ไลฟ์สไตล์

ปลุกกระแสสังคมไม่ทน "คนโกง"

ปลุกกระแสสังคมไม่ทน "คนโกง"

11 มี.ค. 2563

แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมุมมองที่แตกต่าง ให้ตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจ และสร้างแนวความคิดเกี่ยวกับการไม่ทนต่อการทุจริต

     ท่ามกลางกระแสสังคมเรียกร้องความรับผิดชอบต่อส่วนรวม พร้อมจี้ตรวจสอบและเอาผิดกลโกง เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ กลุ่มคนไม่ทน “โกง” โดยบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด เปิดวงเสวนาหัวข้อ #ไม่ทนคนโกง “NO MORE CORRUPTION ยิ่งเปิด ยิ่งโปร่งใส” 

ปลุกกระแสสังคมไม่ทน \"คนโกง\"

เวทีเสวนาระดมความคิด

   หวังจุดกระแสสังคมไทย พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมุมมองที่แตกต่างจากบุคคลหลากหลาย ให้ตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจ และสร้างแนวความคิดเกี่ยวกับการไม่ทนต่อการทุจริต ผ่านคมคิดของคนซึ่งมีอุดมการณ์เดียวกันอย่าง อุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (ทีดีอาร์ไอ) ศิลปินคนดัง นที เอกวิจิตร หรือ “อุ๋ย” บุดดาเบลส และ ปณิดา ยศปัญญา เจ้าของรางวัลแอนตี้-คอร์รัปชั่น อวอร์ด 2019 ที่ห้องฟังก์ชั่นรูม ชั้น 4 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก บ่ายวันก่อน

ปลุกกระแสสังคมไม่ทน \"คนโกง\"

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ 

   ในวงเสวนา ดร.สมเกียรติ เปิดประเด็นว่า จากผลการวิจัยพบว่า 7-8 ปีที่ผ่านมาคะแนนเรื่องความโปร่งใสของประเทศไทยไม่ดีขึ้น ไม่เคยเกิน 50 คะแนนจาก 100 คะแนน อย่างปีนี้ก็ตกไป 2 คะแนน ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่เคยมีการคอร์รัปชั่นมากกว่าไทยกลับมีอันดับขยับขึ้นดีกว่า อย่างเวียดนามดีขึ้น 6 คะแนน หรืออินโดนีเซียดีขึ้น 10 คะแนน คงต้องมาทบทวนกันว่าวิธีการไม่ทนคนโกงของเราควรเป็นอย่างไร ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลก็พอจะสรุปได้ 4 วิธี ได้แก่ เริ่มจากวิธี แบบตำรวจ คือไล่ตามจับ วิธีที่ 2 แบบพระ คือเทศนาปลูกจิตสำนึก วิธิที่ 3 แบบสถาปนิก คือการออกแบบระบบให้ทุจริตยาก และวิธีสุดท้าย แบบประชาชน ใช้พลังมาช่วยกันต่อต้าน

ปลุกกระแสสังคมไม่ทน \"คนโกง\"

   "การที่จะใช้วิธีแบบไหนวิธีเดียว ตามการวิจัยพบว่ามักไม่สำเร็จ ต้องใช้ทุกวิธีร่วมกัน โดยเฉพาะการใช้วิธีการออกแบบระบบลดคอร์รัปชั่นให้ดีแล้วใช้ประชาชนช่วยกันต่อสู้น่าจะได้ผลดี ในทางวิชาการมีการคิดสมการคอร์รัปชั่น โดย C (Corruption) = M+D-A ซึ่ง M (Monopoly) คือการผูกขาด หากมีการผูกขาดมากคอร์รัปชั่นก็จะมาก, D (Discretion) คืออำนาจดุลพินิจในการตัดสินใจของรัฐ ถ้าดุลพินิจเยอะคอร์รัปชั่นก็จะเยอะตาม และ A (Accountability) คือความรับผิดชอบ เรียกง่ายๆ ว่าความโปร่งใส ถ้าความโปร่งใสเยอะก็คอร์รัปชั่นได้ยาก เพราะฉะนั้นวิธีการออกแบบระบบให้ดี อำนาจผูกขาดต้องน้อย ให้มีดุลพินิจที่ไม่จำเป็นน้อยๆ และให้มีความโปร่งใสสูงที่สุดจะเป็นวิธีการที่ดีและจะช่วยให้ประชาชนเข้ามาช่วยทั้งตำรวจทั้งพระในการจัดการกับทุจริตคอร์รัปชั่น" ประธานทีดีอาร์ไอ เสนอแนะ

