ไลฟ์สไตล์

บูลลี่ ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ ความรุนแรงที่รอวันปะทุ

บูลลี่ ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ ความรุนแรงที่รอวันปะทุ

10 ม.ค. 2563

บูลลี่ ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ ความรุนแรงที่รอวันปะทุ โดย... -พวงชมพู ประเสริฐ [email protected]  -

 

 


          พฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแกกัน หรือบูลลี่ (Bully) ของเด็กไทย ติดอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น และจากการสำรวจพบว่าเด็กกว่า 91% เคยถูกบูลลี่ ตบหัว ล้อบุพการี พูดจาเหยียดหยาม น่าห่วง 43% คิดจะตอบโต้เอาคืน ซึ่งเสี่ยงที่จะนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงขึ้น เป็นสิ่งสะท้อนว่า พฤติกรรมบูลลี่ไม่ใช่เป็นเรื่องของเด็กๆ อีกต่อไป

 

 

          ในการเสวนาหัวข้อ “BULLYING กลั่นแกล้ง ความรุนแรงที่รอวันประทุ” เพื่อหาทางออกและวิธีแก้ไขปัญหาเด็กโดนกลั่นแกล้ง หรือบูลลี่ จัดโดยเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ร่วมกับ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

 

 

 

บูลลี่ ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ ความรุนแรงที่รอวันปะทุ

อธิวัฒน์ เนียมมีศรี

 


          อธิวัฒน์ เนียมมีศรี เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “บูลลี่ กลั่นแกล้ง ความรุนแรง ในสถานศึกษา” ในกลุ่มเด็ก อายุ 10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน จำนวน 1,500 คน พบว่า 91.79% เคยถูกบูลลี่ ส่วนวิธีที่ใช้บูลลี่ คือ การตบหัว 62.07% รองลงมา ล้อบุพการี 43.57% พูดจาเหยียดหยาม 41.78% และอื่นๆ เช่น นินทา ด่าทอ ชกต่อย ล้อปมด้อย พูดเชิงให้ร้าย เสียดสี กลั่นแกล้งในสื่อออนไลน์ 


          นอกจากนี้ 1 ใน 3 หรือ 35.33% ระบุว่า เคยถูกกลั่นแกล้งประมาณเทอมละ 2 ครั้ง ที่น่าห่วงคือ 1 ใน 4 หรือ 24.86% ถูกกลั่นแกล้งมากถึงสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ส่วนคนที่แกล้งคือ เพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง นอกจากนี้ เด็กๆ 68.93% มองว่า การบูลลี่ ถือเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง และผลกระทบที่เห็นได้ชัด คือ 42.86% คิดจะโต้ตอบเอาคืน 26.33% มีความเครียด 18.2% ไม่มีสมาธิกับการเรียน 15.73% ไม่อยากไปโรงเรียน 15.6% เก็บตัว และ 13.4% ซึมเศร้า ซึ่งเด็กๆ ยังต้องการให้ทางโรงเรียนมีบทลงโทษที่ชัดเจน มีครูให้คำปรึกษา จัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจ

 

 

บูลลี่ ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ ความรุนแรงที่รอวันปะทุ



          “สังคมไทยต้องเลิกมองเรื่องบูลลี่ กลั่นแกล้งกัน เป็นเรื่องเด็กๆ ปกติธรรมดาแล้วปล่อยผ่าน ต้องให้ความสำคัญ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เร่งปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย การให้เกียรติกัน ทั้งในระดับครอบครัวและในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ก็ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาบูลลี่ กลั่นแกล้ง ควรกำหนดให้สถานศึกษามีช่องทางให้เด็กๆ สามารถบอกเล่าปัญหา เพื่อขอความช่วยเหลืออย่างเป็นมิตร และปิดลับ และหากสถานศึกษาไม่สามารถรับมือกับปัญหาและสุ่มเสี่ยงที่ปัญหาจะใหญ่ขึ้น ต้องใช้กลไกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือแก้ไข ซึ่งตรงนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีกลไกพนักงานเจ้าหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ ต้องเร่งออกแบบกระบวนการช่วยเหลือให้เป็นระบบ โดยอาจดึงองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรด้านเด็กเข้ามามีส่วนร่วม” อธิวัฒน์ กล่าว


          ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว อธิบายว่า แบบกว้างๆ บูลลี่มี 4 ประเภท คือ 1.ทางร่างกาย เช่น ตบตี ชกต่อย 2.ทางสังคมที่มีผลกระทบต่อจิตใจ คือ กดดันให้ออกจากกลุ่ม ไม่ให้อยู่ในกลุ่มเพื่อน ทำให้เกิดความเจ็บปวด 3.ทางคำพูด เช่น เยาะเย้ย ประชดประชัน เย้าแหย่ และ 4.ทางโลกออนไลน์(Cyber Bullying) ซึ่งทำให้เกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น เพราะไม่ใช่อยู่ในสังคมโรงเรียน หรือเพื่อน แต่ออกสู่วงกว้าง เกิดความเจ็บปวด อับอายมากขึ้น สิ่งที่น่ากังวลมากขึ้นในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไป ฐาณิชชา บอกว่า ทำให้รูปแบบของการบูลลี่ เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น แชร์การล้อเลียนอย่างรวดเร็ว ทำให้การถูกกลั่นแกล้งไม่ได้อยู่แค่ภายในโรงเรียน จนส่งผลให้เด็กที่ถูกบูลลี่เลือกใช้ความรุนแรง เพื่อป้องกันตนเอง

 

 

บูลลี่ ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ ความรุนแรงที่รอวันปะทุ

ฐาณิชชา ลิ้มพานิช


          ทั้งนี้ จากงานวิจัยของกรมสุขภาพจิตพบว่า การใช้ความรุนแรง การข่มเหงรังแกกันหรือการบูลลี่ในประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่าการบูลลี่ในไทยมีระดับความถี่ที่รุนแรง นอกจากนี้ยังพบว่า อายุเด็กที่ถูกบูลลี่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ จากงานวิจัยยังพบอีกว่าเด็กที่รังแกคนอื่น มีพื้นฐานด้านการขาดอำนาจบางอย่างในวัยเด็ก ถูกการเลี้ยงดูเชิงลบ รวมถึงพันธุกรรมทางสมอง จนนำไปสู่การรังแกกลั่นแกล้งคนอื่นในวัยที่โตขึ้น ซึ่งพฤติกรรมนี้จะเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นความเคยชิน ทำได้แนบเนียนและรุนแรงขึ้น ส่วนเด็กที่ถูกบูลลี่ จะมีอาการซึมเศร้า ไม่อยากไปโรงเรียน ในบางรายอาจถึงขั้นคิดสั้น


          “ผู้ปกครองอย่าปล่อยให้เด็กเผชิญปัญหาเพียงลำพัง ต้องคอยสังเกตอาการและสอบถาม เมื่อเด็กส่งสัญญาณที่ผิดปกติ เช่น ดูหงุดหงิด วิตกกังวล มีความกลัว ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากคุยกับใคร หรือมีร่องรอยตามร่างกาย ผู้ปกครองควรสร้างบรรยากาศแห่งความไว้ใจ ชวนคุยให้เขาเล่าปัญหาเพื่อช่วยหาทางออก หารือกับครูที่ปรึกษา ข้อสำคัญคือการเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้เด็กนำสิ่งเหล่านี้ไปแก้ปัญหา เลี้ยงดูเชิงบวก อาทิ ไม่เปรียบเทียบ ใช้คำพูดที่สุภาพ ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เด็กลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการบูลลี่ได้ ทั้งนี้อยากเสนอให้โรงเรียนมีมาตรการครูแนะแนวปรึกษาปัญหา เปิดพื้นที่สำหรับเด็ก กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนในโรงเรียน เมื่อเกิดเหตุให้แจ้งทันที” ฐาณิชชา กล่าว

 

 

 

บูลลี่ ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ ความรุนแรงที่รอวันปะทุ

 


