เปิด 10 ข้อ "กลุ่มนักเรียนเลว" จะไม่ทน
เปิด 10 ข้อ "กลุ่มนักเรียนเลว" จะไม่ทน นั้น "ณัฏฐพล" แจกแจงประเด็นข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน พบว่าร้อยละ95 ข้อเรียกร้องต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับด้านคุณภาพการศึกษาทุกเรื่อง
ปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2563 กลุ่มนักเรียนเลว นัดดีเบต กับ "เดอะตั้น" นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) แต่ "เสมา1" แจกแจงผ่านสื่อว่าไม่ใช่การ “ดีเบต” เพราะมองว่าการดีเบตกัน เป็นเรื่องของคนที่เห็นต่างแล้วมาเสนอข้อมูลในด้านของตนเอง
อ่านข่าว : "ณัฏฐพล" ขึ้นเวทีดีเบต" กลุ่มนักเรียนเลว"ชุมนุม 3 ข้อเรียกร้อง 1เงื่อนไข
"แต่ในวันนี้ขอยืนยันว่ากระทรวงศึกษาธิการ.ไม่ได้เห็นต่างกับข้อเรียกร้องในการปฏิรูปการศึกษา เพียงแต่บางเรื่องต้องใช้เวลา และยินดีที่จะพูดคุยรับฟัง เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความพร้อมในการปรับตัว ให้การศึกษาไทยเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็ง"นายณัฏฐพล ระบุ
ว่ากันว่า หลายอย่างที่เห็นตรงกัน ระหว่าง"รมว.ศธ." กับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “นักเรียนเลว” นั้นพบว่าร้อยละ 95 ข้อเรียกร้องต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับด้านคุณภาพการศึกษาทุกเรื่อง อีกทั้งเป็นปมที่สะสมมายาวนาน สรุปได้ 10 ข้อพร้อมข้อเท็จจริงที่ “เสมา1” ได้แจกแจงควบคู่กัน ดังนี้
1.ทรงผมของนักเรียน
กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน ข้อ 7 โดยให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้ตัดสินใจว่านักเรียนควรไว้ผมอย่างไรจึงจะเหมาะสม แต่ให้คงความสะอาดและเรียบร้อยไว้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถแสดงเสรีภาพในการไว้ทรงผม และรักษาความสะอาด ควบคู่กันไปด้วย
2.การแต่งกายชุดนักเรียน
ขณะนี้ทั่วโลกยังมีการแต่งกายในชุดยูนิฟอร์มของนักเรียนอยู่ จึงถือเป็นเรื่องที่ยังไม่มีความจำเป็นที่จะนำเรื่องนี้มาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหา แต่ในอนาคตหากจะมีการเปลี่ยนแปลง อาจต้องมาทำความเข้าใจกันก่อน เพราะว่าการใส่ชุดนักเรียนยังมีประโยชน์อยู่ เช่น เรื่องของการรักษาความปลอดภัยให้นักเรียน
ทั้งนี้ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะให้เรียนแต่งกายตามอิสระ ขณะเดียวกันมีการทำแบบสอบถามนักเรียน พบว่านักเรียนส่วนใหญ่ยังอยากใส่ชุดนักเรียนอยู่ และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าหากไม่มีการใส่ชุดนักเรียน จะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนมากขึ้น เช่น อาจจะมีการแข่งขันแต่งตัวกันด้วย
3.ความหลากหลายทางเพศ
ขณะนี้รัฐบาลได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไปแล้ว และอยู่ในกระบวนการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมในขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเริ่มมีความเข้าใจถึงความสำคัญเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังต้องใช้เวลาสำหรับขั้นตอนต่าง ๆ ขณะที่ ศธ.ได้ยอมรับและเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในโรงเรียนเป็นอย่างดี และพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวจากทุกฝ่าย
4.การคุกคามทางเพศในโรงเรียน
ขณะนี้ ศธ. จัดตั้ง “ศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ กระทรวงศึกษาธิการ” (ศคพ.) โดยมีหน่วยงานภายในกระทรวงมาบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อดูแล คุ้มครองนักเรียนนักศึกษาที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงในโรงเรียน รวมถึงดำเนินการตามกฎหมายกับครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดที่กระทำความผิด โดยปัจจุบันมีการให้ครูออกจากราชการไปแล้ว 15 คน และมีการสืบสวนตามขั้นตอน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
5.ภาวะงานครูที่มีมากเกินไป
