ไทยไขปริศนา โคโรนาพันธุ์ใหม่ ท่ามกลางข้อมูลอันจำกัดจากจีน
ไทยไขปริศนา โคโรนาพันธุ์ใหม่ ท่ามกลางข้อมูลอันจำกัดจากจีน โดย...พวงชมพู ประเสริฐ [email protected] -
ไทยนับเป็นประเทศแรกที่สามารถยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อ “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” รายแรกนอกพื้นที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดของโรค และผู้ป่วยเป็นชาวจีนเดินทางมาจากพื้นที่ดังกล่าว เบื้องหลังการเฝ้าระวัง คัดกรอง ป้องกัน จนถึงการที่สามารถยืนยันเชื้อไวรัสได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ท่ามกลางข้อมูลที่ค่อนข้างจำกัดจากจีน แต่ “ทีมไทย” ก็สามารถทำได้แม้ไม่มีตัวอย่างเชื้อจากประเทศจีนมาเทียบเคียง!!!
สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมควบคุมโรค (คร.) ได้คัดกรองพบผู้เข้าเกณฑ์สงสัยต้องเฝ้าระวังที่สนามบินสุวรรณภูมิ และนำตัวเข้ารับการรักษาที่ห้องแยกโรคความดันลบสถาบันบำราศนราดูร และตรวจเชื้อเบื้องต้นไม่พบเชื้อที่ก่อโรคระบบทางเดินหายใจ 33 ชนิดที่รู้จักมาก่อน จึงส่งตัวอย่างเชื้อให้ศูนย์ทำการตรวจ โดยระบุโจทย์ว่า “สงสัยจะเป็นโรคใหม่ในจีน ซึ่งไม่รู้โรคอะไร”
สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี
ศูนย์ดำเนินการตรวจมุ่งไปที่ไวรัส 2 ตระกูล คือ โคโรนาและอินฟลูเอนซาเนื่องจากช่วงเวลานั้นจีนยังไม่เปิดเผยว่าเป็นไวรัสตระกูลโคโรนา โดยใช้วิธีพิเศษเพราะการตรวจวิธีปกติไม่สามารถตรวจเจอเชื้อ คือเพิ่มปริมาณไวรัสแบบทั้งตระกูล (Family wide PCR) แล้วถอดรหัสพันธุกรรม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงในการตรวจต่อ 1 ตัวอย่าง 1.2 แสนบาท ก่อนนำมาเปรียบเทียบรหัสพันธุกรรมจากธนาคารรหัสพันธุกรรมโลก
ในวันที่ 9 มกราคม 2563 ไทยพบว่าเป็นเชื้อไวรัสตระกูลโคโรนา แต่ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ย่อยได้ แต่พบว่ามีความคล้ายคลึงกับเชื้อที่ก่อโรคซาร์ส เพราะไม่มีรหัสพันธุกรรมของสายพันธุ์นี้อยู่ในธนาคาร กระทั่งหลังจากไทยพบลักษณะเชื้อเช่นนี้ 2 วัน ในวันที่ 11 มกราคม 2563 ทางการจีนนำรหัสพันธุกรรรมไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พบในเมืองอู่ฮั่นใส่ในธนาคาร และระบุว่าเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้ไทยสามารถนำรหัสพันธุกรรมของไวรัสมาเทียบเคียงและพบว่าตรงกับที่ตรวจเจอจากผู้ป่วยชาวจีนในไทย
“เท่าที่มีข้อมูลตอนนี้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้ มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อที่พบในค้างคาวมากที่สุดที่ประมาณ 89% ซึ่งเป็นค้างคาวมงกุฎซึ่งพบในจีน 2 สปีชีส์ คือค้างคาวเกือกม้าของจีน (Rhinolophus sinicus) ไม่พบในไทย และค้างคาวมงกุฎยอดสั้นเล็ก (Rhinolophus thomast) พบในไทย ส่วนที่เชื้อจากค้างคาวจะอาศัยสัตว์ทะเลเป็นตัวกลางปรับเปลี่ยนสารพันธุกรรมในการมาสู่คนนั้น ค่อนข้างยาก เพราะค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การจะเป็นตัวกลางก็น่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนกันแต่ก็อยู่ที่ความสามารถของตัวเชื้อด้วย” สุภาภรณ์กล่าว
สุภาภรณ์ บอกด้วยว่า จากการที่ศูนย์ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำเนินการสำรวจไวรัสที่พบในสัตว์ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2553-2562 ใน 9 จังหวัด ได้แก่ เลย ชลบุรี ราชบุรี เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา พังงา สระแก้ว และตราด โดยส่งตรวจในห้องแล็บกว่า 42,000 ตัวอย่าง พบว่าเป็นไวรัสที่รู้จักแล้ว 402 ชนิดและไวรัสใหม่ที่ไม่รู้จัก 458 ชนิด ส่วนใหญ่พบในค้างคาวและเป็นไวรัสตระกูลโคโรนา
แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ อัลฟา (AlphaCoV) เบต้าโค เอ (BetaCov A) เบต้าโค บี (BetaCov B) เบต้าโค ซี (BetaCov C) และเบต้าโค ดี (BetaCov D) โดยกลุ่มที่สนใจเป็นพิเศษคือ เบต้าโค บี ซึ่งกลุ่มเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคซาร์สและตัวระบาดที่อู่ฮั่น ส่วนอัลฟายังไม่พบรายงานก่อโรคในคน
ขณะที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่าหายนะที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์มีส่วนหรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากเชื้อโรคโดยเฉพาะไวรัสที่ส่งผ่านมาจากสัตว์โดยตรงสู่คน หรือมีตัวกลางจากแมลง ยุง เห็บ ไร ริ้น