          หนึ่งในผู้ที่เคยถูกบูลลี่จนทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิต จีระศักดิ์ หนูแดง หรือยอร์ค อายุ 30 ปี อดีตเยาวชนที่เคยผ่านปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และถูกบูลลี่ กลั่นแกล้ง ในสถานศึกษา เล่าว่า ในวัยเด็กช่วงอายุ 10 ขวบได้ย้ายโรงเรียนจากต่างจังหวัดเข้ามาเรียนในเมือง จึงถูกเพื่อนล้อเลียนและกลั่นแกล้งเป็นประจำ


          โดยเฉพาะสำเนียงพูดที่ออกทางปักษ์ใต้ ซึ่งสิ่งที่ทำได้คือนิ่งเฉย ไม่โต้ตอบกลับ แต่เมื่อถูกกลั่นแกล้งมากขึ้น เก็บสะสมมานานหลายเดือน ทำให้เกิดความโมโหควบคุมสติไม่อยู่จนคว้าเก้าอี้ฟาดหัวเพื่อน ซึ่งวิธีนี้ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดี แต่ก็ทำให้เพื่อนคนกลั่นแกล้งน้อยลง แต่ไม่นานก็ยังถูกกลั่นแกล้งและล้อเลียนอีก จึงทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน ออกจากโรงเรียนกลางคัน และถูกส่งไปอยู่สถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กชายบ้านห้วยโป่ง จ.ระยอง


          “จุดเปลี่ยนชีวิตได้เกิดขึ้นหลังจากที่เข้าไปอยู่ในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กชายจังหวัดระยอง สถานที่นี้ได้หล่อหลอมให้ทุกคนมีสติ เข้าใจตัวเองเข้าใจคนอื่น และมีการศึกษา การทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนเป็นประจำ ได้พูดคุยกับนักจิตวิทยา ทำให้ทุกคนสามารถแก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง เห็นคุณค่าตัวเอง จนปัจจุบันมีอาชีพเป็นบาริสต้าและนักกีฬา” จีระศักดิ์กล่าว

 

 

บูลลี่ ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ ความรุนแรงที่รอวันปะทุ

 


          จีระศักดิ์ เชื่อมั่นว่า สถาบันการศึกษาและสถาบันครอบครัว เป็น 2 สถาบันหลัก ที่ช่วยแก้ไขปัญหาระหว่างเด็กที่ถูกบูลลี่และเด็กที่บูลลี่คนอื่นได้ เช่น โรงเรียนควรมีอาจารย์แนะแนวหรือนักจิตวิทยาที่คอยให้คำปรึกษาแก่เด็กที่กำลังเผชิญปัญหาการถูกกลั่นแกล้ง หรือควรหากิจกรรมให้เด็กทั้ง 2 กลุ่มทำร่วมกันเพื่อละลายพฤติกรรม 


          ส่วนผู้ปกครองควรดูแลเอาใจใส่พูดคุยกับลูกมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงของเด็กในโรงเรียนได้ การทำให้เขารู้จักการเคารพให้เกียรติผู้อื่น ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กๆ และต้องจริงจัง


          เช่นเดียวกับ นายเอ (นามสมมุติ) อายุ 23 ปี เล่าว่า ตั้งแต่ ป.1 โดนรุ่นพี่ที่เป็นเพื่อนของพี่ชายล้อว่าเป็นตุ๊ด ด้วยเพราะรูปลักษณ์ภายนอกเราดูขาวสะอาด โดนล้อทุกวันจนเกิดความอับอาย และมีแต่เพื่อนๆถามว่าเป็นตุ๊ด แม้เราจะปฏิเสธแต่ก็ไม่มีใครเชื่อ จนช่วงหนึ่งกำลังเล่นกับเพื่อนแล้วรุ่นพี่เข้ามาผลักหัว จึงโมโหและต่อยเขากลับไป เมื่อนำเรื่องนี้ไปบอกพี่ชายก็บอกว่าให้ช่างเถอะ เมื่อไปบอกครูก็มองเป็นเรื่องตลกเป็นเรื่องเล็กน้อยทำไมต้องนำมาใส่ใจ เมื่อไปบอกแม่ก็บอกว่าไปยอมเขาทำไม เมื่อบอกพ่อ ก็บอกว่าไปยุ่งกับเขาทำไม ก็เลยรู้สึกพึ่งใครไม่ได้ กระทั่งขึ้น ป.4 รุ่นพี่คนเดิมก็ยังล้อเหมือนเดิม จึงใช้แหนบแทงเขา ตอนนั้นเป็นการใช้ความรุนแรงเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ตุ๊ด เป็นผู้ชาย


