กมลนันท์ เจียรวนนท์ พร้อมปันโอกาส สร้างสังคมไม่ทิ้งกัน
"ฟ่งและเพื่อนๆ มีความฝันว่าอยากช่วยเหลือ ให้โอกาสคนไร้สัญชาติให้ได้สัญชาติ และอยากให้เด็กกำพร้าได้กลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง"
เป็นเป้าหมายของการทำงานเพื่อสังคมเมื่อ 9 ปีที่แล้วของ “ฟ่ง” กมลนันท์ เจียรวนนท์ ลูกคนรองของ ศุภชัย เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่แม้ว่าความฝันในวันนั้นจะเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าที่เธอและเพื่อนๆ ในวัย 14 ปีจะทำได้ แต่การได้ลงมือทำอะไรหลายอย่างเท่าที่พอจะช่วยได้ในขณะนั้น ก็ทำให้ได้ค้นพบ “Passion” และ “เป้าหมาย” ชีวิตของตัวเอง
“ในปี 2557 ที่ได้ไปร่วมเวที วัน ยังก์ เวิลด์ 2014 ที่ไอร์แลนด์เป็นครั้งแรก รู้สึกประทับใจมาก ได้ไปเรียนรู้อะไรมากมาย ระหว่างการพูดคุยกันในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ฟ่งก็ได้รับข่าวว่าผู้หญิงคนหนึ่งที่ฟ่งพยายามช่วยเหลือมาหลายปีซึ่งเป็นคนไร้สัญชาติถูกจำคุก เพียงเพราะว่าเขาพยายามกลับไปหาแม่ที่พม่า ตอนนั้นเหมือนโลกสลาย ก็รู้สึกว่าเราอาจจะต้องพูดอะไรสักอย่าง หลังจากบนเวทีพูดเสร็จเขาจะให้โอกาสตั้งคำถาม เราก็ขึ้นไปถามเสียงสั่นๆ ถามหัวหน้าแต่ละองค์กรระดับโลกว่าเคสแบบนี้ เราจะทำอะไรเพื่อคนไร้สัญชาติได้บ้างไหม ซึ่งก็ไม่มีใครตอบได้เลย” สาวผู้มีความฝันในการช่วยเหลือผู้อื่นเล่าแรงบันดาลใจ
ณ จุดนั้นเองที่ทำให้เธอรู้ว่าต้องผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเห็นว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้เลยว่าคนที่ไร้สัญชาตินั้นแตกต่างจากคนทั่วไปอย่างไร ขาดโอกาสและสิทธิ์อะไร และเป็นที่มาของการใช้เวที “วัน ยังก์ เวิลด์ ซัมมิต 2015” ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทยเมื่อราว 4 ปีก่อนพูดถึงงานของเธอที่มูลนิธิเพื่อเด็กและสตรี VOICES และพูดเพื่อให้ปัญหาของคนไร้สัญชาติได้รับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องในสังคมไทยและสังคมโลกได้หันมาสนใจดูแลปัญหาของคนกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น
“ตอนนั้นกลัวมากเพราะการทำงานเรื่องแบบนี้มันอาจไม่ถูdกฎหมายเต็มร้อย อีกอย่างเราก็พยายามที่จะทำแบบเงียบๆ กลัวว่าจะมีคนมาโจมตีครอบครัวเรา แต่ก็กลับมาคิดต่อว่า ตั้งแต่แรกเราทำเรื่องนี้ทำไม แล้วเราไม่ได้พูดเพื่อตัวเอง ถ้าเราไม่พูดก็ไม่มีใครพูดเรื่องของคนไร้สัญชาติ ฟ่งเชื่อว่าเด็กที่เขาเกิดขึ้นมาเขาไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย เขาแค่เกิดมาแบบผิดกฎหมาย ไม่ควรผลักไสเขาออกไป เราต้องช่วยให้เด็กได้มีสัญชาติหรืออะไรสักอย่าง อย่างน้อยให้เขามีโอกาสได้รับบริการสาธารณสุขหรือการศึกษา เพียงแค่นั้นก็อาจจะทำให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศเราก็ได้" ฟ่ง อธิบายแนวคิด
ล่าสุดในการประชุม “วัน ยังก์ เวิลด์ ซัมมิต 2018” ที่เนเธอร์แลนด์ ก็ได้เกิดการรวมตัวของกลุ่มผู้นำเยาวชนในการดำเนินงาน “โครงการต่อต้านความรุนแรงทางเพศ” ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งกมลนันท์ก็ได้ทำหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ในการเป็นกระบอกเสียงให้แก่เด็กไร้สัญชาติในเวทีโลกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อร่วมมือกับผู้นำเยาวชนจากประเทศต่างๆ ในการเข้าไปจัดการกับปัญหาความรุนแรงเกี่ยวกับเพศทั้งในระดับพื้นที่และในระดับโลก
