ครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์ นวัตกรรมกระตุ้นสมองรักษาโรคพาร์กินสันได้
ครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์ ม.มหิดล เปิดการศึกษา การรักษา และศูนย์วิจัยกระตุ้นสมองร่วมกับฝึกกายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และโรคพาร์กินสัน เพียง 20 นาทีได้ผลดี เตรียมขยายผลบำบัดเด็กออทิสติก
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และพาร์กินสัน (Parkinson) เป็นโรคที่ทำให้เกิดความพิการและสูญเสียงบประมาณของประเทศจำนวนมหาศาล จากค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาจากตัวผู้ป่วยเอง และผู้ดูแล (Caregiver) ซึ่งคาดว่าต้องใช้งบประมาณสูงถึงล้านบาทต่อราย ตั้งแต่เริ่มเกิดโรคจนถึงเสียชีวิต
จากการศึกษาวิจัยที่คร่ำหวอดในเรื่องการใช้เครื่องกระตุ้นสมองร่วมกับการฝึกกายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และพาร์กินสัน มานานกว่า 10 ปี รองศาสตราจารย์ ดร.กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า การฝึกกายภาพบำบัดแบบเฉพาะเจาะจงเป็นเวลา 1 - 1.30 ชม.หลังจากการใช้เครื่องกระตุ้นสมองเป็นเวลา 20 นาที จะสามารถทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และพาร์กินสันสามารถช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน เช่น รับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หยิบของ ติดกระดุม หรือผูกเชือกรองเท้าได้
ปัญหาที่พบก่อนทำการรักษาด้วยการกระตุ้นสมองร่วมกับการทำกายภาพบำบัด พบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีการเดินที่ผิดปกติ และใช้มือได้ใกล้เคียงปกติเพียงไม่เกินร้อยละ 20 จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ในขณะที่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันหากมาพบนักกายภาพบำบัดในระยะแรกที่มีอาการ จะสามารถป้องกันอาการติดแข็ง ชะลอความเสื่อม และกลับมาเคลื่อนไหวได้มากขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ กล่าวต่อไปว่า นวัตกรรมดังกล่าวได้นำมาใช้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และพาร์กินสันที่ศูนย์กายภาพบำบัด และการเรียนการสอนนักศึกษาในระดับปริญญาโท-เอกของคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
"โดยเราเป็นศูนย์วิจัยแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และพาร์กินสันด้วยการกระตุ้นสมองร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และจะได้ขยายผลสร้างเป็น Innovation Platform เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังประเทศต่างๆ ได้แก่ ประเทศเนปาล กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมาร์ ตลอดจนได้มีการวางแผนจะเปิดศูนย์บริการร่วม (Excellence Center) ที่ประเทศอินโดนีเซียต่อไปในเร็วๆ นี้ " รองศาสตราจารย์ ดร.กภ.จารุกูล กล่าว
นอกจากนี้ ในอนาคตจะต่อยอดนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้บำบัดเด็กออทิสติกที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว และการร่วมรู้สึก เช่น ยิ้มให้กันเพราะมีความสุข ร้องไห้เพราะเสียใจ จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนของระบบเซลล์กระจกเงา (Mirror Neuron System) ที่มักพบว่ามีความบกพร่องในเด็กออทิสติก แล้วฝึก Social Interaction เพื่อให้เด็กออทิสติกมีการเคลื่อนไหว และแปลผลการร่วมความรู้สึกได้ดีขึ้น
“นักกายภาพบำบัดต่างจากบุคลากรทางการแพทย์ในวิชาชีพอื่น ตรงที่เรามีเชี่ยวชาญทางด้านการเคลื่อนไหว และเป็นนวัตกรโดยสายเลือด หัวใจของเรา คือ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อพลิกฟื้นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้สามารถมีการเคลื่อนไหว และกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม และที่สำคัญ คือ สามารถช่วยลดงบประมาณของประเทศที่ต้องสูญเสียในการดูแลผู้ป่วยในระยะยาวได้” รองศาสตราจารย์ ดร.กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ กล่าวทิ้งท้าย
รองศาสตราจารย์ ดร.กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ
สาธิตการใช้เครื่องกระตุ้นสมอง (ไม่ใช่ผู้ป่วยจริง)