ไลฟ์สไตล์

'รมว.ศธ.' เปิดใจ ควบรวมรร. 'รัฐ-เอกชน' ทิศทางเดียวกัน

'รมว.ศธ.' เปิดใจ ควบรวมรร. 'รัฐ-เอกชน' ทิศทางเดียวกัน

13 พ.ย. 2563

'รมว.ศธ.' เปิดใจ ควบรวมรร. 'รัฐ-เอกชน' ทิศทางเดียวกัน เผยสัปดาห์หน้า เตรียมมอบนโยบายให้ "ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา" ทั่วประเทศ รับทราบแนวทางความร่วมมือในการควบรวมโรงเรียน มั่นใจภาคเอกชนให้ความร่วมมือ 100%

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ได้มีการประชุมคณะทำงานโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ และโครงการสานอนาคตทางการศึกษา ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้เป็นการประชุมที่ต่อเนื่องจากครั้งก่อน ซึ่งเป็นการเสนอแนะของทางภาคเอกชน ถึงแนวทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ และมาตรการสำคัญ โดยเป็นการเชื่อมโยงและผูกกับการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อปรับแต่งทั้งสองส่วนให้ตรงกันว่าเราจะต้องร่วมกันพัฒนาไปในทิศทางไหนบ้าง

 

“ผมขอยกตัวอย่างเช่น เรื่องของระบบ School Management System ที่ได้ทำมาแล้ว เราจะต่อยอดกันอย่างไร ซึ่งแผนหรือความต้องการของกระทรวงศึกษาธิการนั้น มุ่งเน้นการต่อยอด โดยจะมีความเข้มข้นกว่าที่ทางภาคเอกชนได้ทำมา แต่ไม่ต้องเป็นการลงทุนซ้ำ เพียงนำส่วนที่ภาคเอกชนทำไปแล้วมาต่อยอด ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่เป็นการพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องบุคลากร ต้องไปตามเรื่องข้อมูลเพื่ออัพเดตให้ครบถ้วน ซึ่งอันนี้ก็ตรงกัน โดยทางกระทรวงศึกษาธิการ กำลังทำเรื่องเสนอเพื่อเข้าแผนการฟื้นฟูว่า เราต้องการบุคลากรลักษณะไหน ที่จะมาช่วยการทำงานส่วนนี้ เพราะที่ผ่านมาเรื่องระบบฐานข้อมูลของเรายังแน่นไม่พอ และวันนี้บริบทของประเทศก็เปลี่ยนไป ความต้องการก็จะมากขึ้น และต้องมีรายละเอียดที่มากขึ้นด้วย เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในอนาคตด้วย” นายณัฏฐพล กล่าว

 

นายณัฏฐพล ยังย้ำด้วยว่า สำหรับเรื่องปฐมวัย เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายๆ ท่านในที่ประชุมพูดถึง และให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก เพราะถือเป็นการวางพื้นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาระบบการศึกษาในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะในการนำสถานศึกษามาเป็นสถานที่เรียนรู้สำหรับเด็กทุกช่วงวัยด้วย

 

ต่อข้อถามที่ว่า จะมีการเพิ่มจำนวนโรงเรียนเข้าไปในโครงการนี้หรือไม่นั้น นายณัฏฐพล กล่าวว่า วันนี้ตนได้อธิบายให้ที่ประชุมรับทราบถึงแผนงานของกระทรวงศึกษาธิการ ถึงการวางแผนของแต่ละจังหวัดในการควบรวมโรงเรียนเป็นอย่างไร จากนั้นจะนำผลสำรวจมาชนกันว่าแผนที่กระทรวงศึกษาธิการจะทำในแต่ละจังหวัดนั้น จะกระทบอะไรกับโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนใน ConnextED บ้าง เพราะว่าวันนี้บริบทที่เราจะปรับเปลี่ยนระบบการศึกษานั้น กระทรวงศึกษาธิการต้องการความช่วยเหลือ หรือความร่วมมือที่เข้มข้นมากๆ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการด้วย

ขณะที่ในส่วนของครูนั้น นายณัฏฐพล กล่าวย้ำว่า อยู่ในแผนที่กระทรวงศึกษาธิการ กำลังจะยกระดับการฝึกอบรมและพัฒนาครู โดยให้มีการพัฒนาผ่านศูนย์ต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการมี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญในการปรับความสามารถของครูให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แม้ที่ผ่านมาครูจะมีการพัฒนาที่ดีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก การเรียนการสอนก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

 

