จรัส Light Fest เจิดจ้าหน้าหอศิลปฯ
ศิลปะกลางแจ้งสุดเก๋ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในผลงาน
มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้จัดพิธีเปิดโครงการจรัส Light Fest : เทศกาลศิลปะแสงกลางแจ้ง ที่ลานด้านหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ โดยมี ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นประธานในพิธี
H-Lab collective กับผลงาน THE CYCLE
ในโอกาสนี้ ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ผู้อำนวยการโครงการจรัส แสงสร้างสรรค์ และ ลักขณา คุณวิชยานนท์ ที่ปรึกษาโครงการ ได้ร่วมต้อนรับ แถลงรายละเอียดของโครงการ พร้อมนำชมงานศิลปะแสงที่จัดแสดงทั้ง 12 ชิ้นจากศิลปิน 9 ท่าน ได้แก่ กฤช งามสม, นพไชย อังควัฒนะพงษ์, พงษธัช อ่วยกลาง, วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์, ขจรศักดิ์ โภคพูล, คมกฤษ เทพเทียน, อภิรัฐ สว่างหล้า, รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์, เอกชญงค์ พรขจรกิจกุล และกลุ่มศิลปินอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ H-Lab collective (ภานรินทร์ สื่อจินดาภรณ์, ไตรรัตน์ หอมจันทร์, เรืองฤทธิ์ ฤทธิ์เรืองเดช และ พัสวี เกษมวัฒนชัย) ZIEGHT (มนต์ วัฒนศิริโรจน์, กิตติ แสงสุวรรณ และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์) conscious x KIMBAB (วีร์ วีรพร และ ณัฐกิตติ์ กังสดาลเสนานนท์) ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าส่วนหนึ่งจากแผงโซลาร์ที่ติดตั้งในตัวชิ้นงานเองและที่มาจากดาดฟ้าของหอศิลปกรุงเทพฯ
นอกจากศิลปิน ผู้คนในแวดวงศิลปะและพลังงานทางเลือก นักศึกษา บรรดาผู้สื่อข่าว และสาธารณชนผู้สนใจ การจัดงานครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากทางผู้บริหารของ กกพ. และกลุ่มองค์กรภาคีพันธมิตรในเครือข่ายของ กกพ. มาร่วมงานอีกด้วย ได้แก่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (โครงการไฟจากฟ้า) ทีวีบูรพา (โครงการคนบันดาลไฟ) เทลสกอร์ (The Power of Me) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA Solar Vengers)
คมกฤษ เทพเทียน กับผลงาน “หนอนสายรุ้ง”
กฤช งามสม เจ้าของผลงาน “ใจกลางเมือง”
ภายในงานส่วนหนึ่งของศิลปินได้บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยเริ่มจาก กฤช งามสม เจ้าของผลงาน “ใจกลางเมือง” (Red Heart) กล่าวว่าได้รับแรงบันดาลใจจากแสงไฟสีแดงท้ายรถยนต์ในยามคํ่าคืนบริเวณสี่แยกปทุมวัน ที่เปลี่ยนท้องถนนให้กลายเป็นสีแดง และเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่บ่งบอกถึงชีวิตคนเมืองกรุง อีกทั้งยังเป็นสถานการณ์นัยยะของการสิ้นเปลืองพลังงานบนท้องถนนในเมืองไทย กฤชเลือกใช้ไฟท้ายรถยนต์มือสองหลายๆ รุ่น นำมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นงานประติมากรรมรูปหัวใจ และติดปีกด้านข้างของหัวใจทำจากแผงโซลาร์เซลล์เป็นตัวส่งพลังงานให้หัวใจดวงนี้มีแสงสว่างและโบยบิน เชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่บริเวณสี่แยกปทุมวัน ที่เป็นเสมือนหัวใจหลักของคนกรุงเทพฯ ที่ใช้พลังงานอันมหาศาลเพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อในการขับเคลื่อนไปทั่วกรุงเทพมหานคร
พงษธัช อ่วยกลาง กับผลงาน ประกาศ ประกาศ ความเข้าใจคลาดเคลื่อน
ด้าน พงษธัช อ่วยกลาง กล่าวถึงที่มาของผลงาน “ประกาศ ประกาศ ความเข้าใจคลาดเคลื่อน” ว่าเมื่อผมจะพูดถึงอะไรสักอย่าง หรือความคิดอะไรก็ตาม ผมมีความรู้ในสิ่งนั้นๆ แต่เกี่ยวกับแนวความคิดเรื่องพลังงานแสดงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ผมเห็นแต่รูปแบบที่ดูดีในแนวความคิด ซึ่งเห็นภาพความเป็นจริงไม่ได้ แต่เห็นภาพย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาในวัยเด็กที่มีวิชาวิทยาศาสตร์ ผมได้รู้จักเลนส์นูน และก็วิ่งออกไปกลางสนามหญ้า ใช้เลนส์ส่องกระดาษให้แสงแดดผ่านเกิดการรวมแสง ทำให้กระดาษติดไฟ คงเป็นประสบการณ์แรกที่ผมจำได้ และหลังจากที่ผมได้รับแนวความคิดเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ ก็เห็นแต่แม่ตากปลาแห้ง หรือถนอมอาหาร มันก็คงเป็นวิถีของการใช้พลังานแสงอาทิตย์ ตามความเหมาะสมและผมจะพูดอะไรได้ในฐานะนักสร้างสรรค์การประกาศบอกครั้งนี้ มันเลยดูเป็นความคิดที่กลับหัวกลับหางหรือตั้งคำถามในความรู้ที่มีอยู่
รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์ กับ “แสงของทุ่งดอกไม้”
ขณะที่ รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์ เจ้าของผลงาน “แสงของทุ่งดอกไม้” เผยถึงแรงบันดาลในครั้งนี้ว่าเป็นการพยายามนำผู้ชมไปสู่โลกของจินตนาการที่คู่ขนานและสัมพันธ์ไปกับโลกของความเป็นจริงด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทย แสงและรูปทรงในผลงานมาจากรูปแบบการตกแต่งแสงไฟในงานเทศกาลของไทย เช่น งานวัด งานแต่งงาน งานบวช เป็นต้น นอกจากนี้ความหมายของการนำเอาวัตถุที่อยู่ในชีวิตของประจำวันของคนไทยมาเป็นส่วนประกอบก็เพื่อที่จะนำเสนอถึงผู้คนในเมืองที่มีความหลากหลายจากแหล่งที่มา นำมาจัดวางเป็นกลุ่มรูปทรงของทุ่งดอกไม้ นอกจากจะเชื่อมโยงไปยังความสัมพันธ์ที่ผูกโยงอยู่กับความเชื่อ ประเพณีของไทยแล้ว ยังสัมพันธ์ไปถึงความเป็นชนบทและเมืองที่ทับซ้อนกันภายในรูปทรงของผลงาน
สำหรับ โครงการ “จรัส Light Fest : เทศกาลศิลปะแสงกลางแจ้ง” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “จรัส : แสงสร้างสรรค์” ที่สนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562 (กกพ.) โดยมีกำหนดจัดแสดงบริเวณลานด้านหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ และบริเวณทางเชื่อมชั้น 3 ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 นอกจากนิทรรศการนี้แล้ว ภายในโครงการจรัส : แสงสร้างสรรค์ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ห้องจรัส Lab และงานเสวนาจรัส Forum เป็นต้น