          จากที่เคยโดนกลั่นแกล้งมาก่อน ทำให้กลายเป็นคนที่ไม่ชอบเห็นใครโดนแกล้ง เมื่อเรียนอยู่ระดับปวช. เห็นรุ่นน้องโดนแกล้งจึงเข้าไปช่วยโดยแทงคู่กรณีได้รับบาดเจ็บ แต่หลุดคดีเพราะถือเป็นการพยายามป้องกันตัว จนช่วงที่คุมประพฤติได้ 8 เดือนก่อคดีอีกครั้ง เมื่อญาติโดนตบหัว จึงไปยิงคู่กรณี เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บสาหัส 1 คน จึงถูกดำเนินคดี และส่งตัวมาอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก


          “ตอนนี้ถ้ามองย้อนกลับไป เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในการใช้ศาลเตี้ยแก้ปัญหาเมื่อถูกรังแก แต่สามารถใช้กลไกอื่นๆ ได้ เช่น ถ้าถูกตบหัวก็แจ้งความฐานทำร้ายร่างกายได้ หรือถ้าอยู่ในโรงเรียนก็บอกครู แต่จะต้องทำให้ครูเข้าใจในปัญหานี้ของเด็กมากขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการเข้าไปฟื้นฟูเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน” นายเอ กล่าว

 

 

บูลลี่ ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ ความรุนแรงที่รอวันปะทุ

ทิชา ณ นคร


          ด้านทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่าปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป คนอยู่โดดเดี่ยวมากขึ้น ทำให้คนเปราะบางเมื่อถูกบูลลี่จะเกิดการตอบโต้อย่างรุนแรง รวมถึงการทำร้ายตนเอง สิ่งเหล่านี้เป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง ที่พ่อแม่ ครู คนทำงาน ต้องตีความใหม่และร่วมสร้างเครื่องมือเพื่อเปลี่ยนหนักให้เป็นเบา ช่วยหาทางออกที่ดีต่อทุกฝ่าย


          ที่บ้านกาญจนาฯ ซึ่งมีหน้าที่แก้ไขฟื้นฟูเยียวยาเยาวชน หลังจากไปก่อคดีจนมีผู้เสียหาย เครื่องมือที่ช่วยลดความรุนแรง คือการเปิดพื้นที่เรียนวิชาชีวิตอย่างจริงจัง โดยเฉพาะทุกครั้งที่มีข่าวการบูลลี่ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ทางบ้านกาญจนาฯ จะนำมาถอดบทเรียนเพื่อค้นหาที่มาที่ไป ใครได้ใครเสีย รวมถึงห่วงโซ่แห่งความเสียหาย เพื่อระดมความคิด ร่วมหาคำตอบด้วยกัน


          “หน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กที่เปราะบางเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองและครูบาอาจารย์ ควรเพิ่มพื้นที่ให้เด็กเหล่านี้มากขึ้น แต่จะดีกว่าหากการเรียนวิชาชีวิตในมิตินี้จะเริ่มที่โรงเรียนหรือช่วงต้นน้ำ ซึ่งเท่ากับเปิดงานเฝ้าระวังที่ชัดเจนตรงประเด็น แทนที่จะปล่อยให้เยาวชนก้าวพลาดและมาเรียนวิชาชีวิตในพื้นที่ปลายน้ำ ปัจจุบันมีบทเรียนการทำงานแก้ไขปัญหาเหล่านี้ที่สามารถศึกษาได้ ควรทำความเข้าใจและนำมาออกแบบกระบวนการที่เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง” ทิชากล่าว