สำหรับการวางแผนพัฒนาเด็กจากนี้ไปจะมีอะไรบ้างนั้น นายณัฏฐพล กล่าวว่า สุดท้ายผลสรุปก็จะกลับมาที่ต้องมีการรวมโรงเรียนให้เป็นศูนย์พัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนจะทำอย่างไร คงต้องทำภาพให้เห็นชัดภายในหนึ่งถึงสองเดือนนี้ จากนั้นจะกลับมาคุยกับภาคเอกชน และร่วมกันสนับสนุน และนำเสนอคณะรัฐมนตรี ถึงแนวทางที่จะต้องเดินแผนการรวมโรงเรียนในแต่ละจังหวัด เนื่องจากแต่ละจังหวัดจะมีบริบทเป็นของตัวเองในการที่จะขับเคลื่อน ขณะเดียวกัน ต้องสร้างฐานทรัพยากรเยาวชน เพื่อตอบโจทย์ของแต่ละจังหวัดให้ได้ โดยจะทำให้เด็กไม่ต้องเคลื่อนเข้ามาเรียนในโรงเรียนดีประจำจังหวัด หรือเคลื่อนเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ โดยกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการสร้างโรงเรียนคุณภาพกระจายไปให้มากที่สุด โดยที่การกระจายนั้นต้องเป็นแบบไม่ไร้ทิศทาง

 

“ผมคิดว่าภาคเอกชนส่วนใหญ่ เขาเข้าใจในแนวทาง และเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมตรงนี้ โดยภาคเอกชนเอง เขาก็พร้อมที่จะมีส่วนร่วม เพราะวันนี้งบประมาณที่เอกชนให้มารวมถึงภาครัฐด้วย ผมมั่นใจว่าเราสามารถทำให้สถานศึกษาของไทยจากนี้ไป มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม” นายณัฏฐพล ย้ำ

 

นายณัฏฐพล ยังบอกต่อว่า สำหรับความร่วมมือกับภาคเอกชนนั้น เขาต้องการขอให้เห็นภาพความชัดเจนในการควบรวมโรงเรียน เนื่องจากประเด็นดังกล่าวมีผลกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชน ยกตัวอย่างเช่น มีโรงเรียนที่อยู่ใน ConnextED หลังจากที่ตนได้ลงไปดูความพร้อมในการที่จะควบรวมแล้วกระทบแน่นอน เพราะจากแผนคงต้องมีการควบรวมโรงเรียนที่อยู่ใน ConnextED ด้วย ดังนั้นภาคเอกชนอาจจะเปลี่ยนแผนการลงทุนไป

 

สำหรับเรื่องของความร่วมมือนั้น นายณัฏฐพล เชื่อว่า ความร่วมมือภาคเอกชนมีความมั่นใจเต็มร้อย เพราะขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ กำลังเดินไปในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว และยืนยันมีความเข้มข้นกว่าเดิม

 

ส่วนภาคเอกชนมีความกังวลไหม นายณัฏฐพล ยอมรับว่า ภาคเอกชนมีความกังวล เรื่องการวางแผนสำหรับจังหวัด จะมีผลกระทบกับชุมชน ผู้บริหาร ครู และมีความเป็นห่วงว่าจะมีผลกระทบสะท้อนออกมาในทางลบ

 

“แต่สำหรับผมไม่กังวลเรื่องเหล่านี้ เพราะผมคิดว่าแผนของเรา แนวทางนโยบายผมมีความชัดเจนที่จะยกระดับการศึกษาไทย ถ้าหากภาคเอกชนเห็นความตั้งใจตรงนี้แล้ว เขาก็จะเห็นด้วยกับแนวทางตรงนี้ ซึ่งต้องช่วยกันในการที่จะเป็นกระบอกเสียงว่าเรื่องนี้ มีความจำเป็น เพราะวันนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ต้องการพลิกประวัติศาสตร์การศึกษาไทย กระทรวงศึกษาธิการจะทำแบบเดิมไม่ได้ เราทำช้าไม่ได้ เราต้องทำและให้เห็นภาพชัด ส่วนความสนใจที่จะทำมากขนาดไหน ต้องขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี ซึ่งรอรับเรื่องจากกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ซึ่งผมก็ได้พูดคุยกับภาคเอกชนถึงแนวทางแล้ว และผมก็วางแผนให้เห็นแล้ว” นายณัฏฐพล กล่าว

 