ศธ. รับฟังข้อเรียกร้องของนักเรียนที่พูดถึงเรื่องนี้ และจากการลงพื้นที่ ก็พบว่าปัญหาเรื่องงานเอกสารของครูมีเป็นจำนวนมาก จนไม่สามารถใช้เวลากับนักเรียนและถ่ายทอดความรู้ได้อย่างเต็มที่ โดย ศธ.พร้อมปลดล็อคภาระงานดังกล่าว รวมถึงมีแนวทางรวบรวมงานผ่าน Social Media และกระบวนการต่าง ๆ ที่ทันสมัย ซึ่งหากสามารถลดภาระของครูได้ จะทำให้ครูได้ใช้เวลากับนักเรียนมากขึ้น และเป็นประโยชน์กับนักเรียนทั่วทั้งประเทศ
6.ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ขณะนี้ ศธ.ได้จัดทำแพลตฟอร์มด้านการศึกษา DEEP (Digital Education Excellence Platform) ช่วยสร้างการเรียนรู้ที่มีหลักสูตรต่าง ๆ รองรับ เพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงได้และให้ภาคเอกชนเข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้การเรียนการสอน โดยผู้เรียนสามารถเลือกหัวข้อเรียนตามสมรรถนะที่ต้องการพัฒนาได้ ในช่วงระยะแรกของ DEEP เริ่มต้นให้การพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษและดิจิทัล ให้กับนักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา และประชาชนทั่วไป สามารถเข้ามาเรียนเพื่อการ Re-Skill เพิ่มทักษะของตัวเองได้เช่นกัน รวมถึงสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดและประเมินว่านักเรียนมีความสามารถด้านใดบ้าง
นอกจากนี้ยังมีศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลด้วยความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center : HCEC) ที่จะร่วมกับภาคเอกชนจัดตั้ง ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 185 ศูนย์ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
7.หลักสูตรภาษาต่างประเทศ
ตามที่มีการเรียกร้องให้ ศธ. สนับสนุนภาษาอังกฤษให้เป็นหนึ่งในภาษาหลักของประเทศไทย ขณะนี้ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติให้มีตำแหน่งครูต่างประเทศ ภาษาอังกฤษ 10,000 ตำแหน่ง และภาษาจีน 10,000 ตำแหน่ง แต่ขณะนี้ยังดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์โรคโควิด-19 อย่างไรก็ตามได้มีการพูดคุยกับประเทศต่าง ๆ ที่ให้ความสนใจแล้ว เพื่อดำเนินการในระยะต่อไป
8.ปรับหลักสูตรการศึกษา
ศธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทราบดีว่า หลักสูตรการศึกษามีข้อที่ต้องปรับปรุงอยู่บ้าง โดยวางแผนไว้ว่าจะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาที่เน้นสมรรถนะของผู้เรียน ซึ่งจะผลักดันให้เกิดขึ้นทั่วประเทศในปี 2565 แต่เมื่อมีข้อเรียกร้องให้มีการปรับหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทาง ศธ.ก็ยินดีจะผลักดันให้รวดเร็วขึ้นในปี 2564 เพียงแต่อาจเป็นกระบวนการที่ประเทศไทยยังไม่คุ้นเคย โดยอาศัยการนำองค์ประกอบต่าง ๆ มาผสมผสานกัน เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของประเทศไทยและของโลกยุคปัจจุบัน
9.ยกเลิกสอบO-net
ได้มีการเรียกประชุมเพื่อศึกษาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการสอบ O-NET ในปีนี้ เพราะปีนี้เป็นปีที่การศึกษาไม่เท่าเทียมกันทั้งประเทศ จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้บางโรงเรียนเปิดสอบปกติได้ แต่บางโรงเรียนต้องสลับวันหรือเวลามาเรียน ทำให้ไม่สามารถที่จะทดสอบผู้เรียนในมาตรฐานเดียวกันได้ ขณะเดียวกันในอนาคต 6-7 เดือนข้างหน้า ก็ไม่ทราบว่าจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นอีก เช่น อาจจะมีการระบาดของโรคซ้ำ จนส่งผลกระทบต่อการเปิดหรือปิดโรงเรียน ยิ่งทำให้ความพร้อมหรือความเท่าเทียมกันในการศึกษาต่างกันมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่กำลังพิจารณาถึงความจำเป็นในการสอบ O-NET ของปีนี้
10.เปิดช่องทางการแสดงความคิดเห็น
ศธ. มีช่องทางที่ทุกฝ่ายสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็น ทำแบบสอบถาม หรือรับทราบข้อมูลต่าง ๆ ของนักเรียนได้ รวมถึงเปิดช่องทางให้เข้ามาพบผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันสามารถรับทราบข้อมูลแล้ว และเห็นว่าหลายโรงเรียนมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางผ่านสภานักเรียน ถือเป็นโอกาสที่จะปฏิรูปการศึกษาจากข้อคิดเห็นของทุกคนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไป เพื่อร่วมกันผลักดันการศึกษาไทยให้ก้าวหน้าได้อย่างเข้มแข็ง