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ทั้งนี้เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว เริ่มเป็นที่รับทราบว่าไม่ต่ำกว่า 60-70% ของเชื้อก่อโรคในคนมีต้นตอจากสัตว์ทั้งสิ้น และมีศักยภาพในการทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ที่จะสร้างผลกระทบในวงกว้างทั้งจากการเกิดโรคระบาดและในการกระทบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากไวรัสที่สามารถผันแปรรหัสพันธุกรรม ซึ่งเอื้อต่อการตั้งตัวในสัตว์ต่างชนิดจากตระกูลแรกและเป็นหนทางสู่คนในที่สุด
การที่เชื้อจะเข้าคนได้นั้นจะต้องมีการสมยอมให้เชื้อผ่านเข้าเซลล์และเนื้อเยื่อได้ แต่แม้จะมีการสมยอมก็ตามไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิดโรคหรือมีอาการเสมอไป ทั้งนี้กระบวนการที่ก่อให้เกิดโรคจำเป็นจะต้องมีขั้นตอนหลบหลีกจากระบบป้องกันภัยของคน และเมื่อมีการตั้งตัวโดยเริ่มขยายจำนวนได้แล้วจึงจะมีกลไกในการทำร้ายเซลล์ไม่ว่าจากการกระตุ้นให้มีการอักเสบมากเกินพอเหมาะพอควร หรือเป็นกระบวนการแฝงอาศัยอยู่ในเซลล์ดูดพลังงานจนเซลล์หมดกำลัง (bioenergetic failure) อีกทั้งไม่ยอมให้ระบบกำจัดสิ่งแปลกปลอมขจัดตัวเชื้อโรคออกจากเซลล์
“ความรุนแรงหรืออาการมีได้ตั้งแต่อาการน้อยมากจนแทบไม่รู้สึกถึงรุนแรงมาก กระทั่งถึงเสียชีวิต เมื่อมีการสมยอมเกิดมีอาการแล้วอาจจะยังตัดกันไม่ขาด ยังคงหลบซอกซอนอยู่ในร่างกายตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นที่เดิม และเกิดโรคซ้ำซ้อนขึ้นมา แม้ว่าจะผ่านไปหลายเดือนจนเป็นปีก็ตาม เช่น ในโรคไข้เลือดออกอีโบลา สมองอักเสบนิปาห์ และโรคซิการ์ โดยในระหว่างที่มีการสมยอมนั้นยังมีการแพร่ให้คนอื่นได้และเป็นกระบวนการสำคัญอีกอย่างในการพัฒนาการแพร่กระจายของเชื้อโดยที่การติดต่อทางการหายใจ ถือเป็นขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพที่สุดของเชื้อโรค และเชื้ออุบัติใหม่เหล่านี้เนื่องจากคนไม่เคยสัมผัสมาก่อนดังนั้นจะไม่มีภูมิคุ้มกันเลย ทำให้โรคอาจจะมีความรุนแรงมาก” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว
นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน
นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่า ผลจากการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามมาซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มี 2 รูปแบบ คือ ภัยธรรมชาติ และโรคระบาดบางพื้นที่เกิดภัยธรรมชาติ บางพื้นที่เกิดโรคระบาดโรคติดต่อ และในบางกรณีเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะโรคระบาด จากข้อมูลพบว่าโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นกว่า 70% มาจากสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ป่าถือเป็นแหล่งเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งหากอยู่ในตัวสัตว์ป่าเองจะไม่ก่อโรคหรือแสดงอาการเจ็บป่วยออกมา แต่หากเชื้อโรคเหล่านี้ติดต่อสู่มนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงก็จะเกิดโรคและแสดงอาการเจ็บป่วยออกมา รวมถึงสามารถติดต่อสู่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้
ปัจจัยที่ทำให้เชื้อโรคจากสัตว์ป่าติดต่อสู่คน ได้แก่ 1.ถิ่นอาศัยถูกบุกรุก ทำลาย หรือรบกวน สัตว์ป่าไม่มีที่อยู่ พฤติกรรมเปลี่ยน ออกมาอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับมนุษย์ 2.ภัยธรรมชาติที่ทำลายสมดุลของสภาพแวดล้อมระหว่างคนและสัตว์ป่า ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง เช่น อุทกภัย อัคคีภัย เป็นต้น 3.อาชญากรรมสัตว์ป่า เป็นอีกปัจจัยคุกคามการอยู่รอดของมนุษยชาติที่สำคัญ เพราะสัตว์ป่าในขบวนการนี้ มักถูกจับจากธรรมชาติ ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ถูกจำกัดพื้นที่ กักขัง สัตว์จึงเกิดความเครียด เมื่อร่างกายสัตว์เกิดความเครียดภูมิคุ้มกันร่างกายจะลดลง โอกาสที่เชื้อโรคที่มีอยู่ในร่างกายจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น โอกาสที่จะแพร่กระจายเชื้อก็มีมากขึ้น 4.การบริโภคสัตว์ป่า เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ โดยเฉพาะขั้นตอนและกระบวนการประกอบอาหาร เช่น การฆ่า ผ่า ชำแหละ ซากสัตว์ป่า มีโอกาสที่สัมผัสกับสารคัดหลั่งต่างๆ ของสัตว์ป่า เช่น เลือด น้ำลาย อุจจาระ ปัสสาวะ โดยในสารคัดหลั่งเหล่านี้สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสต่างๆ ได้