ส่วนการยกระดับเป็นโรงเรียนนานาชาตินั้น นายณัฏฐพล บอกว่า ตนมองเป็นการยกระดับคุณภาพของโรงเรียนสังกัด สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ที่จะสามารถแข่งขันหรือมีความรู้ในบริบทที่เหมาะสม ส่วนที่จะเป็นนานาชาติหรือไม่เป็นนานาชาติ ตนคิดว่าเรื่องของภาษาเป็นเรื่องที่ทุกโรงเรียนในประเทศไทย ควรต้องให้ความใส่ใจอยู่แล้ว ซึ่งงบประมาณก็ต้องมี ส่วนรูปแบบที่จะให้เหมือนโรงเรียนนานาชาตินั้น จะเป็นเรื่องของหลักสูตรที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน ส่วนจะไปใกล้เคียงขนาดไหนในเรื่องของการใช้เวลา ก็คงต้องปรับกันอีกที ซึ่งฝ่ายวิชาการกำลังดำเนินการอยู่

 

ทังนี้ ทางคณะรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติเรื่องครูภาษาอังกฤษ และครูภาษาจีน มาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการยังยึดเป้าหมายตรงนั้น โดยหวังว่าถ้าโควิด-19 มีความชัดเจนในเรื่องของการแก้ไขปัญหา เชื่อว่าจะมีการขับเคลื่อนเพื่อนำเอาบุคลากรเข้ามาช่วยเสริมครูที่เป็นเอกภาษาอังกฤษที่สอนอยู่ในปัจจุบัน ได้ เพราะเราต้องใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ มาใช้เพื่อการสื่อสาร โดยในวันนี้นักเรียนแม้มีการเรียนรู้เรื่องภาษา ซึ่งยอมรับว่าเด็กไทยมีความสามารถ แต่เป็นความสามารถเพื่อการสอบโดยยังไม่ได้นำมาใช้เพื่อการสื่อสาร

 

นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ยังย้ำด้วยว่า ภายในสัปดาห์หน้า ตนจะอธิบายให้แต่ละจังหวัดรับทราบถึงแนวทางในการร่วมมือระหว่างศึกษาธิการจังหวัดเขตพื้นที่ ถึงแนวนโยบาย และตัวอย่างที่ตนจะนำเสนอภาพให้เห็นถึงการควบรวมโรงเรียนเป็นอย่างไร โดยแผนงานนี้ จะมีผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงศึกษาธิการ เข้าไปร่วมทำงานด้วยกับทุกๆ จังหวัด โดยมีผู้บริหารสูงสุดของแต่ละแท่งเป็นคณะกรรมการคุมอีกชั้นหนึ่ง

 

“อันนี้ทางผมสามารถให้ข้อมูลได้ว่า ระดับชั้นในการทำงานเป็นอย่างไร เพื่อให้รับทราบนโยบายตรง วางแผนได้ตามนโยบายและรวดเร็ว บุคคลที่จะมีข้อมูลมากที่สุด และก็มีความรู้มากที่สุดในการทำแผนงานได้ตามนโยบาย ก็คือ ศึกษาธิการจังหวัดและเขตพื้นที่ โดยทั้งสองส่วนนี้ต้องร่วมมือกัน ผสมผสานกับทีมงานที่จะลงไปกำชับเรื่องนโยบาย เพื่อไม่ให้หลุดเป้าหมายที่ได้นำเสนอไปในแนวทางเดียวกันทั่วทั้งประเทศ ซึ่งการระบุว่า เป็นแนวทางเดียวกันทั้งประเทศนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกจังหวัดต้องเหมือนกัน เพราะบริบทในแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยในแนวทางการจะใช้งบประมาณในอนาคต ต้องมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” นายณัฏฐพล กล่าว

 

นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ยังมีการพูดคุยกันถึงมาตรฐานของโรงเรียนที่จำเป็นต้องมี แต่มีขนาดไหนนั้น โดยต้องรอให้แผนเรียบร้อยและนำมาผสมผสานคู่ขนานกัน ซึ่งสัปดาห์หน้าเวลาจะให้นโยบายนั้น จะบอกถึง พื้นที่เป้าหมาย โรงเรียนเป้าหมาย ซึ่งจะต้องมีเผื่ออะไรไว้บ้าง เพื่อจะได้สรรหาโรงเรียนที่มีความเหมาะสม ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับมาตรฐานของโรงเรียนหรือโครงการต่างๆ และคงต้องปรับเปลี่ยนการประเมิน ปรับเปลี่ยนวิธีการบันทึกข้อมูลต่างๆ เพื่อลดภาระของครูซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากภาระของครู เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถผลักดันการเรียนการสอนได้เต็มที่ ซึ่งต้องอยู่ในเรื่องมาตรฐานด้วย