พระกริ่งของนายกฯตลกหลวง "นายควง อภัยวงศ์" นายกรัฐมนตรีผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัติย์
ชุดเปิดกรุพระเครื่องนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย พระกริ่งของนายกฯตลกหลวง "นายควง อภัยวงศ์" นายกรัฐมนตรีผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัติย์ คอลัมน์... ตามรอยตำนานแผ่นดิน โดย... เอก อัคคี
ต้องเข้าใจกันก่อนนะครับว่า นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเราในอดีตล้วนแต่เป็นผู้เคารพเสื่อมใสในพระพุทธศาสนาแทบทุกคน เชื่อมั่นในพุทธคุณด้วยกันทั้งนั้น ที่สำคัญไม่มีใครสร้างพระเครื่องหรือว่าสะสมพระเครื่องเพื่อเป็นการฟอกเงินอย่างแน่นอน แต่มุ่งจะฟอกใจชำระล้างบาปขอบารมีคุณพระคุ้มครองมากกว่า
อ่านข่าว... "นพ.ดนัย" เข้าเฝ้าในหลวง ร.10 ทูลเกล้าถวายพระพุทธรูปสำคัญ เชื่อพุทธานุภาพช่วยบ้านเมืองสงบได้
นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ ๔ ของไทย
เพราะว่าวีรกรรมของแต่ละ ฯพณฯ
กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้นี่
ต้องบอกว่า โชกโชนและโชกเลือดพอสมควร
และมีความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม แม้แต่การจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๕๗๕ ยังต้องทำพิธีเสี่ยงทายเหมือนในสมัยกรุงศรีอยุธยายังไงยังงั้น
เรื่องของเรื่องคือว่า เมื่อ คณะราษฎรประชุมวางแผนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ พวกเขาไปรวมตัวกันที่พระอุโบสถ์ วัดแคนอก เมืองนนทบุรี ก่อนที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ รัชสมัยรัชกาลที่ ๗
วันนั้นมีบันทึกว่า ก่อนวันที่ ๒๔ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร ได้นัดหมายให้ผู้ร่วมก่อการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองมาพบปะกันที่วัดแคนอกริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งตะวันออก) ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี เพื่อประกอบพิธีบวงสรวงตั้งสัตยาธิฐานและใช้พระอุโบสถเป็นสถานที่ประชุมเตรียมแผนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย
เนื่องจากทำเลที่ตั้งวัดแคนอก ตั้งอยู่ในระยะที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลทอดตัวตรง สามารถมองเห็นเกาะเกร็ดได้อย่างชัดเจน ทำให้พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนามีความคิดว่าเป็นสถานที่ที่มีลักษณะเป็นสิริมงคล อยู่ ๒ประการคือ
๑.บริเวณที่ตั้งวัดแคนอกเปรียบเสมือนเป็นส่วนหัวมังกร เกราะเกร็ดเป็นท้องมังกร หัวมังกรมีความหมายถึงสัญลักษณ์ของนักบริหาร และการบัญชาการ
๒.บริเวณที่ตั้งวัดแคนอกอยู่ในระยะที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลทอดตัวตรง มีความหมายถึงความซื่อสัตย์ เป็นสิ่งที่คณะผู้ร่วมก่อการพึงจักต้องมีต่อกันเป็นอย่างยิ่ง การทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ เรียบรอยแล้วโดยไม่เสียเลือดเสียเนื้อแต่ประการใด
หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้กลับมาสร้างหอระฆังรูปทรงดอกบัวตูมถวายเป็นพุทธบูชา และแก้เคล็ดเพราะเคยพูดไว้ว่า “เราเคยชนะคนอื่นด้วยหอกด้วยดาบ อีกไม่ช้านานหอกและดาบนั้นคงคืนสนอกแก่เรา”
หนังสือพระเครื่องชั้นนำล้วนให้การยอมรับพระกริ่งนายควงศ์
และหนึ่งในคณะผู้ก่อการสายพลเรือนก็มีนายควง อภัยวงศ์ รวมอยู่ด้วยและต่อมาก็ได้ก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกับเขาด้วย
กบ่าวสำหรับฉายา“ตลกหลวง” แห่งทำเนียบรัฐบาลไทยของนายควง อภัยวงศ์ นั้นก็ใช่ว่าจะได้มาเพราะโชคช่วย แต่เพราะเป็นผู้นำที่มีอารมณ์ขันมักจะใช้อารมณ์ขันแก้ไขสถานการณ์คับขันได้จริง
อาทิเช่น เมื่อคราวแม่ทัพญี่ปุ่นไปขอพบหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ไทยส่งกองทัพไปช่วยญี่ปุ่นรบที่พม่าและอินเดีย ฯพณฯ “ตลกหลวง” ก็ยิ้มรับตอบตกลงทันที แต่ขอให้ญี่ปุ่นช่วยหาเครื่องแบบทหารและอาวุธให้ทหารไทยด้วย โดยให้เหตุผลว่าอาวุธทหารไทยมีแต่ล้าสมัย
