นายกฯ ส.บ.ม.ท.ถามครูทั่วประเทศ ยอมได้มั๊ย ลดสถานะ "ครู"เป็นแค่"ติวเตอร์"
นายกฯ ส.บ.ม.ท.ถามครูทั่วประเทศ ยอมได้มั๊ย ลดสถานะ "ครู"เป็นแค่ "ติวเตอร์" โดย กมลทิพย์ ใบเงิน เรียบเรียง
เงียบไปนานสำหรับ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่ชาติ ฉบับใหม่ ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวผ่านเวที "เหลียวหลังแลหน้า ปฏิรูปการศึกษาไทย" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ที่โรงแรมสุโกศล กรุงเทพ โดย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : นัด ครู-ผอ.ร.ร.ทั่วประเทศแต่งดำ ค้านยุบ-เลิกเขตพื้นที่กศ.
เกี่ยวกับเรื่องนี้ "คมชัดลึก" ได้รับการเปิดเผยจาก "ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ" อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมแห่งประเทศไทย(ส.บ.ม.ท.)ว่า ตนเกาะติดเรื่องร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่ชาติ ฉบับใหม่ นี้มาตลอด เพราะเป็นเรื่องใหญ่ในการขับเคลื่อนงานการศึกษาของประเทศ เป็นเรื่องที่กระทบกับครูกว่า 7 แสนคน และนักเรียนอีกว่า 14 ล้านคน
ดร.รัชชัยย์ เผยอีกว่า ตนได้ไปประชุมงาน "เหลียวหลังแลหน้า ปฏิรูปการศึกษาไทย" ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา" ในครั้งนี้ด้วย มีรมว.ศธ. เป็นประธาน มีการเปิดโอกาสให้ถามคำถาม แต่การถามคำถามนั้นไม่เปิดโอกาสให้ถามสด ให้เขียนคำถาม online ส่งให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ถาม
"ผมได้ถาม รมว.ศธ ว่า ได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฯแล้วหรือยัง หากเสนอแล้วได้เสนอกฎหมายที่ใครร่างเข้าสู่สภา และ จะมีการประชาพิจารณ์สี่ภูมิภาคหรือไม่ รมว.ศธ ตอบสั้นๆว่า เสนอร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฯ ฉบับที่ นายแพทย์จรัสฯเป็นประธานร่าง และจะไม่มีการทำประชาพิจารณ์อีก"
ดร.รัชชัยย์ ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ผลที่จะตามมาคือ
1. ถ้ากฎหมายนี้เข้าสภาฯผมเชื่อว่าผ่านแน่นอนเพราะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจะโหวตให้ผ่าน ถ้ากฎหมายไม่ผ่าน รัฐก็จะอยู่ไม่ได้
2. แม้จะมีกฎหมายภาคประชาชนเสนอประกบเข้าไปก็ไม่แน่ใจว่าจะมีการปรับแก้ร่างกฎหมายฉบับ ที่ รมว.ศธ เสนอไปหรือไม่
3. ถ้าร่างกฎหมายที่ รมว.ศธ เสนอ เข้าสภาและผ่านมีผลบังคับใช้ จะส่งผลดังนี้
3.1 วิชาชีพครูจะเป็นวิชาชีพที่ตกต่ำที่สุดเพราะจะถูกปกครองด้วยองค์คณะบุคคลที่มิได้เป็นครู
3.2 ความเป็นวิชาชีพชั้นสูงจะหายไป เพราะร่างกฎหมายฉบับที่ รมว.ศธ เสนอเข้าไปนั้น ได้ตัดคำว่า “วิชาชีพชั้นสูง” ทิ้งไป
3.3 “ผู้อำนวยการ” จะถูกเปลี่ยนเป็น “ ครูใหญ่”
3.4 ข้าราชการครูวิทยะฐานะชำนาญการพิเศษรุ่นใหม่ที่ได้รับแต่งตั้งหลังจากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้จะได้รับเงินประจำตำแหน่งเพียง 5,600 บาท เท่านั้น ส่วนเงินวิทยะฐานะจะถูกตัดทิ้งไปเพราะไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู พวกเรารับได้หรือไม่กับ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฯ ฉบับที่ รมว.ศธ คนดี คนนี้เสนอต่อ สภาผู้แทนราษฎร ฯ ถ้ารับได้ ก็อยู่กันอย่างสงบต่อไป