“ก่อนนั้นฟ่งเคยแอบคิดว่าทำไมเราต้องทำธุรกิจเยอะจัง ทำไมต้องทำธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นด้วย แต่เมื่อได้ฟังสิ่งที่ ศ.มูฮัมหมัด ยูนูส พูด ทำให้ฟ่งเปลี่ยนความคิดเรื่องครอบครัวของตัวเอง ท่านพูดว่า ในยุคของคนรุ่นใหม่เราควรเปลี่ยนความคิดจากการที่เราต้องหางานให้ตัวเอง เปลี่ยนเป็นการที่เราควรช่วยสร้างงานให้คนอื่นๆ คำพูดนี้ทำให้เรามองว่าที่ครอบครัวของเราทำธุรกิจให้มันใหญ่ขึ้นก็แปลได้ว่าเราจ้างคนให้ได้ทำงานมากขึ้น มันก็เป็นผลสะท้อนอีกแบบหนึ่ง ก็เลยทำให้หันมามองว่าการทำธุรกิจก็สามารถช่วยขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงได้ และอาจจะทำได้ยั่งยืนกว่าในสิ่งที่เราทำอยู่ด้วยซ้ำ” ประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ ในเวทีระดับโลกนี้เองทำให้ “สาวฟ่ง” เติบโตขึ้นทางความคิดและปรับเปลี่ยนเป้าหมายการทำงานไปสู่ความเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น
เจ้าตัวบอกว่า หลังจากโครงการวอยซ์สหรืองานอื่นๆ ก็อยากเห็นว่าคนไร้สัญชาติหรือเด็กกำพร้าที่ช่วยเหลือเหล่านั้นมีงานทำ เพราะเชื่อว่าพวกเขาไม่ได้อยากหรือรอให้คนมาบริจาคช่วยเหลือไปตลอดชีวิต ทุกคนอยากมีงานทำ มีรายได้ของตัวเอง แล้วก็รู้ว่าตัวเองสามารถใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนได้
ตลอดระยะเวลาในการทำงานเพื่อเด็กด้อยโอกาสของสาวคนนี้ แม้ว่าจะมีอุปสรรคต่างๆ มากมาย จนเหมือนกับว่า “ความฝัน” ของเธอและเพื่อนๆ ซึ่งเป็นฝันเดียวกันกับบรรดา “เด็กไร้สัญชาติ” ตามแนวตะเข็บชายแดนนั้นดูเหมือนจะไกลเกินเอื้อม แต่เจ้าตัวกลับไม่ท้อและพร้อมเดินหน้าต่อไปพร้อมกับว่าคำ “ไม่สำเร็จ”
“ฟ่งคิดว่างานแบบนี้มันอาจจะไม่มีวันสำเร็จได้จริงๆ เพราะเมื่อเราช่วยคนได้ ก็อาจจะมีคนอีกสิบร้อยพันหมื่นคนที่รอให้เราช่วย แล้วโลกของเราก็มีเด็กเกิดขึ้นใหม่ทุกนาที มีช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกแย่มากที่ทำไม่สำเร็จก็เริ่มท้อ สังคมก็ไม่เชื่อมั่น ในสังคมด้านกฎหมายก็ไม่สนับสนุนก็รู้สึกว่าเราอาจจะทำต่อไม่ได้ ตอนกลับมาเมืองไทยฟ่งก็ไปเลี้ยงเด็กที่บ้านพักฉุกเฉิน มีเด็กคนหนึ่งอายุขวบกว่าๆ เตาะแตะมากอดขา เหมือนเขารู้ว่าเราเป็นอะไรสักอย่าง ก็เลยรู้สึกว่าเราต้องสู้ต่อไป ไม่อย่างนั้นอนาคตของเด็กๆ กลุ่มนี้จะหายไปทันที วันนั้นเรากลับมาคิดได้ว่าเรายอมแพ้ไม่ได้ เราอาจจะไม่สำเร็จวันนี้ เราอาจจะไม่สำเร็จพรุ่งนี้ หรือว่าอีก 10 ปี แต่ว่าทุกก้าวที่เราทำ มันก็ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นไปทีละนิดๆ” สาวไซส์เล็กแต่ “หัวใจ” ไม่เล็ก เผย
ในที่สุด เธอก็ได้จับมือกับเพื่อนชื่อ สวรินทร์ ภุมรินทร์ ก่อตั้ง มูลนิธิเด็กและสตรี VOICES (Voices Foundation for Vulnerable Children) นอกจากนี้ยังได้รับความเชื่อมั่นให้นั่งตำแหน่ง “ประธานมูลนิธิ ธนินท์ เทวี เจียรวนนท์” อีกด้วย
“ฟ่งอยากเห็นสังคมของเรามีส่วนร่วมมากกว่านี้ อย่างตอนนี้เรารับรู้และเข้าใจเรื่องความเท่าเทียม เรื่องเพศทางเลือก แต่กฎหมายยังไม่ยอมรับ และอยากให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันขับเคลื่อนสังคมและกฎหมายต่างๆ ไปให้ทันกับการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลง ซึ่งตอนนี้จะไปทำงานเป็นที่ปรึกษาด้าน social sector สัก 3-4 ปี เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้หลายๆ อย่างทั้งเรื่องธุรกิจ ด้านสังคม หรือการทำงานกับภาครัฐ แล้วเมื่อเรากลับมาทำงานที่มูลนิธิ ธนินทร์ เทวี เจียรวนนท์ จะได้ทำงานเพื่อสังคมได้เต็มที่ เพราะถ้าเราจะทำให้ยั่งยืนจริงๆ เราต้องทำงานกับทุกภาคส่วน ก็เลยอยากเรียนรู้ให้มากที่สุด เพื่อที่จะกลับมาทำงานในระยะยาว เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้เกิดความยั่งยืนมากที่สุด” เรี่ยวแรงสำคัญในการผลักดันมูลนิธิเพื่อเด็กและสตรี กล่าว
ทั้งนี้ หน่อเนื้อแห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงเป้าหมายการทำงานและความฝันในอนาคตของตัวเองว่า อยากช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้ได้มีพื้นที่ชีวิตและจุดยืนในสังคมในฐานะของความเป็น “มนุษย์” คนหนึ่งเช่นเดียวกันคนอื่นๆ บนโลกใบนี้...