สถานีวิทยุม.ก.จับมือสมาคมคนตาบอดฯจัดทำหลักสูตรต้นแบบนำร่องโรงเรียนทางอากาศเพื่อคุณภาพชีวิตคนพิการ
สถานีวิทยุม.ก.จับมือสมาคมคนตาบอดฯจัดทำหลักสูตรต้นแบบนำร่องโรงเรียนทางอากาศเพื่อคุณภาพชีวิตคนพิการ
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เวลา 14.00 น. นายอนุสันต์ เทียนทอง รองประธานกรรมการมูลนิธิบ้านบางแคและที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสถานีวิทยุกรายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(สถานีวิทยุม.ก.) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ(MOU) ระหว่าง ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุ ม.ก. กับ นายเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ณ ชั้น 4 ห้องประชุม 401 สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ดินแดง
โดยในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ ภายใต้ “โครงการต้นแบบนำร่องโรงเรียนทางอากาศเพื่อคุณภาพชีวิตคนพิการ” ผ่านช่องทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและสื่อดิจิทัลของเครือข่ายสถานีวิทยุ ม.ก.ทั้ง 4 ภูมิภาคในทุกแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้เพื่อให้คนพิการสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ได้ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเอง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ข้อมูลข่าวสาร บริการสื่อสาธารณะ เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
นายอนุสันต์ เทียนทอง รองประธานกรรมการมูลนิธิบ้านบางแค
นายอนุสันต์ เทียนทอง รองประธานกรรมการมูลนิธิบ้านบางแคและที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(สถานีวิทยุม.ก.) กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีลงนามครั้งนี้ว่าจากการคาดประมาณขององค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า ในประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายจะมีจำนวนผู้พิการทางการเห็นอยู่ราวร้อยละ 1 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ประเทศไทยจึงน่าจะมีผู้พิการทางการเห็นไม่น้อยกว่า 680,000 คน และจากประมาณการของมูลนิธิคนตาบอดไทยและสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย คาดว่ามีคนตาบอดไม่ถึงร้อยละ 20 ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่งได้
ปรึกษา คกก.สถานีวิทยุม.ก. กล่าวต่อว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร (ICT) และสื่อโซเชียล ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวก รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้แก่คนในสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งก็รวมถึงการสร้างประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ให้แก่ผู้พิการทางสายตา และ ผู้พิการทุกประเภทที่ขาดโอกาส และความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลที่มีอยู่รอบตัวในปัจจุบัน และกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความรู้ ความสามารถมีศักยภาพที่จะพัฒนาสังคมและประเทศ ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนได้เช่นกัน
“หากแต่ต้องมีการส่งเสริมสนับสนุนในด้านความสะดวก และเครื่องมือหรืออุปกรณ์เฉพาะทาง ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูล การใช้สื่อโซเชียล การผลิตสื่อ และความรู้ด้าน ICT สำหรับคนพิการทุกประเภทได้อย่างทั่วถึง”
นายอนุสันต์ ย้ำด้วยว่าความร่วมมือนี้ จึงมั่นใจว่าจะนำไปสู่การพัฒนา การส่งเสริม และสร้างให้คนพิการ ที่ยังขาดโอกาสในสังคมได้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่คนพิการได้อย่างมากมาย และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่ได้อุทิศตนด้วยความทุ่มเทแรงกาย อุทิศแรงใจ ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ และร่วมกันที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองในที่สุด เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สู่ความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุ ม.ก.
ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุ ม.ก. กล่าวว่าสถานีวิทยุม.ก.ได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญแก่คนพิการ และผู้สูงอายุมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการก้าวย่างที่มั่นคง โดยการนำไม้เท้าค้ำยัน รถ Whellchair และเตียงลม ไปมอบให้กับคนพิการและผู้สูงอายุที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ตามชุมชนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการความรับผิดชอบต่อสังคมตั้งแต่ ปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน
และในปี พ.ศ.2563 นี้ เพื่อให้การดำเนินงานการช่วยเหลือคนพิการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สถานีวิทยุ ม.ก. จึงร่วมกับ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการต้นแบบนำร่องโรงเรียนทางอากาศเพื่อคนพิการ” โดยการผลิตสื่อเสียงเพื่อการเรียนรู้ออกอากาศตามผังรายการหลักของสถานีฯ โดยถ่ายทอดผ่านสัญญาณเครือข่ายของสถานี ด้วยระบบ เอ.เอ็ม.สเตอริโอ ทั้ง 4 ภูมิภาคและสื่อดิจิทัลในทุกแพลตฟอร์ม โดยสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย จะร่วมส่งเสริมสนับสนุนการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อคนพิการ และประชาชนทั่วไป
“เพื่อให้คนพิการสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ได้ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเอง สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก และปรับตัวอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข โดยสถานีวิทยุ ม.ก.ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเสมือนห้องเรียน ที่มีการเรียนการสอนแบบทางไกลสู่ผู้ฟัง” ผศ.อนุพรกล่าวย้ำ
นายเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
ด้านนายเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยกล่าวว่าสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยเป็นองค์การระดับชาติที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2510 ตลอดระยะเวลา 53 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯได้ดำเนินการงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมาอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้เกิดบทบาทและนโยบายสาธารณะด้านสวัสดิการ อย่างเช่นพ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ การแก้ไขพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ให้มีคำสั่งดัดแปลงสิ่งต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์แก่คนพิการเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมาย เป็นต้น
นอกจากนี้ได้มีการส่งเสริมด้านการประกอบอาชีพสำหรับคนพิการ โดยเฉพาะคนตาบอดเช่น การส่งเสริมให้คนตาบอดสามารถค้าสลากฯได้ การฝึกอบรมสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนตาบอดและการให้บริการนวดแผนไทยกับคนทั่วประเทศที่ปัจจุบันมีมากกว่า 1 หมื่นคน การส่งเสริมให้มีการรับรองนักดนตรีคนตาบอด การส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมคนตาบอดผ่านโครงการปักจิตปักใจ เป็นต้น
“ผมเชื่อมั่นว่าโครงการต้นแบบนำร่องโรงเรียนทางอากาศสำหรับผู้พิการทางสายตาจะทำให้คนพิการเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น ไม่ว่าเนื้อหาการประกอบอาชีพ เรื่องของสุขภาวะ เรื่องของการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นจะมีการอบรมให้คนพิการสามารถผลิตเรื่องราวและเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ ทางสถานีวิทยุม.ก.ทำให้คนพิการต่อไปไม่เป็นเพียงแค่ผู้รับเท่านั้น แต่จะเป็นผู้สร้างสื่อ ผู้ผลิตสื่อและเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและทัศนคติในทางบวกให้กับคนในสังคมและคนพิการด้วย”นายเอกกมลกล่าว
นางสาววันดี สันติวุฒิเมธ ผู้จัดการหลักสูตรฝึกอบรมโครงการต้นแบบนำร่องโรงเรียนทางอากาศสำหรับผู้พิการทางสายตา สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยกล่าวว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาถ้าสังเกตุดูเรื่องราวของคนพิการในสังคมไทยจะผลิตโดยคนที่ไม่พิการ เหตุผลหนึ่งคือการเข้าถึงองค์ความรู้การผลิตสื่อสำหรับคนพิการนั้นมีน้อยมากในสังคมไทย และโอกาสที่คนพิการจะได้เรียนการผลิตสื่อและผลิตเรื่องราวของตัวเองออกมาจึงมีน้อย เพราะฉะนั้นโครงการต้นแบบนำร่องโรงเรียนทางอากาศสำหรับผู้พิการทางสายตาเป็นการสร้างความร่วมมือกันในระดับสถาบันวิชาการที่จะสร้างองค์ความรู้ให้กับกลุ่มผู้พิการในการผลิตเรื่องเราวของตัวเอง
“สิ่งที่สังคมไทยจะได้รับจากการความร่วมมือในครั้งนี้ก็คือการเปิดมิติใหม่ให้กับสังคมไทยในการรับรู้เรื่องราวคนพิการและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสองหน่วยงานได้เห็นความสำคัญของคนพิการในการร่วมมือกันครั้งนี้” นางสาววันดีย้ำทิ้งท้าย