"พนันออนไลน์" ภัยใกล้ตัวเด็กยุคโซเชียล
"พนันออนไลน์" ภัยใกล้ตัวเด็กยุคโซเชียล คอลัมน์... อินโนสเปซ โดย.. บัซซี่บล็อก
“การพนันออนไลน์” เป็นธุรกิจที่โตสวนกระแสเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง จากรายงานฉบับล่าสุดของบริษัทวิจัย แกรนด์วิว (Grand View Research) คาดการณ์มูลค่าตลาดไว้ว่าจะสูงถึงกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี 11.5% หนึ่งในลูกค้ารุ่นใหม่กลุ่มสำคัญก็คือ นักพนันหน้าใหม่วัยใส และจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนที่เฟื่องฟูต่อเนื่องในเอเชียแปซิฟิก ส่งผลให้การเล่นพนันทางออนไลน์ กลายเป็นภัยใกล้ตัวเด็กยุคโซเชียล อย่างที่หลายฝ่ายไม่เคยคาดคิดมาก่อน
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์พนันก็ผุดเพิ่มขึ้นทุกวัน เฉพาะข้อมูลอย่างเป็นทางการของ American Gaming Association (AGA) ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ให้บริการกาสิโนเชิงพาณิชย์ในอเมริกา พบว่าเมื่อปี 2561 มีจำนวนเว็บไซต์พนันออนไลน์ที่กิจการคึกคักอยู่ราว 2,800 เว็บไซต์ ถือว่าได้เป็นตัวเลขที่น่าวิตก เพราะเว็บพนันเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนบ่อนการพนันไร้พรมแดนนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออีเวนท์ใหญ่อย่างการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 (ยูโร 2020) และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 กำลังขยับใกล้เข้ามา (กรณีที่ไม่สะดุดพิษไวรัสโคโรนา) ซึ่งคาดว่าจะมีเงินสะพัดในวงการพนันทายผลการแข่งขันจำนวนมหาศาล
ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวจากเครือข่ายองค์กรเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 6 องค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องการพนันออนไลน์ ได้เข้าพบกับผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อนำเสนอปัญหา และหารือแนวทางที่จะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนช่วยกันลดปัญหา และร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยจากการพนัน โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ ซึ่งเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่มีผลกระทบในหลายมิติ
โดยทั้ง 6 องค์กร ประกอบด้วย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมาคมไอเซคพัฒนาผู้นำนักศึกษาระหว่างประเทศ (AIESEC) เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และเครือข่ายเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา
ทั้งนี้ จากผลสำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมของเยาวชนทั่วประเทศ 4,677 คน เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาการพนันผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อปี 2562 พบว่าร้อยละ 42.38 ของเด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรการพนัน โดยมีปัจจัยชักจูงให้เข้าสู่การเล่นการพนันออนไลน์ คือ สื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ดูหนังฟังเพลง เป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงสุด ส่วนการพนันออนไลน์ยอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ ไพ่ประเภทต่างๆ เกม/สลอตแมชชีน และเล่นพนันฟุตบอล/พนันกีฬา ตามลำดับ
สอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์การเล่นพนันในสังคมไทย ปี 2562 ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 3.19 ล้านคน เล่นการพนันผ่านช่องทางออนไลน์ มีเงินหมุนเวียนสะพัดถึง 20,152 ล้านบาท โดยช่องทางหลักที่ใช้เล่นพนันออนไลน์ คือ โทรศัพท์มือถือ (ร้อยละ 97.1)
นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ทางเครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชนทั้ง 6 องค์กร ได้มีข้อเสนอต่อกระทรวงดิจิทัลฯ 4 ข้อ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน ในการป้องกันและปราบปรามปัญหาพนันออนไลน์ ประกอบด้วย 1.ขอให้กระทรวงประกาศนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชนเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อหยุดยั้งปัญหาและลดผลกระทบอย่างทันทีทันใดและยั่งยืน 2.ขอให้กระทรวงและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข พัฒนากลไกและมาตรการในการแก้ปัญหาการพนันออนไลน์อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
3.ขอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยระบุลักษณะความผิดอันเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ ให้ครอบคลุมชัดเจน และกำหนดเพิ่มบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดดังกล่าว และ 4.ขอให้พัฒนาช่องทางร้องเรียน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแจ้งเบาะแส และข้อมูลข่าวสาร หากพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการพนันออนไลน์
โดยส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ได้รับฟังจากเครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชน ทำให้ทราบด้วยว่า สาเหตุที่การพนันออนไลน์ได้รับความนิยม เนื่องจากกลุ่มธุรกิจพนันมีการพัฒนาก้าวล้ำไปกับยุคดิจิทัล นิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางโฆษณาเชิญชวนเด็กและเยาวชน ผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ ในรูปแบบต่างๆ โดยใช้บุคคลผู้มีชื่อเสียงและเน็ตไอดอล ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเยาวชน รวมถึงว่าจ้างให้เยาวชนรีวิวเว็บไซต์พนัน เพื่อแนะนำบอกต่อเชิญชวนกันเองด้วย
นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ บอกว่า กระทรวงมองการทำงานในเรื่องนี้ไว้ 3 ขั้นตอน คือ ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไข โดยในส่วนของการป้องกัน การทำงานร่วมกันหรือเครือข่าย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างความรับรู้และการตระหนักรู้ เกี่ยวกับผลกระทบและปัญหาการพนันออนไลน์ โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้เยาวชนในเรื่องการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม (Digital Literacy)
สำหรับการปราบปราม กระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้มีหน้าที่ปราบปรามโดยตรง แต่ก็มีกฎหมายซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเก็บข้อมูลเป็นหลักฐานทางกฎหมาย หรือ Digital Forensic ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บก.ปอท. ดีเอสไอ เพื่อไปดำเนินการต่อไป
ส่วนเรื่องการแก้ไข ต้องมีการบูรณาการเพื่อร่วมกันออกมาตรการในการแก้ไขปัญหา ปัจจุบันการพนันออนไลน์ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ทวิ และผู้ที่ทำการโฆษณาหรือชักชวนผู้อื่นเล่นพนัน มีความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน ตามมาตรา 12 (2) และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (แก้ไข พ.ศ. 2560) มาตรา 14 (4) และมาตรา 20 (3) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในมาตรา 20 ไม่ได้ให้อำนาจกระทรวงในเรื่องนี้ แต่ระบุให้ต้องมีหน่วยงานอื่นต้องมาแจ้งความก่อน และบทลงโทษต้องใช้กฎหมายอื่นมาประกอบ