    ปลุกกระแสสังคมไม่ทน \"คนโกง\"

“อุ๋ย” บุดดาเบลส - ปณิดา ยศปัญญา -อุทิศ บัวศรี

    ด้านตัวแทนคนบันเทิง “อุ๋ย” บุดดาเบลส มองว่ามีสารพัดวิธีในการปราบโกง ยกตัวอย่างฮ่องกงใช้เวลานานมากในการปลูกฝังจิตสำนึกว่าการทุจริตเป็นเรื่องน่ารังเกียจคือใช้แนวทางแบบพระนั่นเอง การออกแบบระบบป้องกันคอร์รัปชั่นที่ดีจึงมีประโยชน์มาก แต่ทั้งนี้อยู่ที่คนบังคับใช้กฎหมายและคนถูกบังคับใช้กฎหมายด้วย ทว่าหลักการสำคัญจริงๆ ที่มากกว่ากฎหมายคือตัวประชาชน คงต้องย้อนกลับมาดูตัวเองด้วยว่าเราโปร่งใสแค่ไหน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้คงต้องเริ่มจากครอบครัว ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือกรณีของ “น้องแบม” ปณิดา ยศปัญญา นักศึกษาฝึกงานที่กล้าออกมาเปิดโปงการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐจนเป็นข่าวใหญ่โตให้สื่อช่วยขุดคุ้ยความจริง ลำพังเธอคนเดียวอาจไม่มีพลังมากพอแต่เพราะมีครอบครัวและสังคมช่วยสนับสนุนภารกิจนี้จึงสำเร็จ

ปลุกกระแสสังคมไม่ทน \"คนโกง\"

“ต้า” พาราด็อกซ์ ร้องเพลง “ซื่อ ซื่อ” ปราบโกง

   ท้ายที่สุดแล้วการสร้างระบบปราบโกงจะสำเร็จได้หรือไม่นั้น ดร.สมเกียรติ ชี้ว่า  คนมักเข้าใจว่าระบบที่ดีคือกฎหมายที่แรง แต่ความจริงกฎหมายที่ดีไม่ได้นำมาสู่ระบบที่ดี เพราะกฎหมายที่แรงบางครั้งเปิดช่องให้ทุจริตได้ง่าย ระบบที่ดีนั้นคือระบบที่เปิดกว้าง การทำแบบนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเลย กฎหมายที่จะแรงต้องไปแรงกับระบบราชการในการเปิดเผยข้อมูล ไม่ใช่มาชี้ว่าประชาชนไม่ร่วมมือ ไม่มีจิตสำนึก แต่เป็นหน้าที่ของราชการที่ต้องทำระบบให้ดีคือ “การเปิดเผยข้อมูล” นี่คือสิ่งเดียวที่ประเทศไทยยังไม่เคยทำกันมา เพราะฉะนั้นถ้าอยากปราบคอร์รัปชั่นให้อยู่หมัดเราต้องเริ่มทำแบบนี้ให้ได้ก่อน

ปลุกกระแสสังคมไม่ทน \"คนโกง\"

ต่าย อรทัย

ปลุกกระแสสังคมไม่ทน \"คนโกง\"

ไผ่ พงศธร

ปลุกกระแสสังคมไม่ทน \"คนโกง\"

      ปิดท้ายงานด้วยความบันเทิงจากศิลปินที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ร่วมถ่ายทอดเพลงที่มีเนื้อหารณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อจุดกระแสสังคมที่จะไม่ทนต่อการทุจริตผ่าน 4 บทเพลง ได้แก่ "ตั้งธงไม่ทนคนโกง" จาก "แอ๊ด" ยืนยง โอภากุล ฟีเจอริ่ง "เป้" วงมายด์, เพลง "เหนื่อยที่จะยอม" จาก "ต่าย อรทัย", เพลง "โอ...คนไทยเอย" ของ "ไผ่ พงศธร" และเพลง "ซื่อ ซื่อ" จากวงพาราด็อกซ์ และยังได้รับเกียรติจาก ครูสลา คุณวุฒิ นักแต่งเพลงชื่อดังมาร่วมพูดคุยถึงแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงต้านคนโกงอีกด้วย