ไลฟ์สไตล์

สังขาร

29 ธ.ค. 2552

"พอแก่เฒ่าแล้ว สังขารก็ร่วงโรย" เรามักจะได้ยินคำพูดเช่นนี้บ่อยๆ

 คำว่า "สังขาร" นำมาใช้ในภาษาไทยในความหมายว่าร่างกาย แต่ในภาษาบาลีนั้น สังขารแปลว่าสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้น  สิ่งที่ประกอบกันขึ้น ร่างกายก็เป็นสิ่งที่ประกอบกันขึ้นในลักษณะหนึ่ง นั่นคือ การมาประชุมพร้อมกันของธาตุทั้ง ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ

 ตราบเท่าที่ธาตุทั้งสี่ยังสามัคคีมาประชุมพร้อมกัน เราก็ยังมีชีวิตอยู่ แม้บางครั้งจะมามากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งก็จะทำให้เกิดอาการไม่สบาย ปวดหัว ตัวร้อน

 ยกตัวอย่างเช่น ที่มีอาการเป็นไข้ตัวร้อน แสดงว่า ธาตุไฟมากไปนั่นเอง ทางการแพทย์ถือเป็นตัวบ่งชี้ว่า น่าจะมีอาการอักเสบในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น

 การเคารพธรรมชาติของร่างกาย คือ รักษาสมดุลในธาตุทั้งสี่ จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ

 ในทางพระถือว่า อะไรก็ตามที่เป็นสังขาร คือประกอบกันขึ้น ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ธรรมชาติ คือ กฎแห่งไตรลักษณ์ มี ทุกขัง อนิจจัง และอนัตตา 

 ทุกขัง คือ ลักษณะที่ทนอยู่เช่นนั้นไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไป
 อนิจจัง คือ อาการที่ไม่จีรัง ไม่เที่ยง
 อนัตตา คือ ไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้แน่นอน  ไม่มีตัวตนที่จะอยู่ได้ เป็นได้ ตามใจเราเลย
 เราลองมองดูรอบตัวเรา ทุกอย่างล้วนเป็นสังขาร คือประกอบขึ้นจากอะไรอื่นทั้งสิ้น เช่นนี้ ถ้าเรายังหลง ไม่รู้ธรรมะ คือธรรมชาติของสรรพสิ่ง ยังจะไปยึดเป็นมั่นเป็นเหมาะในตัวตน ทั้งตัวเราเอง และของๆ เรา เราก็ต้องมีแต่ทุกข์วันยังค่ำ เพราะเรากำลังยึดอยู่กับเงา ที่ไม่มีความจริงในตัวเอง

 พอเข้าใจเช่นนี้ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น หรืออะไรจะเกิดขึ้น เราก็จะมั่นคง ความมั่นคงนั้นมากับความเข้าใจในสภาพความจริงตามที่มันเป็นจริง มันก็เป็นเช่นนั้นแหละ

"ธัมมนันทา"