เจอลีลาไม้เด็ดแบบนี้เข้าไป แม่ทัพญี่ปุ่นถึงกับไปไม่เป็น เดินกลับออกจากทำเนียบรัฐบาลไทยไปแบบงงๆ เพราะไม่แน่ใจว่าส่งปืนให้แล้ว ทหารไทยจะหันปากกระบอกปืนไปที่ฝ่ายไหนกันแน่(ฮา)
และแม้นายควงจะใช้อารมณ์ขันพาตัวรอด และพาชาติรอดมาหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็โดนจี้ให้ลาออกจากนายกรัฐมนตรี โดยขุนพลของ ฯพณฯจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม อยากจะกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง เพราะหลังจากที่กลุ่มนายทหารนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ แล้วได้แต่งตั้งให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ และผลการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้งได้รับเสียงสูงสุดในสภาฯ นายควง อภัยวงศ์ ในฐานะ หัวหน้าพรรคได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อ
แต่หลังจากนั้นในวันที่ ๖เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑ กลุ่มนายทหารจำนวน๔ นาย นำโดย น.อ.กาจ กาจสงคราม แต่งเต็มยศพร้อมคาดกระบี่ที่เอว มือถือปืนเข้าพบ นายควง อภัยวงศ์ ที่บ้านพัก ไปทวงเงินจำนวน ๒๘ล้านบาท ว่าเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างเดินทางกลับจากศึกเชียงตุง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเบิกจาก กระทรวงการคลังไปล่วงหน้าแค่ ๙ ล้านบาท แต่นายควงไม่ยอมจ่าย ทำให้นายควงกับทหารกลุ่มนี้มีเรื่องเคืองใจกันมาตลอด จนสบโอกาสเมื่อ จอมพล ป.ส่งสัญญานมา นายกลุ่มนี้จึงรัฐประหารเงียบ
วันนั้น นายควงได้พยายามติดต่อกับ ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ เพื่อขอความคุ้มครองแต่ไม่เป็นผล ท้ายที่สุดกลุ่มนายทหาร ยื่นคำขาดให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายใน ๒๔ ชั่วโมง ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้ นายควงพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ ๘เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑ และปลายเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พระกริ่งสุจิตโต บัวบวรนิเวศ
เป็นการเริ่มต้นครองอำนาจของ จอมพล ป. ครั้งใหม่ที่ยาวนานถึงเกือบ 10 ปี แต่ช่วงแรกๆก็ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ในยุคนั้นคนเฒ่าคนแก่เล่าว่ามีไข่เป็ดออกมาวางขายเต็มตลาด
จนท่านอดีตนายกฯตลกหลวง นายควงยังไม่วายหยอดอารมณ์ขันว่า
“แหม....ถ้าผมรู้ว่าผมลาออก เป็ดมันถึงจะไข่ ผมลาออกเสียนานแล้ว”
อ้าว...เดี๋ยวๆแล้วมันเกี่ยวกับอะไรกับพระเครื่อง-พระกริ่ง?
เอาน่า---เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง....ลื้อใจเย็นๆ
…................
พระกริ่งนายควง ในวงการเขาเรียกว่า พระกริ่งแบบวัดบวร สูตรวัดสุทัศน์ จัดสร้างปี ๒๔๘๘ โดยนายควง อภัยวงค์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น นายควงเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ ๔ ดำรงตำแหน่ง๔ สมัย
เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก และเป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนซึ่งร่วมการปฏิวัติแปลกเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ สำหรับประวัติการสร้างพระกริ่งรุ่นนี้ คุณหมูตู้ วัตถุมงคล เล่าเอาไว้ว่า เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๘๘ นายควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีความคิดที่จะสร้างพระกริ่งขึ้นมาเพื่อให้ได้สักการะบูชากัน
จึงไปปรึกษากับเพื่อสนิทคนหนึ่งของฯพณฯ มีชื่อ นายแพทย์เจริญ ว่าต้องการจะสร้างพระกริ่งให้ประชาชนเอาไว้บูชา แต่อยากจะยึดเอาตามองค์พระกริ่งสุจิตโต หรือพระกริ่งบัวรอบ ที่จัดสร้างโดย วัดบวรนิเวศวิหาร โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ชื่น นพวงศ์) ที่พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลมอบให้นายควงมาเป็นต้นแบบ
