เสมา1 หนุน"อยุธยา"ยกระดับ3 ด้านขับเคลื่อนศก. ย้ำช่วยปลดล็อกอุปสรรคทุกปัญหา
เสมา1 หนุน"อยุธยา"ยกระดับ3 ด้าน "ท่องเที่ยว-เกษตรกรรม-อุตสาหกรรม"ขับเคลื่อนศก. ย้ำช่วยปลดล็อกอุปสรรคทุกปัญหา ยืนยันยกระดับด้านการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ศาลาว่าการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้มอบหมายจากนายกรัฐมนตรีดูแลรับผิดชอบในการมอบนโยบาย และติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด รวม 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดสระบุรี โดยมีนายภาณุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้การต้อนรับ ร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนระดับจังหวัดทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม
ภายหลังรับฟังการบรรยายสรุปจากผู้ว่าราชการจังหวัด นายณัฏฐพล กล่าวว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนของจังหวัด ซึ่งนับได้ว่ามีศักยภาพเป็นอย่างมาก ดังนั้นทางคณะกรรมการจังหวัดต้องมองโจทย์การดำเนินงานให้ชัดเจน หากติดขัด หรือมีปัญหาด้านใด ให้แจ้งมาเพื่อตนจะได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเพื่อทำการปลดล็อค
“พระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดที่มีเสน่ห์อย่างมาก วันนี้เราต้องเตรียมความพร้อมให้สามารถรองรับภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ผมมาวันนี้เพื่อรับฟัง และผลักดันให้ประเทศเดินหน้าให้ได้ ไม่ว่ากฎระเบียบ ข้อจำกัดด้านงบประมาณ หรือมีข้อติดขัดอะไรให้บอกผมได้ ซึ่งผมอยากให้ทุกภาคส่วนนำเสนอรายละเอียด และระบุปัญหาออกมาให้ชัดเจน” นายณัฏฐพล กล่าว
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้นำเสนอปัญหาใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านอุตสาหกรรมที่มีการผลิตบุคลากรไม่เพียงพอ หลักสูตรการเรียนการสอนไม่ตอบโจทก์ด้านอาชีพ และยังมีความเหลิ่อมล้ำทางการศึกษา ด้านเกษตรกรรม ต้องการการสนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อรองรับพื้นที่เกษตร ซึ่งมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของจังหวัด และด้านท่องเที่ยว ที่มีกฎระเบียบและข้อกฎหมายที่ซ้ำซ้อน ทำให้ไม่สามารถสร้างแรงดึงดูดด้านการท่องเที่ยว ในฐานะที่จังหวัดได้รับการคัดเลือกให้เป็นแหล่งมรดกโลก และปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ให้กับภาคธุรกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ตนจะรับเรื่องทั้งหมดมาพิจารณา หากเรื่องไหนทำไม่ได้ จะบอกทันที เรื่องใดต้องมีลำดับความสำคัญ ต้องใช้เวลา จะแจ้งให้ทราบ
“สำหรับด้านการศึกษา ผมยอมให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาไม่ได้ การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่วันนี้ ผมไม่ทราบในรายละเอียดของพื้นที่ ทุกท่านที่เสนอปัญหาต้องช่วยผม นำเสนอว่าควรจะมีโรงเรียนแม่เหล็กที่ใด หรืออาจจะมี โรงเรียนดีๆ ที่มีศักยภาพสี่มุมเมือง ก็ให้เสนอมาได้ หรือวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่มีอยู่ 9 แห่งในจังหวัด ที่ไหนจะเน้นให้ความสำคัญในการเรียนหลักสูตรเรื่องอะไร จะเป็นด้านการเกษตร การอุตสาหกรรม หรือด้านการท่องเที่ยวบริการ ต้องทำให้ชัดเจน จะทำหลักสูตรสะเปะสะปะไม่ได้ วันนี้เรากำลังพลิกประวัติศาสตร์ทางด้านการศึกษา แต่ผมจะทำไม่ได้หากทุกคนในพื้นที่และชุมชนไม่ช่วยเหลือและร่วมมือกัน”นายณัฏฐพล กล่าว