ไลฟ์สไตล์

ส่งเสริมสุขภาพลำไส้ด้วยหลัก 5 อาร์

ส่งเสริมสุขภาพลำไส้ด้วยหลัก 5 อาร์

23 ก.พ. 2563

ส่งเสริมสุขภาพลำไส้ด้วยหลัก 5 อาร์ คอลัมน์...  ป้องกันดีกว่ารักษา

 

 

  

          การดูแลและส่งเสริมสุขภาพลำไส้ให้แข็งแรงในระยะยาว ต้องดูแลอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่การวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ลำไส้ไม่แข็งแรง เมื่อทราบสาเหตุแล้วก็ต้องแก้ไขปัญหาเหล่านั้น รวมถึงการส่งเสริมลำไส้ให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น ย่อยอาหารได้ดี ลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ในอนาคตค่ะ วันนี้หมอจะมาเล่าถึงการใช้หลัก 5 อาร์ เพื่อการส่งเสริมสุขภาพลำไส้ว่ามีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

 

 

          อาร์ 1 (Remove) การกำจัดปัญหา
          สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกก็คือ การกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ สารพิษ การเจริญมากผิดปกติของแบคทีเรียหรือเชื้อราที่ไม่ดีในลำไส้ บางครั้งอาจยังไม่มีการแสดงอาการ แต่การตรวจอย่างละเอียดจะช่วยให้สามารถบ่งชี้ได้ว่าควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไหน ส่วนภาวะการเจริญของเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ดีที่มากเกินไปในลำไส้อาจต้องได้รับการรักษาด้วยการสวนล้างลำไส้ใหญ่ โอโซน และ/หรือยาปฏิชีวนะ


          อาร์ 2 (Replace) การทดแทน
          สุขภาพของลำไส้ที่ไม่ดี ส่งผลให้การย่อยอาหารไม่ดี ทำให้เรารู้สึกท้องอืด แน่นท้อง ดังนั้นในขั้นต้นเราอาจต้องช่วยลำไส้เราทำงาน โดยการรับประทานเอนไซม์เพื่อช่วยย่อยอาหาร


          อาร์ 3 (Reinoculate) การปรับปรุง
          ขั้นตอนนี้เป็นการปรับปรุงและส่งเสริมลำไส้ให้แข็งแรง โดยการเติมจุลินทรีย์ที่ดีหลากหลายสายพันธุ์และอาหารของจุลินทรีย์เพื่อช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ได้ ซึ่งสามารถเติมเข้าไปในลำไส้เล็กโดยการรับประทานและทางลำไส้ใหญ่โดยการให้ทางทวารหนัก


          อาร์ 4 (Repair) การซ่อมแซม
          ขั้นตอนต่อไปก็คือเราต้องซ่อมแซมเยื่อบุผนังลำไส้ที่เสียหาย โดยการเติมสารอาหารที่ช่วยลดการอักเสบและช่วยสมานแผลในลำไส้ เช่น กรดอะมิโน อาหารเสริมต้านการอักเสบ และการรักษาระบบทางเดินอาหารด้วยเทคโนโลยีเฉพาะ เช่น การใช้เลเซอร์ และ/หรือความร้อนในระดับลึกเพื่อให้ไปออกฤทธิ์เฉพาะที่ลำไส้



          อาร์ 5 (Rebalance) การปรับสมดุล
          สุดท้ายก็คือการรักษาลำไส้ให้แข็งแรงในระยะยาว หลังจากที่มีการรักษาลำไส้แล้ว โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ปรับพฤติกรรมการนอนหลับ ลดความเครียด เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีจุลินทรีย์ที่ดีเป็นประจำ เช่น ผักหมักดอง และหลีกเลี่ยงการรับประทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เนื่องจากยาปฏิชีวนะไม่ได้มีผลทำลายแค่เชื้อก่อโรคเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อจุลินทรีย์ที่ดีด้วย
  

          การดูแลสุขภาพลำไส้ด้วยหลัก 5 อาร์ นอกจากจะช่วยให้ลำไส้แข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงในอนาคต เช่น โรคมะเร็งลำไส้ ดังนั้นอย่าลังเลที่จะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหารและตับนะคะ เพราะยิ่งตรวจพบได้เร็ว ยิ่งช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพดีค่ะ


          ***ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ.อนงนุช ชวลิตธำรรงค์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จาก Addlife Digestive & Liver Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) โทรศัพท์ 0-2677-7077 www.add-life.org Facebook: Addlife Anti-Aging Center Line: @addlife***