กล่าวสำหรับ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล นั้นทรงสร้างพระกริ่งสุจิตโตเพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบ ๖ รอบ ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ชื่น นพวงศ์) โดย สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวง วชิรญาณวงศ์ เสด็จเททองหล่อพระกริ่งที่หน้าพระอุโบสถวัดบวรนิ เวศวิหาร ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๗ เวลา ๑๓.๕๑ น. จึงกล่าวได้ว่า พระกริ่งที่เททองคราวนี้จัดได้ว่าเป็นพระกริ่งรุ่นแรกของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ผู้จัดสร้างมีพระประสงค์ให้เรียกนามว่า “พระกริ่งสุจิตโต” ตามพระนามฉายาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ
เมื่อ นายแพทย์หมอเจริญเข้าใจในเจตนาอันดีงามของนายควง จึงรับเป็นธุระจัดการเรื่องการสร้างพระกริ่งรุ่นนี้ให้ กอปรกับตนเองเคยบวชอยู่วัดสุทัศน์ฯ คณะ ๘ อีกทั้งเป็นลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) ด้วยแล้วจึงได้นำเรื่องไปปรึกษากับท่านเจ้าคุณศรี(สนธิ์) ท่านก็เห็นเป็นเรื่องดีงามและสนับสนุนเตรียมการหาฤกษ์หายามซึ่งก็ได้ฤกษ์เททองอยู่ช่วงต้นปี พ.ศ.๒๔๘๘ การจัดสร้างพระกริ่งนายควงนั้นมีดังต่อไปนี้
ประการที่ ๑. ท่านเจ้าคุณศรีฯ(สนธิ์) ท่านได้ประกอบพิธีเททองหล่อและปลุกเสกที่วัดสุทัศน์ฯ โดยนิมนต์พระสงฆ์ร่วมพิธีพุทธาภิเษก๔รูป ได้แก่ พระครูธรรมกถาสุนทร (หลี), พระครูพรหมวิหาร(เข็ม),พระครูพิมลสรภาณ (วัน), พระมหาประสาร
ประการที่๒ นายควง อภัยวงศ์ นิมนต์พระคณาจารย์ ชื่อดังจากวัดต่างๆ อีก ๙ รูปร่วมพิธีปลุกเสก พิธีจัดขึ้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาล (แต่บางกระแสข่าวบอกจัดที่หน้ารัฐสภา) ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) มาเป็นองค์ประธานในพิธีพระกริ่งที่เททองหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีพุทธลักษณะแบบเดียวกับพระกริ่งบัวรอบสุจิตโตองค์ที่พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลมอบให้นายควง อภัยวงศ์มาเป็นแม่แบบ
พระกริ่งบัวรอบนายควง อภัยวงศ์
สรุปว่า พระกริ่งรุ่นนี้ มีสองพิมพ์สองวาระแต่ใช้ชื่อเดียวกัน??
แต่อย่างไรก็ดี พระกริ่งดังกล่าวทั้งสองมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่สองจุด คือ
จุดแรก พระกริ่งบัวรอบสุจิตโต ก้นเทกลวง บรรจุเม็ดกริ่งแล้วปิดก้นด้วยทองฝาบาตร ส่วนพระกริ่งบัวรอบรุ่นของนายควง ก้นเทตัน เจาะก้นด้วยสว่าน บรรจุเม็ดกริ่งแล้วปิดรูเจาะด้วยทองแดงบ้าง ทองเหลืองบ้าง บางองค์ยังไม่ได้อุดกริ่ง หรือบางองค์เทแบบกริ่งในตัว
จุดที่สอง เนื้อในของพระกริ่งบัวรอบสุจิตโต เป็นชนิดเหลืองทอง เมื่อผ่านการใช้แล้วกระแสจะออกเขียว ส่วนเนื้อในของพระกริ่งบัวรอบนายควงเป็นชนิดเหลืองนวล เมื่อผ่านการใช้แล้ว กระแสจะออกแดงนิดๆ สำหรับผิวพระของพระกริ่งสองรุ่นนี้ องค์ที่อยู่ในสภาพเดิม ผิวพระจะออกคราบน้ำตาลแก่บ้าง อ่อนบ้าง ซึ่งจะแยกไม่ออกว่า องค์ใดเป็นรุ่นไหน นอกจากจะต้องพลิกดูก้นแล้วจะแยกออกได้ทันที
กล่าวสำหรับพระกริ่งบัวรอบรุ่นนายควงมีจำนวนการสร้างนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด แต่โดยประมาณแล้ว บรรดาเซียนพระฟันธงว่า คงไม่เกิน๑,๐๐๐ องค์และหลังจากผ่านการเททอง ปลุกเสกบรรจุเม็ดกริ่งเรียบร้อยแล้ว นายควงก็ได้มอบให้คณะรัฐมนตรีไปท่านละ ๑ องค์ ที่เหลือก็ได้แจกจ่ายให้กับประชาชนไปบูชากันจนหมด
พระกริ่งนายควง รุ่นนี้เป็นพระกริ่งอีกรุ่นของวัดบวรนิเวศวิหาร (พิมพ์วัดบวร สูตรวัดสุทัศน์)ที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน ประสบการณ์มากมาย พุทธคุณเด่นด้าน เมตตามหานิยม โภคทรัพย์ แคล้วคลาดปลอดภัย มหาอำนาจบารมี ช่วยเสริมลาภยศ ตำแหน่ง ชื่อเสียงโด่งดัง ตามตำราพระกริ่งทั้งสิ้นครับ
แฮ่มมมม.....ใครอยากเป็นนายกฯ
และอยากเป็นตลกหลวงบนหอคอยงาช้าง....
น่าจะลองหามาพกพาบูชาติดตัวนะครับ!?!