สธ.ปรับระบบบริการผู้ป่วยนอกวิถีใหม่ ปลอดภัยทั้งผู้รับและผู้ให้บริการ
สธ.ปรับระบบบริการผู้ป่วยนอกวิถีใหม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ลดแออัด คัดกรองผ่านแอปพลิเคชันก่อนมาโรงพยาบาล แยกโซนบริการตามความเสี่ยง
วันที่ 18 มิถุนายน 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าว New normal OPD กรมการแพทย์ ว่า ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้มีความจำเป็นต้องมีการปรับระบบบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ โดยเฉพาะแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) ที่มีผู้ป่วยมาใช้บริการมากที่สุด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
อ่านข่าว : ด่วน ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 6 ราย
โดยกรมการแพทย์ร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงได้พัฒนาระบบบริการผู้ป่วยนอกวิถีใหม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้มารับบริการและบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย และลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค ได้รับบริการที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับภาวะความเจ็บป่วยที่แตกต่างกันในแต่ละราย
ในส่วนความปลอดภัยลดโอกาสติดเชื้อของผู้มารับบริการและบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน จะมีการคัดกรองผู้ป่วยก่อนมาโรงพยาบาลผ่านแอปพลิเคชัน มีจุดคัดกรองที่โรงพยาบาล และจัดจุดบริการผู้ป่วยที่อาจติดเชื้อแยกจากผู้ป่วยอื่น เมื่อไปพบแพทย์ที่ห้องตรวจ
จัดสถานที่/ที่นั่งให้มีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร มีจุดล้างมือ/ แอลกอฮอล์เจล ผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ต้องสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา ทำความสะอาดจุดเสี่ยงสัมผัสต่างๆ เช่น
ลูกบิดประตู ราวจับ เก้าอี้พักคอย ปุ่มลิฟต์ เครื่องวัดความดันโลหิตด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ฉากพลาสติก ฉากอะคริลิคป้องกันขณะให้บริการ ปรับโครงสร้างและระบบไหลเวียนอากาศให้ถ่ายเทตามมาตรฐานการควบคุมโรค แยกโซนบริการตามความเสี่ยงของผู้ป่วย และใช้ระบบลดการสัมผัสต่างๆ เช่น ประตูอัตโนมัติ การจ่ายเงินผ่าน QR code เป็นต้น
สำหรับการลดความแออัดและลดระยะเวลาการรอคอย โดยจำกัดจำนวนญาติ ไม่ควรเกิน 2 คน (หากไม่จำเป็น) การลงทะเบียน/ตรวจสอบสิทธิ์/นัดเวลาตรวจ online ก่อนมาโรงพยาบาล หรือผ่าน kiosk เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแล้ว
มีระบบตรวจรักษาทางไกลสำหรับผู้ป่วยเก่าควบคุมโรคได้ดี การรับยาผ่านช่องทางด่วนในกรณีนัดที่ไม่ต้องพบแพทย์ การรับยาร้านยาใกล้บ้าน การส่งยาทางไปรษณีย์ การรับยาแบบ drive thru หรือ อสม.ส่งยาถึงบ้าน ขึ้นกับความพร้อมของแต่ละหน่วยบริการ
ขณะนี้ ดำเนินการแล้วในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ และในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ซึ่งจะมีผลในการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพิ่มความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้มารับบริการ
นายแพทย์สกานต์ บุนนาคผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวว่า สำหรับการแยกโซนบริการตามความเสี่ยง จะแบ่งเป็นคลินิกทั่วไปที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ(สีเขียว) เช่น คลินิกโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูงคลินิกที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อสูง(สีแดง) เช่น คลินิกโรคทางเดินหายใจ และคลินิกผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย(สีเหลือง) เช่น คลินิกโรคมะเร็ง คลินิกปลูกถ่ายอวัยวะ หรือผู้ป่วยรับยากดภูมิคุ้มกัน ทุกโซนจัดการตามมาตรฐานการควบคุมโรค และจัดบริการที่แตกต่างกันตามสภาวะของผู้ป่วย