดสระศรี (ตระพังตระกวน) ในวันที่ 11 พฤศจิกายน โดยมี นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี
ทั้งนี้ภายในงานได้จัดให้มีกิจกรรมที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวสุโขทัย ที่ได้กล่าวขานในหลักศิลาจารึก อาทิ พิธีรับรุ่งอรุณแห่งความสุข พิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์สุโขทัยทุกพระองค์ การเทศน์มหาชาติ การประกวดกระทงใหญ่ กระทงเล็ก โคมชัก โคมแขวน พนมหมาก และพนมดอกไม้ รวมถึงการแสดงดนตรีไทย การจัดกิจกรรมข้าวขวัญวันเล่นไฟ การแสดงประกอบแสง เสียง พิธีเผาเทียน การประกวดนางนพมาศ ขบวนแห่งกระทงเล็ก โคมชัก โคมแขวน พนมหมาก พนมดอกไม้ และกระทงใหญ่ ขบวนแห่ประเพณีวัฒนธรรม 9 อำเภอ ขบวนแห่งนางนพมาศ พิธีเชิญไฟพระฤกษ์ และพระประทีป การแสดงตำนานท้าวศรีจุฬาลักษณ์และการแสดงพลุ ตะไล ไฟพะเนียง
รวมถึง “ตลาดแลกเบี้ย” จำลองวิถีชีวิตตลาดของชาวสุโขทัยโบราณ โดยต้องใช้เบี้ยแทนเงินสด ซึ่งมีการจัดเตรียมเบี้ยโบราณให้ทักท่องเที่ยวได้แลกเบี้ยเพื่อนำไปซื้ออาหาร หรือสินค้าภายในตลาด นอกจากนี้ยังรณรงค์งดจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด การขอความร่วมมือพ่อค้าแม่ค้าใช้บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารที่ทำมาจากธรรมชาติ ย่อยสลายง่าย และปลอดโฟมร้อยเปอร์เซ็นต์
แม้ขณะนี้อยู่ในยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากความสะดวกสบายไปสู่การงดใช้พลาสติกที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลายคนอาจมองว่านี่คือการผลักภาระให้ผู้ค้า หรือสร้างความยากลำบากให้แก่ผู้บริโภค จนมีลูกค้าบางรายเปลี่ยนใจไม่ซื้อเมื่อเห็นว่าร้านไม่มีถุงพลาสติกให้
แต่เสียงจากฐานะแม่ค้าภายในงานอย่าง “คุณป้าจำปี วุ่นพ่วง” วัย 54 ปี ชาวจังหวัดสุโขทัย ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมเทศกาลงานลอยกระทง กล่าวว่า ครอบครัวมีอาชีพขายเสื้อผ้าพื้นเมืองและเครื่องประดับ มีโอกาสได้สัมผัสประเพณีลอยกระทงมาตั้งแต่เกิด ขายของตามงานลอยกระทงจนปัจจุบันได้ขายในร้านค้าภายในอุทยาน แม้ช่วงหลังๆ งานประเพณีจะเปลี่ยนไป คึกคักมากขึ้น และมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น แตกต่างจากความเรียบง่ายในสมัยก่อน แต่ก็รู้สึกภูมิใจที่คนทั่วไปต่างให้ความสนใจ และภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนสุโขทัย
คุณป้าจำปีเล่าเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาในโซนอาหารจะมีการใช้ใบตองแทนภาชนะโฟม และในปีนี้มีการเข้มงวดมากขึ้น โดยงดใช้ถุงพลาสติกอย่างเด็ดขาด และใช้ภาชนะที่ทำจากกระดาษเพื่อให้จัดการง่าย รวมถึงมีเจ้าหน้าที่อนามัยตรวจตราร้านค้า ตรวจหลังร้าน เพื่อความสะอาด สำหรับร้านป้าหันมาใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติก ซึ่งต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือดี หลายคนที่ซื้อสินค้าชิ้นเล็กๆ หรือมีถุงมาเองก็จะไม่รับถุง ซึ่งลอยกระทงปีนี้ ถือว่ามีการจัดการขยะได้ดีและรวดเร็วกว่าปีที่ผ่านมา
ขณะที่ข้อมูลจาก กทม. ในการจัดเก็บกระทงในเขตกรุงเทพมหานคร ปี 2561 มีปริมาณทั้งสิ้น 841,327 ใบ แบ่งเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ 796,444 ใบ และกระทงโฟม 44,883 ใบ คิดเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 94.7% และกระทงโฟม 5.3% ส่วนในปี 2562 มีจำนวนกระทงลดลงกว่า 3 แสนใบ โดยมียอดจัดเก็บรวม 502,024 ใบ ส่วนใหญ่ทำจากวัสดุธรรมชาติ 96.3% ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี และชี้ให้เห็นว่าประชาชนและผู้ค้ากระทงได้ให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น