สุดตื่นเต้น พบฝูงพะยูนแหวกว่ายกินหญ้าทะเลอาหารอันโอชะ
ถอดบทเรียน...มาเรียมกรมอุทยานระดมสำรวจ ฟื้นฟู พิทักษ์หญ้าทะเลอาหารพะยูน พบร่องรอยแหวกว่ายรุมกิน
19 มกราคม 2563 เว็ปไซด์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รายงาน "หญ้าทะเล" เป็นอาหารของพะยูน จึงต้องมีการออกสำรวจอยู่เสมอ รวมทั้งได้มีภาพการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง ที่เป็นความตั้งใจของเจ้าหน้าที่ในการพิทักษ์หญ้าทะเล
ทั้งนี้ข่าวการตายของพะยูน "มาเรียม" ยังอยู่ในความทรงจำของทุกท่าน และผลการสำรวจหญ้าทะเลเต็มไปด้วยอนูของขยะพลาสติก ที่คร่าชีวิตหนูน้อยมาเรียมให้ต้องจากพวกเราใจอย่างเศร้าใจ ถึงเวลาที่เราต้องตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และพิษภัยของขยะ ดังคำพูด "เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว" สิ่งเล็กๆ จากการทิ้งขยะในมือโดยไม่รู้เท่าทัน บัดนี้มันได้ย้อนกลับมาที่ตัวเราให้เห็นด้วยตาแล้ว
หญ้าทะเลเป็นอาหารสำคัญของพะยูน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง ออกสำรวจแหล่งหญ้าทะเลอาหารพะยูน โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ร่วมกันสำรวจสถานภาพแหล่งหญ้าทะเลและสำรวจร่องรอยการกินหญ้าทะเลของพะยูนในพื้นที่อ่าวบุญคงและอ่าวขาม อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง
จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่า แหล่งหญ้าทะเลทั้ง 2 พื้นที่ มีสถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง พบหญ้าทะเลอย่างน้อย 5 ชนิด ได้แก่ หญ้าคาทะเล หญ้าชะเงาเต่า หญ้าชะเงาสั้นใบมน หญ้าชะเงาสั้นใบหนาม และหญ้าใบมะกรูด และจากการสำรวจร่องรอยพะยูนด้วยการสุ่มวางแปลงขนาด 100 x 100 เมตร พบร่องรอยพะยูนในพื้นที่อ่าวบุญคง จำนวน 61 รอย พื้นที่อ่าวขาม จำนวน 92 รอย โดยร่องรอยการกินหญ้าทะเลของพะยูนมีความยาวเฉลี่ย 2.3 เมตร ความกว้างเฉลี่ย 14 เซนติเมตร และความลึกเฉลี่ย 1.5 เซนติเมตร โดยชนิดหญ้าทะเลที่พะยูนกินมากที่สุด ได้แก่ หญ้าใบมะกรูด และหญ้าชะเงาสั้นใบมน
อยากให้หญ้าทะเลมีความสมบูรณ์มากขึ้น เราต้องร่วมมือกันรักษาสิ่งแวดล้อม