ไลฟ์สไตล์

 คน"บ้านถิ่น"ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
ป้อนโรงงานดัง"จิม ทอมป์สัน"

คน"บ้านถิ่น"ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ป้อนโรงงานดัง"จิม ทอมป์สัน"

24 ธ.ค. 2552

อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน โดยเฉพาะคนอีสาน ที่ในอดีตการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมก็เพื่อทอผ้าไหมผ้าซิ่นสำหรับสวมใส่ และเป็นของฝากสำหรับผู้มาเยี่ยมเยือน แต่ปัจจุบันการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเปลี่ยนไป ชาวบ้านหรือเกษตรกรหันมาเลี้ยงไหมเพื่อป้อนเข้าสู่

   เช่นเดียวกับกลุ่มร่วมจิตรสานฝันหม่อนไหมบ้านถิ่น ต.บ้านถิ่น อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งหันมาเลี้ยงไหมเกือบครึ่งหมู่บ้านเพื่อป้อนให้แก่บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด ผู้ผลิต จำหน่ายผ้าไหมและเสื้อผ้าสำเร็จรูปยี่ห้อ "จิม ทอมป์สัน" ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรเลี้ยงไหมเพื่อจำหน่ายรังสดป้อนเข้าโรงงาน จะไม่นิยมสาวเป็นเส้นไหมแล้วขาย 

 วงษ์จันทร์ พลบูรณ์ อายุ 42 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมจิตรสานฝันหม่อนไหมบ้านถิ่น บอกว่า กลุ่มร่วมจิตรสานฝันหม่อนไหมบ้านถิ่น ก่อตั้งขึ้นมาประมาณ 15 ปีที่แล้ว เพื่อร่วมกันปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ภายใต้โครงการส่งเสริมการเลี้ยงไหมเพื่อผลิตรังไหมสด ของ "จิม ทอมป์สัน" ปัจจุบันมีสมาชิก 23 คน และล่าสุดได้ยื่นจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

 "วัตถุประสงค์ของการรวมกลุ่มของพวกเราค่อนข้างแตกต่างไปจากกลุ่มอื่น โดยวัตถุประสงค์หลักก็คือ เราต้องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพหลัก ทั้งนี้ เพื่อให้มีรายได้ส่งบุตรหลานได้เล่าเรียน ซึ่งถือเป็นการสานฝันให้ลูกหลานได้มีโอกาสเรียนหนังสือสูงๆ การทำนาเป็นอาชีพเสริม ส่วนการรวมกลุ่มเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากทางภาครัฐถือเป็นผลพลอยได้ ล่าสุดหลังจากจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ จ.อุดรธานี เพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมทองจำนวน 5 หมื่นบาท"

 วงษ์จันทร์บอกเล่าถึงกระบวนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมว่า สมาชิกในกลุ่มจะมีสวนหม่อนสำหรับเลี้ยงไหมเป็นของตนเอง เพื่อให้มีอาหารเพียงพอสำหรับเลี้ยงไหม โดยสมาชิกในกลุ่มจะเลี้ยงไหมพันธุ์สีเหลือง (จท 2) ซึ่งเป็นพันธุ์ไหมลูกผสมต่างประเทศกับพันธุ์ไทย โดยรับมาจาก จิม ทอมป์สัน ในการเลี้ยงแต่ละรอบ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสมาชิก รวมทั้งต้องประเมินดูว่ามีสวนหม่อนเพียงพอหรือไม่ โดยเฉลี่ยเกษตรกรจะเลี้ยงไหมประมาณ 2 กล่อง โดยใน 1 กล่อง จะมีไข่ไหมจำนวน 2.2 หมื่นตัว ในราคากล่องละ 320 บาท ซึ่งเกษตรกรจะต้องมีสวนหม่อนประมาณ 6 ไร่ เพราะตัวไหมจะกินเยอะ โดยเฉพาะในช่วงที่ไหมใกล้สุก ส่วนค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ก็ไม่มาก มีเพียงค่าปุ๋ย ปูนขาว คลอรีน และยาสำหรับโรยตัวไหม ซึ่งค่าใช้จ่ายไม่มากนัก หากสมาชิกรายใดที่เลี้ยงไหมเป็นจำนวนมาก หรือประมาณ 4 กล่อง ค่าใช้จ่ายต่อรอบเพียง 5,000 บาทเท่านั้น

 "ระยะเวลาในการเลี้ยงไหมแต่ละรอบจะใช้เวลาประมาณ 20 กว่าวันเท่านั้น ไหมก็จะเข้าฝักเป็นรังไหม จากนั้นฉันจะทำหน้าที่รวบรวมรังไหมสดจากสมาชิก เพื่อส่งไปที่ศูนย์ส่งเสริมขอนแก่น โดยเฉลี่ยจะรวบรวมได้ครั้งละ 1,500 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 140 บาท รวมแล้วในแต่ละรอบจะมีเม็ดเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท เฉลี่ยเกษตรกรจะมีรายได้จากการขายรังไหมสดรายละ 1-3 หมื่นบาท ซึ่งในระยะเวลาไม่ถึงเดือนนี้ อาชีพการเลี้ยงไหมถือว่าสร้างรายได้ให้อย่างงามแก่ชาวบ้านถิ่น"

  การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมจิตรสานฝันหม่อนไหมบ้านถิ่น นับเป็นความสำเร็จในการสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้านถิ่นแบบครบวงจร โดยการร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และตัวเกษตรกร อย่างจริงจัง

"มยุรี อัครบาล"