
"จำปาสัก"ยึดเกษตรศาสตร์ต้นแบบพัฒนางานภาคเกษตรในส.ป.ป.ลาว
โครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยจำปาสัก ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ลาว) ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สนองพระราชดำริ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ประเทศไทยนั้น นับเป็นก้าวสำคัญของความสัมพันธ์ทางด้านการศึกษาระหว่างกันที่มุ่งมั่นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรับมือกับความเจริญก้าวหน้าในโลกยุคโลกาภิวัตน์
รศ.ดร.วุฒิชัย กบิลกาญจน์ อธิการบดีมหวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ย้อนอดีตให้ฟังว่าโครงการดังกล่าวนี้ถือเป็น 1 ใน 6 โครงการตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้กรอบความร่วมมือทางวิชาการของมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ 1.โครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยจำปาสัก ส.ป.ป.ลาว 2.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.) 3.โครงการสนับสนุนงานของมูลนิธิพระดาบส 4.โครงการผลิตพลังงานจากทรัพยากรชีวภาพตามต้นแบบที่ดำเนินการ ณ ประเทศกัมพูชา 5.โครงการพัฒนาความร่วมมือกับแขวงสะหวันนะเขต ส.ป.ป.ลาว และ 6.โครงการตามพระราชดำริและพระราชประสงค์อื่นๆ
"โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือน ส.ป.ป.ลาว เมื่อเดือนมีนาคม 2548 และได้โปรดเกล้าฯ ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนองพระราชดำริในการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยจำปาสัก ซึ่งนับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติแห่งที่ 2 ของ ส.ป.ป.ลาว"
อธิการบดี มก. เผยต่อว่า หลังจากที่มหาวิทยาลัยได้หารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องและ ดร.สีคำตาด มิตาไล (Srikhamtath Mitaray) อธิการบดีมหาวิทยาลัยจำปาสัก คนปัจจุบัน เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน และเห็นพ้องในการดำเนินโครงการความร่วมมือนี้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 50 พรรษา ในปี 2548 โดยมีศูนย์นานาชาติสิรินธรเพื่อการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงาน
"เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ทั้งสองฝ่ายมีการลงนามในเอกสารบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน โดยกำหนดกิจกรรมความร่วมมือในด้านต่างๆ ประกอบด้วยการแลกเปลี่ยนคณาจารย์และบุคลากร การแลกเปลี่ยนนิสิต การดำเนินโครงการวิจัยร่วม การแลกเปลี่ยนวัสดุทางการศึกษา สิ่งพิมพ์ เอกสารต่างๆ ตลอดจนการจัดกิจกรรมทางวิชาการร่วมกัน"
รศ.ดร.วุฒิชัย ระบุอีกว่า นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันกำหนดแผนการดำเนินงานประกอบด้วยแผนระยะสั้น ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาด้านการเรียนการสอนและการฝึกอบรมบุคลากรให้แก่มหาวิทยาลัยจำปาสัก แผนระยะกลาง จะมุ่งเน้นการพัฒนาการเรียนการสอน การแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาและบุคลากร การพัฒนาฐานข้อมูล การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและพื้นที่ ส่วนแผนระยะยาวมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาต่อ การวิจัยร่วมและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนมหาวิทยาลัยจำปาสักและทรงติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
"ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทูลเกล้าฯ ถวายวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษาเพื่อพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยจำปาสัก ประกอบด้วยตำราเรียน หุ่นจำลองเพื่อการศึกษาจากยางพารา อรรถาภิธานศัพท์เกษตรลาว ฐานข้อมูลกสิกรรมและป่าไม้ลาว แผ่นรวมเว็บเกษตรไทย ลาว แผ่นซีดีการฝึกอบรมอาชีพต่างๆ คอมพิวเตอร์ 15 ชุด พร้อมเครื่องพิมพ์ ชุดตรวจคุณภาพดิน น้ำ และปุ๋ย ตลอดจนตัวอย่างแมลงศัตรูพืช รวมมูลค่ากว่า 1.23 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้ขอถวายพันธุ์โคเนื้อ "กำแพงแสน" จำนวน 9 ตัว เพื่อพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยจำปาสักสำหรับการเรียนการสอนและการวิจัยอีกด้วย" อธิบการบดี มก. กล่าวย้ำ
นับเป็นอีกก้าวของความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยจำปาสัก ในการพัฒนาศักยภาพที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตภาคการเกษตรที่มีคุณภาพให้ตรงตามความต้องการของประเทศ ส.ป.ป.ลาวที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในเขตพื้นที่ลาวใต้ ทั้งยังเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ ด้านการวิจัย ด้านการให้บริการทางวิชาการ ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ด้านการพัฒนานิสิตนักศึกษา ด้านการบริหารจัดการและด้านการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการให้มีมาตรฐานและมีศักยภาพในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป
โครงการร่วมมือระหว่างสองมหาวิทยาลัย
ดร.สีคำตาด มิตาไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยจำปาสัก กล่าวถึงความร่วมมือทางวิชาการและการสนับสนุนการเรียนการสอนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมา มีหลายประการด้วยกัน อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้สนับสนุนการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเพื่อพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยจำปาสักในสาขาต่างๆ โดยในปี 2551 จำนวน 5 ทุน ปี 2552 จำนวน 2 ทุน
ในขณะที่มหาวิทยาลัยจำปาสักเองก็ได้ขอสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับเทคโนโลยียางพาราเพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคต เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในแขวงจำปาสัก
ประการที่สี่ มีการจัดทำโครงการเสริมสร้างเครือข่ายผู้นำนิสิตของทั้งสองมหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและแนวคิดประสบการณ์ในกิจกรรม ประการที่ห้า มีการพัฒนาความร่วมมือกับแขวงสะหวันนะเขต โดยขอให้วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติสกลนครช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีการจัดทำแผยทั้งระยะสั้นและระยะยาว และสุดท้ายการประสานงานเพื่อสนองพระราชดำริ โดยร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาในการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างใกล้ชิด
สุรัตน์ อัตตะ