และอาจเปลี่ยนบทบาทจาก “ ครู” เป็น “ติวเตอร์” แทน แต่ถ้าเห็นว่าเป็นการหมิ่นเกียรติหรือลดเกียรติข้าราชการครู (มีการลบคำว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูงออกไป) ก็ต้องพร้อมใจกันออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม อย่าให้กฎหมายนี้ผ่านสภาฯจนประกาศใช้ เพราะถ้ากฎหมายนี้มีการประกาศใช้ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกแล้วอนึ่ง มีผู้ถามว่า พ.ร.บ. การศึกษา ฯทำไมไม่ได้ออกมาใช้เสียที
"วิทยากรท่านหนึ่งที่เป็นอดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและ “ไม่เคยเป็นครู” (เป็นวิศวกร) ตอบว่า ไปติดที่ “กลุ่มผลประโยชน์ คือพวกครูและผู้อำนวยการโรงเรียน” พวกเราฟังเเล้วรู้สึกอย่างไรครับ"
นายกฯส.บ.ม.ท. กล่าวอีกว่า รมว.ศธ. อ้างว่าผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฏีกาแล้ว จะเข้าสภาฯ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง พวกเราไม่รู้เรื่องเลย เชื่อว่าครูเป็นจำนวนมากไม่ทราบสาระเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับนี้
"วิชาชีพครู เป็นวิ ชาชีพชั้นสูง หากถูกตัดออกไปพวกเรา และองค์กรครูไม่ยอมแน่ เพราะครูในกฏหมายเดิมเป็นวิชาชีพชั้นสูง มีสภาวิชาชีพควบคุมดูแล ครูรับผิดชอบชีวิตเด็กตลอด 24 ชัวโมง หรือจนกว่าเด็กกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย หากครูเป็นเพียงติวเตอร์ สอนเพียง 8 ชั่วโมงก็หมดหน้าที่" นายกฯส.บ.ม.ท. กล่าว
ดร.รัชชัยย์ กล่าวอีกว่า องค์กรครูเรียกร้องขอมีส่วนร่วมมาตลอด แต่รัฐมนตรีคนนี้ไม่ฟัง ก่อนลงประชามติครูควรมีส่วนร่วม การทำประชามติ 4 ภูมิภาคใช้เงินงบประมาณไม่มาก แต่สามารถเข้าถึงครูและตัวแทนครูทั่วประเทศ แต่ทำแบบนี้เหมือนมัดมือชกครู ไม่ให้เกียรติครู
"แต่พวกผมไม่ยอมแน่ น่าเสียดายที่รัฐบาล ส่งคนแบบนี้ ไม่จริงใจมาเป็นผู้นำปฏิรูปการศึกษา และเป็นผู้นำครู ผมถามหน่อยตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีศึกษาฯมามีผลงานอะไรที่ทำแล้วการศึกษาไทยดีขึ้น หรือมีแต่แก้ทรงผมนักเรียน เพื่อเอาใจเด็ก"
ดร.รัชชัยย์ ยังกล่าวอีกว่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศไทย สภาการศึกษาแห่งชาติที่มีแต่ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการ มีมติเห็นชอบให้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ให้ครบทุกจังหวัด แต่รัฐมนตรีศึกษาฯเพียงคนเดียวกลับไม่ลงนามเห็นชอบด้วย
"หากเป็นแบบนี้ จะมีผู้เสียหายไปยื่นฟ้องรัฐมนตรีในฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ได้ และส.บ.ม.ท. ผนึกำลังองค์กรครูทั่วประเทศ เตรียมเคลื่อนไหวในเร็วๆ นี้" นายกฯ ส.บ.ม.ท. กล่าวในที่สุด