ไลฟ์สไตล์

"ดร.ปรีดา"หัวขบวนกมธ.ศึกษาฯระดมครูทั้งแผ่นดินรื้อกฏหมาย 4 ฉบับ

"ดร.ปรีดา"หัวขบวนกมธ.ศึกษาฯระดมครูทั้งแผ่นดินรื้อกฏหมาย 4 ฉบับ

14 ส.ค. 2563

"ดร.ปรีดา"หัวขบวนกมธ.ศึกษาฯระดมครูทั้งแผ่นดินรื้อกฏหมาย 4 ฉบับ กรุยทางสู่ปฏิรูปการศึกษาไทย พร้อมตั้งข้อสังเกตุเรียนฟรีจริงหรือไม่ บริหารการจัดการศึกษารวบอำนาจหรือกระจายอำนาจ

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ดร.ปรีดา บุญเพลิง สมาชิสภาผู้แทนราษฏร แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการศึกษา สภาผู้แทนราษฏร เปิดเผย “ คมชัดลึก ” ว่า ตนในฐานะเคยเป็นครูมาก่อน เป็นกรรมาธิการการศึกษา  เป็นหัวหน้าพรรคครูไทยฯ อยากเห็นระบบการศึกษาไทยดีกว่าปัจจุบัน จึงได้เตรียมระดมแนวคิดของครูทั้งแผ่นดิน เพื่อร่วมกันหาทางออกกฏหมาย4ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาไทย

"กฏหมาย 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542และที่แก้ไขเพิ่มเติม  2.พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครุและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547  3.พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546  4.ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่19/2560 และเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ"ดร.ปรีดา กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฏร และ สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) พร้อมเครือข่าย ร่วมจัดงานสัมมนาในหัวข้อ“การปฏิวัติการศึกษาไทย ด้วยกลไกทางกฎหมาย” (เพื่อ 3สูง 1.วิชาชีพชั้นสูง 2.มาตรฐานสูง 3.คุณภาพสูง) วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม  2563 ณ หอประชุมบุณยเกตุ สนง.คุรุสภา กรุงเทพฯ โดยมี นายนพคุณ รัฐผไท ประธานกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดงานและบรรยายพิเศษ เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ

และภาคบ่าย พบกับการอภิปราย คุรสภา: สภาของครู อดีต ปัจจุบัน อนาคต โดย 1.ดร.ดิเรก พรสีมา อดีตประธานกรรมการคุรุสภา  2.ดร.ยุทธชัย อุตมา อดีตเลขาธิการคุรุสภา ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระพฤหัสบดี 3.ส.ส.ดนัย มหิพันธ์ เลขานุการกรรมาธิการการศึกษา และอดีต รองเลขาธิการ สกสค. 4.ดร.วีรบูล เสมาทอง ประธาน ส.ค.ท. ดำเนินรายการ

“กมธ.การศึกษาฯสภาผู้เทนราษฏร จะนำผลการระดมความคิดเห็นของครูทั้งแผ่นดิน สรุปเสนอรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อนำไปสู่การรื้อกฏหมายทั้ง 4 ฉบับให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดดเฉพาะต้องมาดูว่ากฏหมายกำหนดให้เรียนฟรี แต่ในทางปฏิบัติเรียนฟรีจริงหรือไม่ รวมทั้งการบริหารจัดการศึกษาเป็นรวบยอดอำนาจหรือกระจายอำนาจ เรื่องเหล่านี้ต้องมาทบทวนกัน เพื่อให้ระบบการศึกษาไทยเกิดประโยชน์กับผู้เรียนหรือเด็กที่เป็นอนาคตของชาติจริงๆ” ดร.ปรีดา กล่าวในที่สุด